
13 บจ.แห่ซื้อหุ้นคืน 3 หมื่นล้าน "อัสสเดช"แนะนำเงินลงทุนดันธุรกิจโตยั่งยืน
เข้าสู่ฤดู “การซื้อหุ้นคืน” หรือ Treasury Stock หนึ่งในกลยุทธ์ทางการเงินที่บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ใช้ในการนำเงินสดส่วนเกินไป “ซื้อหุ้นของตัวเอง” โดยหุ้นที่ถูกซื้อคืนจะถูกนำออกจากการหมุนเวียนในตลาด และเมื่อจำนวนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดลดลง มีโอกาสทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้น และอาจสามารถช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2567 จนถึงปัจจุบันในปี 2568 พบว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 13 บริษัทประกาศซื้อหุ้นคืน จำนวน 4,290 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 30,915 ล้านบาท
โดย 4 บริษัทใหญ่ซื้อหุ้นคืนมากกว่า 1,000 ล้านบาท นำโดย "ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB" ซื้อสูงสุด 21,000 ล้านบาท คาดวงเงินก้อนแรกไม่เกิน 7,000 ล้านบาท จำนวนซื้อคืนไม่เกิน 3,500 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 3.6% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด
รองลงมา คือ "บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK" และ "บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU" ซื้อหุ้นคืนบริษัทละ 3,000 ล้านบาท สุดท้ายคือ "บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TOA" มูลค่า 1,300 ล้านบาท
และ อีก 9 บริษัทซื้อคืนหุ้นระดับ 50 - 700 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้คือ "บริษัท ทีคิวเอ็ม อัลฟา จำกัด (มหาชน) หรือ TQM" มูลค่า 700 ล้านบาท จำนวน 30 ล้านหุ้น ระยะเวลา 2 ม.ค.-30 มิ.ย.2568
"บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SNNP" มูลค่า 640 ล้านบาท จำนวน 40 ล้านหุ้น ระยะเวลา 23 ธ.ค. 2567-20 มิ.ย.2568
"บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) หรือ EKH" มูลค่า 400 ล้านบาท จำนวน 63 ล้านหุ้น ระยะเวลา 13 ม.ค.-11 ก.ค. 2568
"บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT" มูลค่า 250 ล้านบาท จำนวน 80 ล้านหุ้น ระยะเวลา 14 พ.ย. 2567-13 พ.ค.2568
"บริษัท โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จำกัด (มหาชน) หรือ RPH มูลค่า 200 ล้านบาท จำนวน 35 ล้านหุ้น ระยะเวลา 13 ธ.ค.2567-13 มี.ค.2568
"บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SUSCO" มูลค่า 155 ล้านบาท จำนวน 50 ล้านหุ้น ระยะเวลา 10 ม.ค.-9 ก.ค. 2568
"บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) หรือ SONIC" มูลค่า 120 ล้านบาท จำนวน 75 ล้านหุ้น ระยะเวลา 15 พ.ย. 2567-12 พ.ค.2568
"บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP" มูลค่า 100 ล้านบาท จำนวน 7 ล้านหุ้น ระยะเวลา 20 พ.ย.2567-19 พ.ค.2568
"บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW" มูลค่า 50 ล้านบาท จำนวน 20 ล้านหุ้น ระยะเวลา 16 ธ.ค.2567 -13 มิ.ย.2568
"อัสสเดช คงสิริ" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ให้สัมภาษณ์กับ "โพสต์ทูเดย์" ว่า การซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) ถือเป็นกลไกที่ดีและมีการใช้ในตลาดหุ้นทั่วโลก โดยภาพรวมมองเป็นบวกหลายด้านไม่ใช่เพียงการพยุงราคาหุ้นเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มอัตราส่วนผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เช่นกัน เนื่องด้วยจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นแต่ผลตอบแทนเท่าเดิมซึ่งดีต่อราคาหุ้น เป็นการคืนทุนให้กับผู้ถือหุ้นคล้ายการจ่ายเงินปันผล
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งประกาศซื้อหุ้นคืนจำนวนมาก ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ปัจจุบันอยู่ที่ 17-18 ล้านล้านบาท ยังถือว่ามีสัดส่วนที่น้อยมากและสามารถซื้อหุ้นคืนในตลาดได้เพิ่มขึ้น
สำหรับกรณีหุ้นแบงก์ อย่าง TTB ซื้อหุ้นคืนระดับ 2 หมื่นล้านบาทเป็นการทยอยเป็นรอบๆ ในระยะเวลา 3 ปี มูลค่าจริงไม่ได้สูงมากเทียบมูลค่าบริษัท ซึ่งบางธุรกิจมีแผนลงทุน มีทุนเพียงพอสามารถนำเงินหรือกำไรมาคืนผู้ถือหุ้นผ่านการซื้อหุ้นคืนเป็นด้านบวกต่อราคาหุ้น
แต่ในมุมของตลาดหลักทรัพย์ฯอยากให้พื้นฐานการลงทุนธุรกิจดีกว่าเพราะยั่งยืนมากกว่า
“ภาวะราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในช่วงนี้มีปัจจัยค่อนข้างมาก แต่ที่สะท้อนดีคือราคาต่ำกว่า P/BV อย่างกลุ่มแบงก์ หรือทั้งตลาดมีจำนวนไม่น้อยน่าจะเกิน 50 % ของตลาดหุ้นมาจากการไม่ได้ลงทุนเก็บส่วนทุนเอาไว้เยอะ มองแนวทางแก้ไขคือการใช้โปรแกรม Jump+ จะช่วยผลักดันให้บริษัทในตลาดสะสมทุนจำนวนมากไปพัฒนาธุรกิจ สร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดด คาดแผนนี้จะชัดเจนภายใน 2 เดือน”
อย่างไรก็ดี แนวทางฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดทุนยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นมากขึ้น ทั้งราคาหุ้นมีการซื้อขายกระจุกตัว มีความผันผวนที่ไม่เป็นไปตามพื้นฐานต้องมีการขอให้บริษัทชี้แจง หรือแจ้งเตือนนักลงทุนให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยควบคุมดูแลทั้งเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯและระบบเทคโนโลยี AI