"ทักษิณ" ไล่บี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ-ก.ล.ต. แก้ 7 ปมฟื้นเชื่อมั่น ดันตลาดกระทิง
"ตลาดหุ้นไทย" หนึ่งในภาพสะท้อนของเศรษฐกิจที่จะขึ้นหรือลง พร้อมความคาดหวังและความฝันของนักลงทุนที่อยากจะเห็นการกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ไร้ซึ่งสถานะที่ว่า "ทศวรรษที่หายไป" ด้วยวาดหวังว่าการแสดงวิสัยทัศน์ของ "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" ในงานเสวนา Dinner Talk "Chat with Tony : Bull Rally of Thai Capital Market" จะสามารถขับเคลื่อนตลาดหมีเข้าสู่ภาวะกระทิง
"ดร.ทักษิณ" กล่าวว่า การขึ้นมาพูดครั้งนี้เป็นการขึ้นมาพูดที่ตื่นเต้นมากที่สุดเพราะถูกคาดหวังว่าตลาดหุ้นวันนี้ต้องขึ้น ซึ่งหุ้นจะขึ้นหรือไม่ต้องขอให้ผู้จัดการกองทุนช่วยอีกแรง เพราะผมคงไม่สามารถทำได้ด้วยมีเงินเดือนเพียง 700 บาทเท่านั้น
ทั้งนี้ตนเองมั่นใจว่าประเทศไทยยังมีอนาคตอีกเยอะเพียงแต่ขาดการบริหารที่ถูกต้องเท่านั้น ก่อนที่จะมาพูดวันนี้ได้พูดคุยกับนายกฯและที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ดังนั้นคงไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์รัฐบาลมากมาย ซึ่งนายกฯติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดและคอยสอบถามผมตลอดว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งผมได้อธิบายในฐานะผู้เฒ่าผู้แก่ที่ผ่านประสบการณ์มา
ตลาดหุ้นไทยทุกวันนี้มีอยู่ 3 คำ คือ คำว่า TRUST , CONFIDENCE และ SENTIMENT ในภาวะวันนี้มันไม่ค่อยดีทั้ง 3 ตัว เราคงต้องนำคำว่า TRUST และ CONFIDENCE กลับคืนมาให้ได้ ส่วนคำว่า SENTIMENT เป็นเรื่องของสถานการณ์โลก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่ 20 ม.ค.68นี้ ถ้าทรัมป์ประกาศนโยบายเหมือนที่ได้หาเสียงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งด้านลบและบวกต่อประเทศไทย
ส่วนตัวผมอยากจะพูดถึงปัญหาที่ได้รับฟังและได้รับทราบจากทั้งเรื่องของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการปรับตัวของ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. ค่อนข้างชักช้า ผมคิดว่าต่อไปนี้ต้องเร็ว แม้กระทั่งอะไรบางอย่างที่ต้องออกเป็น พรก. ก็ต้องออก ซึ่งรัฐมนตรีคลังได้เตรียมไว้หลายเรื่องที่ต้องปรับปรุง
โดย เรื่องแรก ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง คือ "Corporate Governance" คือความโปร่งใสของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นอยู่เนื่องๆและเราแก้ปัญหาได้ช้าและอธิบายได้ช้า ต่อไปนี้ไม่ใช่ว่าบริษัทเข้าตลาดแล้วเราไม่มอนิเตอร์ต่อ สุขภาพของบริษัทต้องตรวจสอบตลอดเวลา ตอนสมัยผมอยู่เห็นชัดว่า "Corporate Finance" เป็นตัวสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯที่น่าจะสร้างความน่าเชื่อถือของตลาดได้
"อยากฝาก ตลาดหลักทรัพย์ฯ คงต้องติดตามพฤติกรรมของฝ่ายผู้บริหารของทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อให้มั่นใจว่า ไม่ใช้เงินผิดประเภท, ทำบัญชีที่ถูกต้อง, ระบบตรวจสอบที่ถูกต้อง, มีการบริหารที่ถูกต้อง และต้องให้มั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดปัญหากระทบกับตลาดหลักทรัพย์ฯ"
ปัญหาที่ 2 ที่ได้รับการบ่นประจำ ก็คือ "High Frequency Trading" โรบอทได้เข้ามาสู่ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก จริงๆไม่มีอะไรยาก ซอฟแวร์ราคาไม่กี่บาท หมื่นกว่าเหรียญฯสามารถซื้อได้ เซ็ตระบบซื้อขายเพื่อกินส่วนต่าง ซึ่งตัวนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย เพราะเป้นการเทรกเสร็จ ณ สิ้นวันแทบไม่มีอะไรเหลือหุ้นในโพซิชั่นตัวเอง แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯชอบเพราะได้วอลุ่ม อยากให้ดูเรื่องของการได้เปรียบ-เสียเปรียบ มีรายละเอียดในเรื่องนี้ ต้องตรวจสอบอัลกอริทึ่มด้วยว่าไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯมีหน้าที่ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ ต้องเป็นผู้รักษากติกาให้ดี ดังนั้นอยากขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯช่วยดูให้ดีว่าทุกคนต่อแล้วมีสปีดที่ใกล้เคียงกันไม่เสียเปรียบกัน
ปัญหาที่ 3 คือ การสโลว์แอคชั่นเมื่อพบการทำผิด หลายบริษัทที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้นกว่าจะเทคแอคชั่นได้ กว่าจะอธิบายได้ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อถือ มันสะสมมาเรื่อยๆตั้งแต่เคสหุ้น MORE เกิดความไม่น่าเชื่อถือในตลาด ทางคลังกำลังเตรียมพร้อมที่จะเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ให้เหมือนสากล หมายความว่าสามารถจัดการได้ทันที โดยไม่ต้องรออัยการ หรือ DSI ซึ่งรัฐบาลตระหนักถึงเรื่องนี้และกำลังเทคแอคชั่นอย่างเร่งด่วน
"เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์"เข้าตลาด
ปัญหาที่ 4 คือ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นธุรกิจเก่า บริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นธุรกิจใหม่ๆไม่มี ดังนั้นรัฐบาลจะชวน BOI ให้ชวนบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนให้มาเข้าตลาดไทยให้มากและบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้ามาลงทุนจะพยายามจูงใจให้ตลาดหุ้นไทย เช่น เอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ซึ่ง ครม.เพิ่งรับหลักการวานนี้ก็ต้องเอาเข้าสภาฯ ซึ่งจะมีการลงทุนราว 5 แสนล้านบาทจะได้ให้เข้าตลาดเพื่อเพิ่มบริษัทในตลาดมากขึ้น
ปัญหาที่ 5 คือ หุ้นหลายตัวราคาต่ำบุ๊ค พี/อีต่ำ เลยอยากสนับสนุนว่า Treasury Stock มีอยู่แล้วทำไมไม่ให้บริษัทซื้อหุ้นตัวเองเข้าพอร์ตไว้เป็น Treasury Stock และตลาดน่าจะใช้ระบบแบบญี่ปุ่น คือให้ทำแพลนว่าจะทำอย่างไรให้ราคาหุ้นกับบุ๊คใกล้เคียงกัน
ปัญหาที่ 6 คือ นอกจากการ Empower ให้ ก.ล.ต. แล้ว รัฐบาลอยากเห็น ก.ล.ต. มีภาคดิจิทัล เพราะวันนี้เราเห็นภาพชัดว่า ประธานาธิบดี ทรัมป์ ประกาศชัดเจนว่าจะชำระหนี้ด้วยบิทคอยน์ และสนับสนุนเรื่องของคริปโต ผมอ่านว่าคริปโตทั้งหลายจะเป็นเกราะกำบัง US ดอลลาร์ เพราะฉะนั้นการจะโจมตี US ดอลลาร์ ต้องเจอคริปโตก่อน
