เฟดลดดอกเบี้ย ลดแรงกดดันหุ้นแบงก์ จับตา “นโยบายทรัมป์” กระทบนโยบาย FOMC
เฟดลดดอกเบี้ย ลดแรงกดดันหุ้นกลุ่มแบงก์ จับตา “นโยบายทรัมป์” กระทุ้งเงินเฟ้อพุ่ง กระทบการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเฟด ส่วนกุล่มไมโครไฟแนนซ์ แรงกดดันเพิ่มขึ้นในระยะสั้น หลัง กนง. คงดอกเบี้ย และแนวโน้มดอกเบี้ยปีหน้าปรับลดน้อยลง
ตามที่วานนี้ (18 ธ.ค.) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% ในการประชุมเดือน ธ.ค.2567 สู่ระดับ 4.25-4.50%
โดยการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ หลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในเดือน ก.ย. เป็นครั้งแรกรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2563 และปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในเดือน พ.ย. เป็นครั้งที่ 2
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ Dot Plot ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปี 2568 จากเดิมที่ส่งสัญญาณในเดือน ก.ย. ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 1.00% ในปี 2568
นอกจากนี้ ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.50% ในปี 2569 และลดอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ในปี 2570
ขณะที่ปรับเพิ่มเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 เป็นเติบโต 2.5% จากส่งสัญญาณในเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ 2.0%
ปี 2568 เพิ่มเป้าหมาย GDP เป็นเติบโต 2.1% จากส่งสัญญาณในเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ 2.0% ปี 2569 เติบโต 2.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อเดือน ก.ย.2567
สำหรับปี 2570 ลดเป้าหมาย GDP เป็นเติบโต 1.9% จากส่งสัญญาณในเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ 2.0% และระยะยาวเติบโต 1.8% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อเดือน ก.ย.2567
ขณะเดียวกัน เฟดเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2567, 2568, 2569 และ 2570 มาอยู่ที่ระดับ 2.8%, 2.5%, 2.2% และ 2.0% ตามลำดับ จากคาดการณ์ในเดือน ก.ย.2567 อยู่ที่ระดับระดับ 2.6%, 2.2%, 2.0% และ 2.0% ตามลำดับ
มุมมองกูรูหลังเฟดส่งซิกลดดอกเบี้ยปี 68 เหลือ 2 ครั้ง
บล.พาย ระบุว่า เฟดส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง น้อยกว่าในเดือน ก.ย. ที่คาดจะปรับลด 4 ครั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจ เพราะทั้งตลาดทุนและตลาดเงินได้ส่งสัญญาณบางส่วนไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสหรัฐที่ทิศทางสูงขึ้นสวนทางกับระยะสั้นที่ลดลง และล่าสุด ผลตอบแทนสหรัฐระยะสั้น 3 เดือน อยู่ที่ 4.27% ต่ำกว่าผลตอบแทนระยะยาวกว่า 2 ปี, 10 ปี, 30 ปี ที่ 4.33%, 4.50%, 4.67% ตามลำดับ สะท้อน normal yield curve
ทั้งนี้ มองว่ายังมีโอกาสที่ในปี 2568 ไทยอาจปรับลดดอกเบี้ย ลงได้ 1 ครั้ง (base case) เพราะเศรษฐกิจไทยมีความท้าทายจากปัจจัยภายนอก เช่น การปรับขึ้นภาษีนำเข้าไปสหรัฐ, ปัญหาความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ และการเมืองในประเทศ แต่การปรับลดดอกเบี้ยไทยอาจจะไม่เกิดขึ้นเร็วนัก ส่วนหนึ่งต้องติดตามดูผลกระทบจากนโยบาย Trump 2.0 หลัง Trump เข้ารับตำแหน่งเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.2568
อย่างไรก็ตาม มองว่าก็มีโอกาสที่ดอกเบี้ยไทยอาจจะไม่ลดลงเลยได้หากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงกว่าคาดมาก และโอกาสปรับลดลง 2 ครั้ง อาจเกิดขึ้นได้หากเศรษฐกิจไทยโตต่ำคาด แต่ก็อาจต้องแลกมาด้วยเงินบาทอ่อนค่า และเงินทุนไหลออก ดังนั้น ในปี 2568 มองว่าดอกเบี้ยไทยมีแนวโน้มปรับลดลง 0-2 ครั้ง เหลือ 1.75-2.25% สิ้นปี 2568
ดังนั้น จากผลประชุมเฟดวานนี้ กลุ่มแบงก์ มีแรงกดดันลดลง และราคาหุันแบงก์ใหญ่ (BBL, KBANK, KTB, SCB) อาจปรับขึ้นได้ หรือผันผวนน้อยกว่า SET
ขณะที่กลุ่มไมโครไฟแนนซ์ อาจมีแรงกดดันระยะสั้น หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% ต่อปี ตามคาด และแนวโน้มดอกเบี้ยในปี 2568 ที่อาจลดลงน้อยกว่าตลาดคาดได้
บล.กรุงศรี ระบุผลประชุมเฟดตามคาด ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ช่วง 4.25-4.5% โดย 3 ประเด็นสำคัญที่ยังสนับสนุนตลาดหุ้น คือ 1) คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยยังเป็นขาลง (SEP - Summary of Economic Projections) คือ คาดการณ์ลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปี 2568 (ลดลงจากรอบที่แล้วคาดลด 4 ครั้ง) และจะลดอีก 2 ครั้งในปี 2569 ทำให้อัตราดอกเบี้ยลดลงเหลือ 3.4% ในปี 2569
2) มุมมองเศรษฐกิจ 3 ปีข้างหน้า โตเฉลี่ย 2% บวกต่อตลาดหุ้น คือ คาด GDP Growth เติบโต 2.1% ในปี 2568 และ 2.0% ในปี 2569 และ 1.9% ในปี 2570 ส่วนตลาดแรงงานและอัตราการว่างงาน คาด 4.3% ในปี 2568 และคงที่ระดับเดิมจนถึงปี 2570 ส่วนเงินเฟ้อ (Core Inflation) คาดที่ 2.5% ในปีหน้าก่อนลดลงเหลือ 2.2% ในปี 2569 และ 2.0% ในปี 2570
3) ปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายของ Donald Trump หากดำเนินนโยบายที่สัญญาไว้ เช่น ภาษีนำเข้าสูง, ลดภาษีบริษัท, และจำกัดการอพยพเข้าเมือง อาจกระตุ้นเงินเฟ้อสูงขึ้น และส่งผลต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของเฟด
โดยรวม บล.กรุงศรี ประเมินจาก Dot Plot มองเป็น Uber Hawkish Cut ตามที่ MUFG คาดการณ์ไว้ ซึ่งมองว่าตลาดจะเกิดการเร่งขายทำกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง โดยรวมกลยุทธ์เน้นหุ้น Defensive อาทิ ค้าปลีก, ขนส่ง และกลุ่มแบงก์