ถอดบทเรียน "วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์" พลิกธุรกิจเก่า สู่ "เอ็นเตอร์เทนเมนท์ฯ"
โลกแห่งเทคโนโลยีหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านจากระบบอะนาล็อคสู่ดิจิทัล AI จากจานดาวเทียมคู่คนไทย สู่ สมาร์ททีวี สมาร์ทโฮม และอนาคตที่ยังจะพัฒนาต่อเนื่องไร้จุดสิ้นสุด ธุรกิจที่หยุดนิ่งไม่ปรับตัวย่อมเสียเปรียบจนท้ายที่สุดอาจปิดตัว
แต่ไม่ใช่กับ "กลุ่มบริษัทสามารถฯ" ของกลุ่มตระกูล "วิไลลักษณ์" ด้วยต้นแบบนักสู้ที่ชื่อว่า "เชิดชัย วิไลลักษณ์" จากช่างซ่อมมากฝีมือ เปิดร้านซ่อมนาฬิกาและอุปกรณ์ไฟฟ้า จังหวัดสระบุรี ในปี 2498 ไม่น่าช่างเชิดชัยหยิบจับซ่อมแซมอะไรสามารถแก้ไขได้ทั้งสิ้น จนชาวบ้านยกให้เป็น "ร้านสามารถ"
จวบจนก้าวเข้าสู่ "ธุรกิจเสาอากาศ" และพัฒนาจานรับสัญญาณดาวเทียม นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญสรรสร้างธุรกิจเติบโตต่อเนื่องและก่อตั้งเป็น "บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด" จากนั้นใน พ.ศ.2536 แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน นั่นก็คือ "บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART" ธุรกิจเกี่ยวกับระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของไทยจวบจนทุกวันนี้
ตลอดระยะเวลา 70 ปี "กลุ่มสามารถฯ" ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุคสมัย มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจตลอดเวลาตามวิวัฒนาการของโลก ด้วยเรียนรู้แล้วว่า ธุรกิจไหนไม่ทำกำไรต้องตัดทิ้ง ในวันนี้จึงแทบไม่เหลือคราบเดิมๆของธุรกิจ ยกเว้นเรื่อง "เทคโนโลยี" ที่ยังคงเดินหน้า
แต่ถึงกระนั้น การเฟ้นหาธุรกิจใหม่ที่ตอบโจทย์ยุคสมัยใหม่ พร้อมกับการรับรู้รายได้อย่างต่อเนื่องย่อมดีกว่าสัญญาระยะสั้นๆ นี่คือเป้าประสงค์สำคัญในอนาคตและหยุดนิ่งไม่ได้!
"วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์" ผู้ขับเคลื่อนธุรกิจของกลุ่มสามารถฯ เล่าว่า ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีไม่มีวันที่หยุดนิ่งได้ ที่ผ่านมากลุ่มสามารถฯปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
พร้อมเดินหน้าธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรักษาการเติบโตในธุรกิจเดิม และสร้างรายได้ผ่านโมเดลธุรกิจ B2G2C มากขึ้น ด้วยการศึกษาความต้องการของหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาด้านการให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แล้วเข้าไปลงทุนพัฒนาและติดตั้งระบบให้ก่อน
"ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจในประเทศอาจชะลอตัว แต่ผลการดำเนินงานของกลุ่มสามารถยังอยู่ในระดับที่ดี และมีผลกำไรเป็นที่น่าพอใจ ส่วนปี 2568 ถือเป็นปีที่ดีที่สุดของกลุ่มสามารถในรอบ 10 ปี ทั้งการเดินหน้าสู่ธุรกิจใหม่ และรักษาการเติบโตในธุรกิจเดิม ที่สำคัญเรามีแผนใหญ่ที่จะขยายไปสู่พลังงาน เรามีบริษัท เทด้า ที่เชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบ จัดหาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และก่อสร้างสถานีไฟฟ้า ให้ออกมาครอบคลุมเรื่องพลังงานสะอาด และสิ่งแวดล้อม รับกับเทรนด์ที่ภาคธุรกิจให้ความใส่ใจกับความยั่งยืนมากขึ้น พร้อมทั้งศึกษาเกี่ยวกับ Carbon Credits ซึ่งเราหวังว่าธุรกิจใหม่ๆจะสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง”
ความน่าสนใจของกลุ่มสามารถฯ ก็คือ ไม่ว่ากระแสธุรกิจใด หรือ กลุ่มคู่แข่งคือใคร กลับไม่มีผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจมากนัก ด้วยแม่ทัพ "วัฒน์ชัย" เน้นสร้างพันธมิตรมากกว่าศัตรู ดั่งสัจธรรมชีวิตที่ว่า "ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวร" นั่นหมายความว่า ธุรกิจใหม่ๆย่อมมีกลุ่มสามารถฯในการเข้าร่วม ทั้งการเข้าร่วมโดยตรงและเข้าร่วมทางอ้อมผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรที่ทำธุรกิจใกล้เคียงกันในตลาดหลักทรัพย์ฯ
หากถามว่า สนใจ ‘Entertainment Complex’ หรือไม่ ?
วัฒน์ชัย เล่าว่า โครงการเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ ช่วยให้การท่องเที่ยวครบทุกมิติ ซึ่งกลุ่มสามารถฯมีความเชี่ยวชาญด้านการวางระบบไอซีทีโซลูชันผ่าน "บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL"
ทำให้มั่นใจศักยภาพในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการวางระบบหลังบ้านให้กับโครงการดังกล่าวได้ เบื้องต้นมีการพูดคุยในรายละเอียดงานบางส่วน เพียงแต่ยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้ เนื่องด้วยต้องรอความชัดเจนด้านกฎหมาย
ท้ายที่สุด ความน่าสนใจของ "กลุ่มสามารถฯ" นอกจากการปรับกลยุทธ์ และความกล้าในการเดินเกมใหม่ๆอยู่เสมอ ก็คือ ทายาทคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ ถือเป็นบริบทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อน "กลุ่มสามารถฯ" ให้เติบโตอย่างมีนัยยะในอนาคต
รวมถึงการโหนกระแสธุรกิจ ‘Entertainment Complex’ ที่มีทั้งการจัดการระบบเทคโนโลยี การบริหารระบบ การจัดการบุคลากรที่เชี่ยวชาญ หรือ การฝึกอบรม เป็นต้น เราคงต้องติดตามต่อไปว่า "กลุ่มสามารถฯ" จะเข้าร่วมในรูปแบบใด แต่เชื่อได้ว่า สิ่งไหนที่สร้าง "โอกาส และผลลัพธ์ที่คุ้มค่า" ย่อมมี "กลุ่มสามารถฯ"เสมอ เฉกเช่นที่ผ่านมา
ผ่าอาณาจักรแสนล้าน "เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์" เช็คด่วน! 23 หุ้นรับอานิสงส์
SAMART ชูธง 2025 ปีทองไอซีที-การบินโตแรง หนุนเป้ารายได้ 13,500 ล้านบาท