posttoday

แบงก์ได้หรือเสีย มาตรการแก้หนี้ 1.9 ล้านราย-เปิด 5 วัน ลงทะเบียน 2 แสนบัญชี

17 ธันวาคม 2567

แบงก์ได้หรือเสีย มาตรการแก้หนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย ยอดหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท ล่าสุด เปิด 5 วัน ลงทะเบียนเฉียด 2 แสนบัญชี

KEY

POINTS

  • แบงก์ได้หรือเสีย มาตรการแก้หนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย”
  • เปิด 5 วัน ลงทะเบียนเฉียด 2 แสนบัญชี
  • 5 ขั้นตอนลดทะเบียนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เปิดถึง 28 ก.พ.68
     

หลังจากมาตรการแก้หนี้ โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ได้มีการเปิดให้ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ลงทะเบียนเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2567 ผ่านทางเว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 

ล่าสุด ธปท.ให้ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค.2567 มีลูกหนี้ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการดังกล่าวแล้วเกือบ 2 แสนบัญชี จากจำนวนลูกหนี้คาดว่าจะอยู่ในเงื่อนไน รวม 2.1 ล้านบัญชี เป็นลูกหนี้ 1.9 ล้านราย และมียอดหนี้รวมประมาณ 8.9 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนอาจมีคุณสมบัติไม่ตรงตามเงื่อนไขของมาตรการทั้งหมด โดยจะต้องสถาบันการเงินพิจารณาคุณสมบัติตามเงื่อนไขของมาตรการ และสถาบันการเงินจะเริ่มติดต่อกลับตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.2568 เป็นต้นไป

ผลดี-เสีย โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ต่อกลุ่มแบงก์ 

“ธนเดช รังษีธนานนท์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ส่งผลต่อ 5 กุล่ม ประกอบด้วย 1.ลูกหนี้ ที่เข้าร่วมโครงการและปฏิบัติได้ตามข้อกำหนด มีฐานะการเงินที่ดีขึ้น สภาพคล่องสูงขึ้น ปลดหนี้เร็วขึ้น และจะกลับมาขอสินเชื่อใหม่ได้ตามปกติหลังผ่านไป 1 ปี

2.สถาบันการเงิน คุณภาพสินเชื่อดีขึ้น และภาระสำรองหนี้ฯ ลดลง ทำให้กล้าจะปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น แต่ในช่วง 3 ปีแรก รายได้ดอกเบี้ยรับปรับลดลง สินเชื่อลดลงจากการชำระคืนหนี้กระทบความสามารถการทำกำไร อย่างไรก็ตาม ผลกระทบส่วนหนึ่งจะถูกชดเชยจากการลดเงินนำส่งค่าธรรมเนียม FIDF

3.หน่วยงานภาครัฐ รับค่าธรรมเนียม FIDF ลดลง ทำให้การชดใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ลดลง แต่จะช่วยให้คุณภาพลูกหนี้ดีขึ้น

4.เศรษฐกิจ ใน 3 ปีแรก ลูกหนี้บางส่วนนำเงินมาชำระหนี้ตามเงื่อนไข ทำให้การใช้จ่ายลดลง แต่ลูกหนี้บางส่วนที่จ่ายค่างวดลดลงจะมีสภาพคล่องดีขึ้น ทำให้การใช้จ่ายดีขึ้น ส่งผลให้อาจสรุปยากว่าจะกระตุ้นการบริโภคที่ชัดเจนในระยะสั้น แต่เมื่อสถานะลูกหนี้ดีขึ้น หนี้เสียลดลง ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีขึ้น

5.นักลงทุน เมื่อความสามารถการทำกำไรของธนาคารอาจลดลงกระทบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น แต่ในระยะกลางมองว่าธนาคารจะแข็งแกร่งขึ้น (ผลกระทบด้านตัวเลขรอถึง 28 ก.พ.2568) เลือกลงทุนในหุ้นธนาคารที่มีสัดส่วนพอร์ตที่เกี่ยวข้อง (สินเชื่อบ้าน-เช่าซื้อ-SME ขนาดเล็ก) น้อยเทียบกับสินเชื่อรวม เพราะทำให้ได้รับผลกระทบจำกัดเทียบคู่แข่ง

โดย BBL มีสัดส่วนสินเชื่อบ้าน 12% (ไม่มีสินเชื่อเช่าซื้อ) ของสินเชื่อรวม, KTB (20%), KBANK (23%), SCB (41%)  และ KKP TISCO TTB เกิน 60% ของสินเชื่อรวม ทั้งนี้ ตัวเลขไม่รวมสินเชื่อบัตรเครดิต และส่วนบุคคล ดังนั้น กลุ่มธนาคาร แนะนำ  NEUTRAL เลือก BBL และ KTB เป็น Top pick

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า มีมุมมองกลางต่อกลุ่มธนาคาร จากสัดส่วนมูลหนี้ 8.9 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 5.9% ของสินเชื่อทั้งระบบสถาบันการเงิน ประกอบกับเป็นมาตรการตามความสมัครใจของลูกหนี้และมีเงื่อนไขห้ามก่อหนี้ใหม่ภายใน 12เดือน จึงมองผลต่อกลุ่มธนาคารไม่สูง 

มาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 มาตรการ คือ 1. “จ่ายตรง คงทรัพย์” ฝ่ายวิจัยคงมุมมองเดิมต่อมาตรการนี้ว่า แม้การปรับโครงสร้างหนี้ย่อมมีผลต่อรายได้ดอกเบี้ย แต่คาดถูกชดเชยได้กับระดับการตั้งสำรอง (ECL) ที่สามารถบริหารจัดการได้คล่องตัวขึ้น จากคุณภาพสินทรัพย์ที่มีโอกาสดีขึ้นช่วงครึ่งหลังปี 2568 โดยผลบวกต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่แท้จริงจะอยู่ที่ช่วงหมดมาตรการแล้วลูกหนี้ยังจ่ายได้ตามปกติ 

ทั้งนี้ มองว่ากลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ที่มีเทอมผ่อนชำระ 5-7 ปี ทำให้การที่ลูกหนี้จ่ายเพิ่มอีก 3 ปี ย่อมมีความเป็นเจ้าของมากขึ้น จูงใจต่อการผ่อนชำระต่อหลังหมดมาตรการ เทียบกับบ้านที่เทอมยาว 30 ปี ดูน่าจะมีความท้าทายหลังหมดมาตรการ จึงประเมินการปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อรถยนต์มีโอกาสสำเร็จมากกว่าสินเชื่อบ้านช่วงหลังหมดมาตรการ อีกทั้งการกลับมาจ่ายหนี้ของสินเชื่อรถยนต์ น่าจะช่วยลดแรงกดดันผลขาดทุนรถยึดในทางอ้อม ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 3 อันดับแรก ได้แก่ KKP,TISCO และ TTB

2. “จ่าย ปิด จบ” ให้ลูกหนี้บุคคลธรรมดาทุกประเภทที่มีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท ติดต่อสถาบันการเงิน เพื่อชำระหนี้บางส่วนและทางสถาบันการเงิน ปลดลดหนี้ส่วนที่เหลือให้ โดยมาตรการนี้ให้เฉพาะลูกหนี้ NPL ซึ่งธนาคารพาณิชย์ (หรือ บริษัทย่อยของสถาบันการเงิน อย่าง CARDX ของ SCB และ KTC ของ KTB) มีการตั้ง ECL ครบหมดแล้ว หรือ Write-off แล้ว ดังนั้นหากลูกหนี้เข้าร่วมและกลับมาจ่ายบางส่วน จะหนุนต่อรายได้หนี้สูญรับคืน (บันทึกในรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย : Non - NII)

ฝ่ายวิจัยมองมาตรการนี้เน้นไปที่กลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกันอย่างบัตรเครดิต/สินเชื่อบุคคล ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อกลุ่มนี้ราว 4-5% ของพอร์ตสินเชื่อ อาทิ BAY, KBANK, KTB (ผ่าน KTC), SCB (ผ่านกลุ่ม Gen 2) และ TTB

