KTB-KBANK-SCB บวกเด่น! ลุ้นมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล้าน
จับตามาตรการแก้หนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล้านบาทหนุนแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นกลุ่มแบงก์สดใส เหตุช่วยลดภาระหนี้-เพิ่มความสามารถชำระหนี้-ลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เพิ่มสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์หนุนปล่อยสินเชื่อใหม่ ชู KTB , KBANK , SCB เข้าตา
เรื่องของ "หนี้ครัวเรือน" ที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง หากไม่รีบแก้ไขหรือตัดทิ้งอาจก่อให้เกิดเนื้อร้ายจนลุกลามบานปลายในที่สุด นี่คือสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเร่งแก้ เพื่อให้ "ลูกหนี้อยู่ได้ เจ้าหนี้อยู่รอด"
กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และสถาบันการเงิน ร่วมตกผลึกความคิดเร่งออก "มาตรการแก้หนี้" ในส่วนของหนี้บ้าน, รถ และเอสเอ็มอี ในหลายรูปแบบ ทั้ง มาตรการหนี้เสียสินเชื่อบ้าน ช่วง 3 ปีที่เข้าโครงการสามารถชำระค่างวดแบบเต็มจำนวนเดิม หรือ ผ่อนครึ่งหนึ่ง โดยเงินที่ชำระจะตัดเงินต้น 100%
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่พักชำระหนี้เป็นเวลา 3 ปี ทางกลุ่มสถาบันการเงินจะได้รับชดเชยด้วยการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ลงครึ่งหนึ่งเหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี เพื่อนำเงินนี้มาช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนทำให้ผู้ที่ชำระหนี้สามารถจ่ายชำระเงินต้น
กลุ่มลูกหนี้ที่เข้าข่าย จำนวน 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 1.31 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
กลุ่มหนี้บ้าน ลูกหนี้ที่เข้าข่าย 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.8 แสนล้านบาท
กลุ่มหนี้รถยนต์ ลูกหนี้เข้าข่าย 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้รวม 3.7 แสนล้านบาท
กลุ่มหนี้เอสเอ็มอี ลูกหนี้เข้าข่าย 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้รวม 4.54 แสนล้านบาท
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส คาดการแถลงออกมาตรการแก้หนี้ 11 ธ.ค.นี้หนุนแรงซื้อเก็งกำไรกลุ่มธนาคาร ซึ่งมาตรการนี้จะครอบคลุมหนี้บ้าน, รถยนต์, และเอสเอ็มอีจะช่วยลดภาระหนี้และเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้รวมถึงการพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และการลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งการลดอัตราเงินนำส่งนี้จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์และส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อใหม่ส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร KTB , KBANK , TTB , TISCO , KKP
โดย KTB จุดเด่นในงวดนี้อยู่ที่งบดุลทำได้ดีกว่ากลุ่มฯจากระดับ NPL ลดลง และ COVERAGE RATIO ขยับมาที่ 179% เทียบกับ 176% ณ สิ้นงวดก่อน ด้านทิศทางกำไรสุทธิในไตรมาส 4/67 อ่อนตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าเพราะ OPEX ตามฤดูกาล แต่โตเด่นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากฐานกำไร 6.1 พันล้านบาทงวดไตรมาส 4/66 ประเมินราคาเหมาะสม อยู่ที่ 23.40 บาท
ขณะที่ KKP สัญญาณทาเทคนิคเน้นตั้งรับบริเวณ 50.75 - 51 บาท เป้าทำกำไร 53.50 บาท Cut Loss 50.25 บาท
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) มีมุมมองเป็นบวกเล็กน้อยต่อประเด็นดังกล่าว โดยมาตรการแก้หนี้รอบใหญ่ที่คาดว่าจะมีข้อสรุปวันที่ 11 ธ.ค.2567นี้เป็นการแก้หนี้โดยที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบให้กับผลดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร ในมุมของลูกหนี้จะได้รับแรงจูงใจให้กับมาชำระหนี้มากขึ้น โดยการลดค่าเงินต้นลง 50% และจะได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยหากมีการชำระเงินตามกำหนด
ส่วนในมุมของธนาคารมาตรการดังกล่าวจะจำกัดที่หนี้เสียที่อายุไม่เกิน 1 ปี ทำให้กรอบการช่วยเหลือค่อนข้างจำกัด อีกทั้งลูกหนี้ดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้ Stage 2 หรือ Stage 3 ทำให้เป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีการตั้งสำรองไว้แล้ว หากลูกหนี้กลับมาชำระเงินจะช่วยให้ปริมาณหนี้เสียและการตั้งสำรองของกลุ่มลดลง อย่างไรก็ดีคาดรายได้ดอกเบี้ยรับจะปรับลงจากการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าว แต่จะถูกชดเชยด้วยการขอลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF
ฝ่ายวิเคราะห์คงน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” แม้จะมีผลกระทบจากรายได้ดอกเบี้ยที่ต่ำลงตามแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย และการให้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่คาดกำไรรวมของกลุ่มยังมีปัจจัยหนุนจากการตั้งสำรองที่จะทยอยลดลง ส่วนหุ้น Top Pick แนะนำ SCB ราคาเป้าหมาย 130 บาท และ KBANK ราคาเป้าหมาย 175 บาท
KBANK ฟื้นจากฐานต่ำ
ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุว่า สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ คาดหวังความต่อเนื่องจากการออกทยอยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐฯเพิ่มเติมช่วงสัปดาห์นี้ โดยมีมาตรการสำคัญสุดที่คาดบวกโดยตรงต่อกลุ่มธนาคารการแก้หนี้ครัวเรือน 1.3 ล้านล้านบาท ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และ SMEs ซึ่ง KBANK มียอดสินเชื่อดังกล่าว 50% ของสินเชื่อรวม
โดยฝ่ายวิเคราะห์มองกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4/2567 หุ้น KBANK มีโอกาสอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าตามผลกระทบฤดูกาล ซึ่งช่วงปลายปีกลุ่มธนาคารมักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม KBANK ยังน่าจะเห็นการฟื้นตัวจากปีก่อนสูงจากฐานต่ำ แต่โดยรวมปี 2567 มองกำไรเติบโต 16.7% และเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปี 2568 ซื้อขาย PBV25F ที่ 0.6-0.7 เท่า ให้ราคาเป้าหมาย 180 บาท มองแนวรับ 154 / 152.5 บาท แนวต้าน 156.5 / 159 บาท Stop Loss หากต่ำกว่า 151 บาท
ราคาหุ้น KTB ซื้อขายวันนี้(9 ธันวาคม 2567) ล่าสุด เวลา 14.41 น. อยู่ที่ 21.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.70 บาท คิดเป็น +3.38% มูลค่าการซื้อขาย 1,349.98 ล้านบาท
หุ้น KBANK อยู่ที่ 157 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท คิดเป็น +0.64% มูลค่าการซื้อขาย 1,623.56 ล้านบาท
หุ้น SCB อยู่ที่ 118.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท คิดเป็น +0.42% มูลค่าการซื้อขาย 618.12 ล้านบาท
หุ้น TISCO อยู่ที่ 97 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท คิดเป็น +0.26% มูลค่าการซื้อขาย 180.24 ล้านบาท
หุ้น TTB อยู่ที่ 1.83 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
หุ้น BBL อยู่ที่ 152 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
หุ้น KKP อยู่ที่ 51.50 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง