posttoday

TISCO งบ Q4/67 กำไร 1,702 ล้าน ลดลง 4.4% ฉุดปี 67 กำไรลดลง 5.5% เหลือ 6,901 ล้าน

14 มกราคม 2568

TISCO แจ้งงบไตรมาส 4/67 กำไรสุทธิ 1,702 ล้านบาท ลดลง 4.4% ฉุดปี 67 กำไรสุทธิ ลดลง 5.5% อยู่ที่ 6,901 ล้านบาท เหตุตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้น รองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 6,901.28 ล้านบาท ลดลง 5.5% เมื่อเทียบกับปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย ซึ่งเป็นไปตามแผนการเพิ่มสeรองเพื่อกลับสู่ระดับปกติ พร้อมทั้งเพื่อรองรับความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

สำหรับรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.3% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากปีก่อน จากการบริหารผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ ชดเชยต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น 29.4% ตามการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝาก ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยขยายตัว 8.4% ส่วนใหญ่มาจากผลกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) 

ด้านธุรกิจหลัก ค่าธรรมเนียมรวมของธุรกิจจัดการกองทุนเติบโต 5.5% จากการขยายตัวของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการ (Performance Fee) ในช่วงสิ้นปี นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ครั้งแรก (IPO) 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อปรับลดลง พร้อมกับรายได้ค่าธรรมเนียมนายหน้าประกันภัยอ่อนตัวลง ส่วนค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ชะลอตัว เป็นไปตามภาวะตลาดทุนที่ผันผวนและปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ซบเซา

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 1,701.81 ล้านบาท ลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับไตรมมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลจากค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 2.3% จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางการตลาดตามฤดูกาล ในขณะที่รายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.2% จากไตรมาสก่อน จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวดีขึ้น 0.5% เนื่องจากต้นทุนทางการเงินเริ่มปรับลดลงตามทิศทางการปรับลดของดอกเบี้ยนโยบาย 

ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 0.3% จากธุรกิจตลาดทุนที่อ่อนตัวท่ามกลางภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมธุรกิจวาณิชธนกิจ ค่าธรรมเนียมพื้นฐานธุรกิจจัดการกองทุน รวมถึงผลกำไรจากพอร์ตเงินลงทุนปรับตัวลดลง 

อย่างไรก็ดี ในไตรมาสสุดท้ายของปี บริษัทมีการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของธุรกิจจัดการกองทุน (Performance Fee) และธุรกิจนายหน้าประกันภัยฟื้นตัวตามยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ด้านการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดล 6.0% จากไตรมาสก่อนหน้า และอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย

ทั้งนี้ ในปี 2567 สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) มีจำนวน 5,463.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากปีก่อน แต่ลดลง 2.7% จากไตรมาสก่อน และคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ที่ 2.35% ของสินเชื่อรวม 

ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทมีการปรับกลยุทธ์ในการขยายสินเชื่อ โดยเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ พร้อมด้วยการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิดและการบริหารจัดการสินเชื่อเชิงรุก ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในภาวะที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและคุณภาพของลูกหนี้ยังคงเปราะบาง

ขณะที่บริษัทมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวมจำนวน 8,486.35 ล้านบาท และมีระดับค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 155.3%