ผ่าอาณาจักรแสนล้าน "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" เช็ค! 23 หุ้นรับอานิสงส์
เปิดอาณาจักรกว่าแสนล้าน "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex)" ศูนย์รวมความบันเทิงครบวงจร หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร(เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์)ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
โดยกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เช่น กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร และคณะกรรมการบริหารจัดตั้งสำนักงานกำกับการสถานบันเทิงครบวงจร และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเรื่องการอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานบันเทิง
ขั้นตอนจากนี้คือ นำความเห็นทั้งหมดจากหลายหน่วยงานส่งให้ "คณะกรรมการกฤษฎีกา" ตรวจและปรับร่าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1-2 เดือน ก่อนที่จะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐข้อที่ 7 ที่ระบุถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destination) เช่น สวนน้ำ, สวนสนุก, สถานบันเทิงครบวงจร, การแข่งขันกีฬาระดับโลกมาแข่งขันในประเทศไทย เป็นต้น
ข้อดี "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์"
1.สร้างรายได้ 120,000-240,000 ล้านบาทต่อปี
2.ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มขึ้น 5-10%
3.กระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงโลว์ซีซั่นไม่ต่ำกว่า 13%
4.เพิ่มรายได้ต่อหัวไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อราย
5.จ้างงาน 9,000-15,000 ตำแหน่ง
6.สร้างรายได้ภาครัฐ ไม่ต่ำกว่า 12,000-40,000 ล้านบาท
(รายได้จากการพนันและธุรกิจอื่นๆทั้งธุรกิจโรงแรมและสวนสนุกเป็นต้น)
แน่นอนว่า การลงทุนในธุรกิจที่มีมูลค่าสูงหลายแสนล้านบาท ย่อมต้องเปิดประมูลให้กลุ่มทุนที่สนใจเข้าร่วม ที่ผ่านมาจะว่า "กลุ่มทุนใหญ่" หลายรายสนใจ "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" อย่างมาก อาทิ กลุ่มบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC , กลุ่มบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (UTA) บริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA , บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และ บริษัท สเตคอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ STECON (เดิมคือบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด(มหาชน) หรือ STEC) , กลุ่ม CP , กลุ่มเดอะมอลล์ และ พราวด์กรุ๊ป เป็นต้น
เมื่อประมูลสำเร็จ ย่อมต้องมีเรื่องขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ตลอดจนการเคลียร์พื้นที่ ตอกเสาเข็ม และก่อสร้าง เมื่อโครงสร้างอาคารเสร็จสิ้น การวางระบบไฟฟ้าภายใน เครื่องมือสื่อสาร แหล่งกักเก็บไฟฟ้าสำรอง การติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัย การตกแต่งภายใน และ วางระบบเทคโนโลยีต่างๆเพื่อรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด
ท้ายสุด คือ "บุคคลากร" ที่จะดูแลระบบหรือบริหารจัดการภายในคอมเพล็กซ์ โดยเฉพาะในส่วนของคาสิโนย่อมต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีการฝึกอบรมเป็นอย่างดี เป็นต้น
"เอ็นเตอร์เทนเมนต์ฯ" ดีต่อไทยอย่างไร ?
"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.ลิเบอเรเตอร์ กล่าวกับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ถือเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหญ่มาก ในเชิงเศรษฐกิจถ้าเกิดสามารถทําได้จริงอาจจะเป็นจุดหนึ่งที่เป็นบวกต่อประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงถัดไปอย่างแน่นอน เนื่องด้วยโครงการดังกล่าวน่าจะประกอบด้วยหลายภาคส่วน โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น การจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น คอนเสิร์ตและสวนสนุกช่วยดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคนอาจจะมองแค่ประเด็นคาสิโน ที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของโครงการทั้งหมด
ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม , สายการบิน , ค้าปลีก รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรม เช่น บริษัทที่จัดคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ ซึ่งจะมีโอกาสในการสร้างรายได้จากการจัดงานในคอมเพล็กซ์
5 หุ้นรับอานิสงส์
หุ้นที่ได้อานิสงส์จากเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เริ่มจากกลุ่มสายการบินและโรงแรม บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT , บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW
ต่อมาคือกลุ่มของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS อย่าง บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI , บริษัท ร็อคเทค โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ ROCTEC
ประมูลปลายปี
บล.กรุงศรี ระบุว่า การเดินหน้ากฎหมาย Entertainment Complex ถือเป็นภาพบวก แต่ตลาดกังวลว่าขั้นตอนอาจจะสะดุด หลังกฤษฏีกามีข้อเสนอแนะออกมาก่อนเสนอ ครม. ล่าสุด ประเมินกรอบโครงการยังน่าจะเห็นการเริ่มประมูลปลายปี 2568 ถึง ต้นปี 2569 โดยรวมคาดสร้างจิตวิทยาบวกหุ้นในธีม Entertainment Complex อาทิ AOT , BTS, VGI , CPALL , BJC , BA
"ทักษิณ" ไล่บี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ-ก.ล.ต. แก้ 7 ปมฟื้นเชื่อมั่น ดันตลาดกระทิง