posttoday

"ก.ล.ต." ถก "แบงก์ชาติ" ผุด "บาทสเตเบิ้ลคอยน์" แก้กฎหมายเสร็จไตรมาส 2/68

12 ธันวาคม 2567

จะเกิดอะไรขึ้น! หากประเทศไทยใช้ “บาทสเตเบิ้ลคอยน์” ตลาดทุนเดินหน้าขับเคลื่อน ก.ล.ต. เร่งหารือ “แบงก์ชาติ” แก้กฎหมายภายในไตรมาส 2/2568 หวังลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพ ประเดิมออก “หุ้นกู้ดิจิทัล” เสริมสภาพคล่อง

     นางสาวจอมขวัญ คงสกุล รองเล​ขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาระบบนิเวศหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ (Digital Securities Ecosystem) ของตลาดทุนไทย ปัจจุบัน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างแก้กฎหมายและออกประกาศกฎหมายลูกขึ้นมารองรับ คาดแล้วเสร็จภายในไม่เกินไตรมาส 2/2568 

     ก.ล.ต. เตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาให้สามารถนำ “บาทแบ็คสเตเบิ้ลคอยน์” (Baht-backed Stablecoin) ไปใช้ในระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงพัฒนาระบบบล็อกเชนกลางที่จะเชื่อมต่อระบบนิเวศหลักทรัพย์ดิจิทัลทั้งระบบให้ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ได้ด้วย ก.ล.ต.ต้องหารือทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และสถาบันการเงิน (แบงก์) เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนและพัฒนาร่วมกันต่อไป เพื่อนำเทคโนโลยี มาใช้สนับสนุน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพตลาดทุนไทย

     การแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เพื่อสนับสนุนการออกหลักทรัพย์ดิจิทัลนั้นสามารถทำได้ทุกหลักทรัพย์ ทั้ง หุ้นและตราสารหนี้ แต่คาดว่าน่าจะเริ่มนำมาใช้ในการออก “หุ้นกู้” ก่อน ทั้งรูปแบบ Twin ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้แบบดั้งเดิมควบคู่กับการออกหุ้นกู้ดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง และให้นักลงทุนรายย่อยมีโอกาสในการลงทุนมากขึ้น และเมื่อผู้ประกอบการ มีความพร้อมและผู้ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปสู่การซื้อขายหุันกู้ดิจิทัลมากขึ้นที่เป็น Native ตั้งแต่เริ่มต้นและมีโอกาสที่จะนำไปใช้ในหลักทรัพย์อื่นๆเช่นหุ้นด้วยเช่นกัน

“เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในตลาดทุนไทย มองว่า คงไม่ใช่เป็นการดิสรัปตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย ต้องเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างประโยชน์ต่อผู้ร่วมตลาดและประชาชนในยุคดิจิทัล สอดรับกับกระแสด้านความยั่งยืน รวมถึงเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ประชาชน”

     สำหรับ Digitalization Securities Ecosystem ตามแนวคิดของ ก.ล.ต. ดังนี้

     1. กระบวนการดิจิทัล 100% end-to-end process และ ช่วยให้ระดมทุนและลงทุนได้รวดเร็ว ลดต้นทุน โปร่งใส

     2. ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ลงทุนพัฒนาระบบตนเองได้ เอื้อการแข่งขันเพื่อสร้าง บริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ

     3. กำหนดมาตรฐานแลกเปลี่ยนข้อมูลข้ามเครือข่ายเชื่อมโยงระบบหลากหลายเข้าด้วยกัน

     4. ผลักดัน Shared Services และโครงสร้างพื้นฐานกลาง เพื่อลดต้นทุนพัฒนาระบบผู้ประกอบการรายเล็ก

     5. เข้าถึงผลิตภัณฑ์ / บริการตลาดทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้ตราสาร illiquid หรือมี มูลค่าสูง (high price barrier)

     เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2567ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต.มีมติเห็นชอบ โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2568-2570 อยู่ภายใต้กรอบและกระบวนการที่พิจารณาครอบคลุมปัจจัยต่างๆในทุกมิติสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้การกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ควบคู่กับการรักษาสมดุลทั้งด้านการกำกับดูแลและด้านการพัฒนาตลาดทุนไทยในทุกมิติ

     สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มุ่งเน้นในการบรรลุเป้าหมายหลัก 4 ด้าน ดังนี้

     1. “ตลาดทุนมีความน่าเชื่อถือ” (Trust & Confidence)

     2. “ตลาดทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Technology)

     3. “ตลาดทุนเป็นกลไกไปสู่ความยั่งยืน” (Sustainable Capital Market)

     4. “ผู้ลงทุนมีสุขภาพทางการเงินที่ดี” (Financial well-being)

     ทั้งนี้ ก.ล.ต. กำหนดให้มีแผนองค์กรซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการดำเนินงานตามพันธกิจของ ก.ล.ต. (SEC Excellence) เพื่อผลักดันภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้