posttoday

RS ดิ่ง 2 ฟลอร์ มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 6 พันล้าน หวั่นถูก Force Sell ซ้ำรอย SCM

08 มกราคม 2568

หวั่น RS ถูก Force Sell ซ้ำรอย SCM หลังดิ่งฟลอร์ 2 วันติด ร่วง 51.03% มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 6 พันล้านบาท ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น 4-5 ครั้ง ปลายปี 67 ยังพบ พ.ย.67 วางค้ำมาร์จิ้นกว่า 222 ล้านหุ้น หรือ 10.18% โบรกฯ มองผลงานยังไม่สดใส มีเงินกู้ระยะยาวครบกำหนดปีนี้ 502 ล้านบาท

KEY

POINTS

  • RS เสี่ยงถูก Force Sell ซ้ำรอย SCM หลังดิ่งฟลอร์ 2 วันติด ร่วง 51.03% มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 6 พันล้านบาท
  • ผู้บริหาร-ผู้ถือหุ้นใหญ่ขายหุ้น 4-5 ครั้ง ปลายปี 67
  • พบ พ.ย.67 วางค้ำมาร์จิ้นกว่า 222 ล้านหุ้น หรือ 10.18%
  • โบรกฯ มองผลงานยังไม่สดใส มีเงินกู้ระยะยาวครบกำหนดปีนี้ 502 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS วันนี้ (8 ม.ค.2568) ล่าสุด เวลา 12.30 น. ลดลง 29.95% หรือลดลง 1.12 บาท มาอยู่ที่ 2.62 บาท ทำราคาต่ำสุด (Floor) ที่ 2.60 บาท เป็นการปรับตัวลงดิ่งฟลอร์เป็นวันที่ 2 ต่อเนื่องจากวานนี้ (7 ม.ค.2568) ปิดที่ราคาต่ำสุด (Floor) 3.74 บาท ลดลง 1.61 บาท หรือลดลง 30.09%

ทั้งนี้ รวม 2 วัน ราคาหุ้น RS ปรับตัวลดลง 51.03% หรือลดลง 2.73 บาท จากวันที่ 6 ม.ค.2568 ปิดที่ราคา 5.35 บาท อีกทั้ง พบว่า ยังมีคำสั่งขาย (Offer) หุ้น RS รอขายอีกกว่า 184 ล้านหุ้น

RS ดิ่ง 2 ฟลอร์ มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 6 พันล้าน หวั่นถูก Force Sell ซ้ำรอย SCM

จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงดังกล่าว ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ของ RS อยู่ที่ 5,717.41 ล้านบาท ลดลง 5,957.46 ล้านบาท จากวันที่ 6 ม.ค.2568 มาร์เก็ตแคป อยู่ที่ 11,674.87 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ของ RS แจ้งว่า ยังไม่ทราบสาเหตุทที่ราคาปรับตัวลง อย่างไรก็ตาม บริษัทจะชี้แจงเรื่องดังกล่าวผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

ด้านนักวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุว่า มองหุ้น RS มีปัจจัยลบกดดันจากผลการดำเนินงานยังมีแนวโน้มขาดทุน ฐานะการเงินเริ่มมีความเสี่ยง และราคาหุ้นมีความเสี่ยงจากการใช้หุ้นวางประกันบัญชีมาร์จิ้น 

โดยผลการดำเนินงานยังไม่สดใส งวดไตรมาส 3/2567 RS รายงานผลการดำเนินงานปกติมีผลขาดทุน 301 ล้านบาท (พลิกจากกำไร 71 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2566 และขาดทุนเพิ่มจาก 64 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2567) เนื่องจากรายได้ลดลงกว่า 37%YoY และ 20%QoQ ตามการหดตัวของรายได้ธุรกิจ Commerce และ Entertainment และแนวโน้มไตรมาส 4/2567 คาด RS ยังคงมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานปกติต่อเนื่อง

ขณะที่ฐานะทางการเงิน ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 มีหนี้สินที่มีดอกเบี้ย 3,839 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้น 1,507 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาว 1,835 ล้านบาท (ครบกำหนด 1 ปี 502 ล้านบาท) และหนี้สินสัญญาเช่าทางการเงิน 497 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 3,141 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุน 1.5 เท่า มองว่าฐานะการเงินไม่แข็งแรงนักภายใต้สภาวะที่ผลการดำเนินงานยังมีแนวโน้มขาดทุน

นอกจากนี้ RS ไม่ประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้างบริษัท เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2567 RS มีการแจ้งยกเลิกการเข้าลงทุนในบริษัท GIFT (ปัจจุบันชื่อ RSXYZ) เนื่องจากราคาหุ้น GIFT มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเงื่อนไขทางธุรกิจที่ตกลงไว้เดิมอาจไม่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น 

RS ดิ่ง 2 ฟลอร์ มาร์เก็ตแคปวูบเฉียด 6 พันล้าน หวั่นถูก Force Sell ซ้ำรอย SCM
ประกอบกับมีการซื้อขายหุ้นของผู้บรหิาร พบว่า ช่วงปลายปี 2567 ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ RS มีการขายหุ้น 4-5 ครั้ง (ครั้งละประมาณ 5-10 ล้านหุ้น ที่ราคา 5.5-5.86 บาท/หุ้น) แม้ว่าจะคิดเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นทั้งหมด แต่มองไม่เป็นบวกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

รวมไปถึงยังมีการใช้หุ้นวางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้น ตามรายงาน ตลท. เดือน พ.ย.2567 พบว่า หุ้น RS ถูกใช้เป็นหลักทรัพย์วางเป็นประกันในบัญชีมาร์จี้นของลูกค้า จำนวนกว่า 222 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 10.18% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วน 60% ของการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย มีความเสี่ยงถูก Force Sell เมื่อราคาหุ้นลดลง

ดังนั้น ยังคงไม่มีคำแนะนำและราคาเป้าหมายปี 2568 หุ้น RS เบื้องต้นมองการพลิกฟื้นธุรกิจหลัก Commerce และ Entertainment ของ RS มีความท้าทายสูง ขณะที่เริ่มมีความเสี่ยงทางด้านฐานะทางการเงินจากอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยต่อทุนมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีเงินกู้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระภายในเดือน ก.ย.2568 จำนวน 502 ล้านบาท ในขณะที่ RS มีเงินสด ณ สิ้นงวดไตรมาส 3/2567 ที่ 306 ล้านบาท และมีความเสี่ยงราคาหุ้นได้รับผลกระทบจากการ Force Sell ของหุ้นที่ถูกใช้วางเป็นประกันในบัญชีมาร์จิ้น

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลทั้งราคาหุ้นดิ่งฟลอร์ 2 วันติดต่อกัน และผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ RS มีการขายหุ้นในช่วงปลายปี 2567 รวมทั้งพบว่า เดือน พ.ย.2567 RS วางค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น จำนวนกว่า 222 ล้านหุ้น คิดเป็น 10.18% ติดอันดับ 74 เอื้อให้คิดไปได้ว่า RS น่าจะถูกบังคับขายหุ้น (Force Sell) ซ้ำรอย บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCM รายล่าสุดที่ออกมายอมรับว่าถูก Force Sell