48 สถาบันการเงิน ร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”

สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” รวม 48 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ จำนวน 15 แห่ง, Non-Bank จำนวน 27 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 6 แห่ง 

เปิด 5 ขั้นตอนลดทะเบียนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”

ทั้งนี้ ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 28 ก.พ.2568 ตามขั้นตอน ดังนี้ 

1. ตรวจสอบรายละเอียด : เข้าไปที่เว็บไซต์ www.bot.or.th/khunsoo และตรวจสอบคุณสมบัติ รวมถึงเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ

2. สมัครใช้งานด้วยระบบอีเมล หรือ ThaiID (ไทยดี) โดยสแกน QR บนแอปพลิเคชัน ThaiID เพื่อยืนยันตัวตน

3. กรอกข้อมูลการลงทะเบียน : ใส่ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และอีเมล

4. ส่งคำขอแก้หนี้ โดยเลือก ผู้ให้บริการที่ต้องการเข้าร่วม และผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วม หากมีผู้ให้บริการหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องการเข้าร่วมมากกว่า 1 แห่ง หรือ ประเภท สามารถกดเพิ่มได้

5. ยืนยันการลงทะเบียน : เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วน ให้ลูกหนี้เก็บหมายเลขคำร้องไว้ ระบบจะแสดงหมายเลขคำร้องให้เก็บไว้เพื่อติดตามสถานะ

รายละเอียดโครงการ “คุณสู้ เราช่วย”

โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ประกอบด้วย 2 มาตรการ 

มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ลดค่างวด 3 ปี ปีที่ 1 ชำระ 50% ของค่างวด ปีที่ 2 ชำระ 70% ของค่างวด ปีที่ 3 ชำระ 90% ของค่างวด โดยนำค่างวดไปตัดเงินต้นทั้งหมด ไม่เก็บดอกเบี้ย 3 ปี หากทำได้ตามเงื่อนไขตลอดมาตรการ 

หนี้ที่เข้าร่วมได้ 

  • สินเชื่อบ้าน วงเงินรวมต่อ 1 ธนาคารไม่เกิน 5 ล้านบาท 
  • สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/car for cash ไม่เกิน 8 แสนบาท 
  • สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์/car for cash ไม่เกิน 5 หมื่นบาท 
  • สินเชื่อ SMEs ไม่เกิน 5 ล้านบาท
  • สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่รวมหนี้กับสินเชื่อบ้าน/รถ

ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการได้ คือ ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs 

  • เป็นหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567
  • มีสถานะบัญชี ณ วันที่ 31 ต.ค.2567 
  • ค้างชำระเกิน 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
  • ไม่ค้างชำระหรือค้างไม่เกิน 30 วัน และเคยปรับโครงสร้างหนี้ (ปรับหนี้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2565 จากการค้างชำระเกิน 30 วัน)

เงื่อนไขการเข้าร่วมมาตรการ

  • ไม่สามารถกู้ยืมใหม่ได้ ในช่วง 12 เดือนแรก
  • มีการรายงานข้อมูลการเข้ามาตรการในเครดิตบูโร (NCB) 

มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนและชำระหนี้ปิดบัญชีได้เร็วขึ้น เป็นการช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (สถานะ NPL) แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่เกิน 5,000 บาท โดยลูกหนี้จะต้องเข้ามาเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วน 

หนี้ที่เข้าร่วมได้

  • สินเชื่อทุกประเภท (ที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน)

ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการได้ คือ ลูกหนี้บุคคล 

  • มียอดหนี้คงค้าง (รวมดอกเบี้ย) ไม่เกิน 5,000 บาท/บัญชี 
  • มีสถานะบัญชี ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ค้างชำระเกิน 90 วัน

แบงก์ได้หรือเสีย มาตรการแก้หนี้ 1.9 ล้านราย-เปิด 5 วัน ลงทะเบียน 2 แสนบัญชี