ดังนั้นในเมื่อเราเห็นว่าประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาเคลื่อนมาตรงนี้ เราควรต้องตื่นตัวได้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้มาแล้ว คนที่ไม่เข้าใจหรือคนที่ปิดตัวเองไม่อยากรับรู้อะไร ต้องเปิดได้แล้วไม่งั้นเราจะไม่ทันเขา ดังนั้น ก.ล.ต.ต้องมีสายดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอนุญาติให้ไปเทรดของสเตเบิลคอยน์ วันนี้ได้คุยกับนายกฯและคลังว่าทุกวันนี้เราออกบอนด์เพราะตั้งงบขาดดุล พอออกบอนด์ทีสถาบันซื้อเอาไปเก็บ พอสิ้นปีก็เก็บดอกเบี้ย ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรเลย ดังนั้นคิดว่าบอนด์ตรงนี้นำมาเข้าสู่เศรษฐกิจได้หรือไม่ ง่ายๆคือขายบอนด์ให้กับประชาชนทั่วไป หรือขายสถาบันก็ได้ เราอาจจะขายล็อตเล็กๆมีระยะเวลาสั้นๆ หากใช้ก็ไม่ได้ดอกเบี้ยแต่ถ้าเก็บก็จะได้ดอกเบี้ย เพื่อให้หมุนเวียนเข้าระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น นี่เป็นสิ่งที่คุยกันโดยเริ่มจากรัฐบาลทำเองโดยใช้พันธบัตรรัฐบาลช่วยกัน
อยากให้ ก.ล.ต. เตรียมเปิดทางให้กติกาเหล่านี้เพื่อให้รองรับสิ่งที่โลกกำลังจะไป
ปัญหาข้อสุดท้าย ข้อ 7 คือ ก.ล.ต. กำลังจะทำคือ เราจะให้มีคาร์บอนเครดิตเทรด เปิดตลาดในด้านคาร์บอนเครดิต รู้หรือไม่ว่าวันนี้ในประเทศไทย ซื้อขายที่ 7 ดอลลาร์ต่อตัน สิงค์โป 14 ดอลลาร์ต่อตัน และที่ ยุโรป 35 ดอลลาร์ต่อตัน ต่างกันเยอะมาก ดังนั้นถ้าเราเปิดเป็น "ศูนย์เทรดคาร์บอนเครดิต" คนไทยจะได้ราคาดีขึ้น เราไม่ต้องเสียเปรียบ ไม่ต้องไปเทรดที่สิงคโปร์ เทรดที่ไทย อีกทั้งยังได้ประโยชน์เรื่องการส่งออกอีกมากมาย หวังว่าสิ่งเหล่านี้คงจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้
และอีกหน่อยอาจจะมีการเทรด TOKEN ที่มาจาก RWA หรือ Real World Asset จะช่วยให้ภาครัฐ และเอกชนที่มีสินทรัพย์ที่ไม่แอคทีฟมาแอคทีฟได้ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ ห้องเช่า หรือบ้าน อาจจะมาทำ Real World Asset Tokenization ได้ ตลาดต้องมองว่าอนาคตจะเทรดอย่างไรเพราะว่ามันมาแน่ๆ พูดมา 3 ปีแล้วแต่ไม่เกิด แต่เชื่อว่าปีนี้น่าจะเกิด โดยเฉพาะ "เวอร์ชวลแบงก์" น่าจะเกิดเพราะงัดกันมานานไลน์เซ่นต์ไม่เกิดสักที เห็นว่าจะมีไลเซ่นต์แค่ 3 ส่วนตัวผมว่าน้อยเกินไป
ก้าวสู่ "ไฟแนนซ์เชียลเซ็นเตอร์"
ประเทศไทยต้องพัฒนาตัวเองเป็น "ไฟแนนซ์เชียลเซ็นเตอร์" ให้ได้ วันนี้ได้มีการศึกษากติกาทั้งดูไบและสิงคโปร์ ซึ่งก็ต้องรอดูว่าไทยควรมีกติกาอย่างไร ทางคลังได้ศึกษาและเตรียมการอย่างเต็มที่ วันนี้เราอยากเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจให้มากขึ้น เพราะเงินที่อยู่ในระบบมักจะถูกดูดดออกไปเป็นบอนด์หมด
แม้กระทั่งในปีที่แล้วออกกองทุน ESG ที่จะให้มาช่วยตลาดหุ้น ปรากฎว่าเป็นบอนด์ 80% กองทุน LTF ที่หมดอายุและไม่หมดอายุเป็นกองทุนที่ใช้ซื้อหุ้น ทางคลังกำลังพิจารณาว่าจะต่อหรือไม่ ตอนนี้อยากเห้นเม็ดเงินอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯกับอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้มาก ต้องเลี้ยงเม็ดเงินตรงนี้อยู่ในระบบให้ได้ วันนี้สิ่งที่น่าห่วง คือ เงินไม่มีใช้
เมื่อกี้พูดถึงเรื่อง คริปโตฯ ทางรัฐบาลเตรียมจะทำ “แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox)” อาจจะเริ่มที่ภูเก็ต โดยการรับบิตคอยน์ บริหารจัดการโดยรัฐบาล ซึ่งผู้ที่รับบิตคอยน์ไม่มีความเสี่ยง เหมือนเรารับเงินดอลลาร์โดยมีเอ็กซ์เชนจ์ให้แลก บิตคอยน์ก็เช่นกัน สมมุติเราไปพักโรงแรมใช้ทั้งหมดครึ่งบิทคอยน์ก็โอนเงินจริงเข้าบัญชีได้ คนที่มีบิทคอยน์ส่วนใหญ่คือคนที่กำไร มีแนวโน้มจะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและนำเงินมาใช้ในไทย
นอกจากนี้ ผมคิดถึง Sandbox เรื่องอินโนเวชั่น วันนี้มีอินโนเวชั่นใหม่ๆเกิดขึ้นที่กฎหมายตามไม่ทัน ดังนั้นถ้าเราทำ Sandbox ก็จะทำให้มีการทดลองปฏิบัติจริงเกิดขึ้น อย่างเรื่องสเต็มเซลที่ทำจากรกเด็ก หรือ จากตัวเราเองที่สามารถปั่นจนถึงขั้นเป็นเอ็มบริโอเซล สิ่งเหล่านี้เราควรต้องเปิดรับเพื่อเท่าทันโลกนี้ ต้องขอบคุณรัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ทำเรื่อง Sandbox
ชูธง "เอ็นเตอร์เทนเมนท์ฯ-ดาต้าเซ็นเตอร์-AIฮับ"
รัฐบาลจะส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาในประเทศให้มากขึ้น นอกจากการลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์แล้ว ยังมีเรื่องของดาต้าเซ็นเตอร์ บางคนบอกว่าดาต้าเซ็นเตอร์เอามาทำไมเยอะแยะมันจะกินไฟ ใช้พลังงานสีเขียว ความจริง "ดาต้าเซ็นเตอร์" ทาง UAE เปรียบเทียบว่า ดาต้าฯเหมือนน้ำมันดิบหรือครูดออยล์ ส่วน AI เหมือนรีไฟเนอรี่ ถ้ามีดาต้าฯไม่มี AI ก็ไม่มีประโยชน์
ฉะนั้นเมื่อเราตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องดึง AI ฮับมาอยู่ประเทศไทยให้ได้ เพราะ AI ตัวหนึ่ง ถ้า 1 กิกะวัตต์ ลงทุน 50 บิลเลี่ยนหรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เท่ากับครึ่งหนึ่งของปีงบประมาณ
โดยจะเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง ค่าไฟ ที่ก่อนหน้านี้ผมพูดเรื่องลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาท ปรากฎว่าวันนี้ขานรับกันหมด เพราะผมเห็นตัวเลขแล้วว่าทำได้ แต่พอคนไม่เข้าใจทำหุ้นพลังงานตกเป็นแถว ความจริงไม่ได้รับผลกระทบอะไร เราแค่รีดไขมันเท่านั้น
ผมเคยพูดกับรมว.พีรพันว่าวันนี้โซลาร์ลงมาถึง 2 บาท อีเวนท์ 1.80 บาท แต่ว่าเราปั่นไฟฟ้าใช้แก๊ส และ ถ่านหิน ก็ต้องไปคำนวณว่าโรงไฟฟ้าโรงไหนที่มีค่าใช้จ่ายเกินกว่ากรีนเอนเนอร์ยีก็ปิดดีกว่าหรือหยุดผลิต เพราะเราจะลดต้นทุนลงมาจะดึงค่าเฉลี่ยค่าไฟลงมา ในที่สุดสมมุติค่าไฟเหมือนกรีนเอนเนอร์ยี่ทั้งหมดจะอยู่ที่ 2 บาทเพราะวันนี้ทั่วโลกพูดถึงค่าไฟ 6 เซนต์คือ 2 บาท บ้านเรา 13 เซนต์ เบื้องต้นถ้าบ้านเราลดเหลือ 3.70 บาทเป็นการรีดไขมัน องค์กรไหนใช้ไฟฟรีต้องแยกบิลให้ชัดเจน เป็นต้น
ปตท.อาจจะกระทบนิดหน่อยเพราะค่าผ่านท่อ แต่ปตท.เต็มใจที่จะลดลง ทั้งเรื่องเงินส่งรัฐต่างๆ ดูแล้วความเป็นไปได้ที่ค่าไฟจะลดลงเรื่อยๆมีสูง ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ค่าไฟต้องลด จำเป็นมาก เพราะการลงทุนจากต่างประเทศที่ใช้ไฟจำนวนมากจะถามเรื่องค่าไฟก่อนที่จะตัดสินใจ ดังนั้นค่าไฟต้องเป็นแรงจูงใจที่จะดึงเขามาลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาต้าเซ็นเตอร์ และ AI ฮับ เราคงต้องรีบทำ ต้องไม่ช้า
ผ่าอนาคต AOT พื้นฐานแกร่งจริง ? ยิ่งร่วง ยิ่งน่าสะสม
Sudden Death ตายทันที! ไม่เซียนจริง อย่า "กู้เงิน" เล่นหุ้น
ไม่ง่าย! หุ้นไทยเดือน มกราคม เผชิญปัจจัยในประเทศ-ต่างประเทศป่วนหนัก