ส่องสาเหตุ AOT หุ้นร่วงกราว สวนงบ Q1/68 กำไรพุ่ง 17% ล่าสุด ตลท.สั่งแจงราคาวูบ

ส่องสาเหตุ AOT หุ้นร่วงกราว สวนงบ Q1/68 กำไรพุ่ง 17% ล่าสุด ตลท.สั่งแจงราคาวูบ

15 กุมภาพันธ์ 2568

เปิด 3 สาเหตุ AOT ราคาหุ้นร่วง 13.76% สวนทางงบไตรมาส 1/68 กำไรพุ่ง 17% แตะ 5,344.30 ล้านบาท ฟาก “กีรติ” ลั่น “คิงเพาเวอร์” ค้างจ่ายค่าตอบแทน ไร้ผลกระทบรายได้ ล่าสุด ตลท. สั่งชี้แจงกรณีราคาหุ้นดิ่งแรง เพื่อนักลงทุนรับทราบข้อเท็จจริง

KEY

POINTS

  • เปิด 3 สาเหตุ AOT ราคาหุ้นร่วง 13.76% สวนทางงบไตรมาส 1/68 กำไรพุ่ง 17% แตะ 5,344.30 ล้านบาท 
  • ฟาก “กีรติ” ลั่น “คิงเพาเวอ

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ได้ออกมาประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2568 (ต.ค.-ธ.ค.2567) มีกำไรสุทธิรวม 5,344.30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 781.27 ล้านบาท คิดเป็น 17.12% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

โดยมีรายได้รวม 17,906.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.41% ซึ่งรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 1,956.27 ล้านบาท คิดเป็น 12.45% แบ่งเป็นรายได้เกี่ยวกับกิจการการบินมีจํานวน 8,804.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,727.76 ล้านบาท คิดเป็น 24.41% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของ AOT โดยเฉพาะจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน 19.05% และ 21.52% ตามลำดับ 

รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบินจํานวน 8,859.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 228.51 ล้านบาท คิดเป็น 2.65% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 10,353.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,086.70 ล้านบาท หรือ 11.73% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน

สำหรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) งวด 3 เดือน มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวม 33.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.41% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 20.85 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 12.77 ล้านคน ในขณะที่มีจำนวนเที่ยวบินรวม 204,549 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.78% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 117,333 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 87,216 เที่ยวบิน

ปัจจัยที่ทำให้ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นว่า เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจของภาครัฐ และวันหยุดยาว (Golden Week) ของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากทั้งตลาดระยะไกล (Long Haul) และตลาดระยะใกล้ (Short Haul)

อีกทั้ง AOT ยังสนับสนุนนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมเส้นทางการบินใหม่โดยลดค่าธรรมเนียมสำหรับสายการบินที่เปิดเส้นทางใหม่ โครงการลดค่าเช่าสำหรับสายการบินที่ย้ายไปใช้อาคาร SAT-1 และโครงการสนับสนุนการตลาดสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่และเชียงราย โดยการให้เงินสนับสนุน 300 บาทต่อผู้โดยสารหนึ่งคนสำหรับเที่ยวบินที่เข้าเงื่อนไข เป็นต้น

ราคาหุ้นดิ่ง 13.76% เซ่น 3 ปัจจัย  

จากนั้นในวันที่ 14 ก.พ.2568 ที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT กลับปรับตัวลดลง 13.76% หรือลดลง 7.50 บาท มาปิดการซื้อขายที่ 47.00 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 8,720.08 ล้านบาท โดสาเหตุมาจาก 1.กำไรสุทธิในไตรมาส 1/2568 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ 

2.รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์โตต่ำกว่าคาด เนื่องจากมีรายได้บางส่วนที่ไม่ได้เพิ่มตามปริมาณผู้โดยสาร และ 3.ยอดลูกหนี้ค้างจ่ายสูงขึ้นจากผู้ประกอบการในสนามบินมีปัญหาสภาพคล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลายังไม่เกินวงเงินประกันที่ AOT เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ

โดย บล.ฟิลิปปินส์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ราคาหุ้น AOT ปรับตัวลง หลังบริษัทประกาศกำไรสุทธิในไตรมาส 1/2568 (ต.ค.-ธ.ค.2567) มีจำนวน 5,344 ล้านบาท +17% y-y, +25.1%q-q แต่ต่ำกว่าตลาดคาดที่ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/2568 ที่ 5,700-5,800 ล้านบาท เนื่องจากการขอคืนพื้นที่กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ และยกเลิกดิวตี้ฟรีเขาเข้า ส่งผลให้รายได้ Non-Aero ใน 2 พื้นที่ลดลงไปราว 2,800-2,900 ล้านบาท ส่งให้รายได้ ซึ่งเป็นก้อนใหญ่ต่ำกว่าคาด 3.7% รวมไปถึงค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น 16% จากการตั้งสำรองโบนัสและพนักงานบริษัทย่อยที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรออกมาต่ำคาด 7.4% 

บล.กรุงศรี ระบุว่า สาเหตุที่ราคาหุ้น AOT ปรับตัวลงแรงวันนี้ มีประเด็นกังวล 2 ประเด็น ได้แก่ 1. รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์โตต่ำกว่าคาด เนื่องจากมีรายได้บางส่วนที่ไม่ได้เพิ่มตามปริมาณผู้โดยสาร และ 2. ยอดลูกหนี้ค้างจ่ายสูงขึ้นจากผู้ประกอบการในสนามบินมีปัญหาสภาพคล่อง แต่อย่างไรก็ตาม ระยะเวลายังไม่เกินวงเงินประกันที่ AOT เรียกเก็บจากผู้ประกอบการ

โดยหนึ่งในลูกหนี้สำคัญ คือ  King Power หลังกลุ่ม King Power ขอเลื่อนชำระค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee : MG) เดือน ส.ค 2567-ก.พ. 2568  ออกไป 18 เดือน โดยยอมจ่ายค่าปรับ 18% ต่อปี

ทั้งนี้ คาดว่ามีมูลเหตุจากปมขาดสภาพคล่องของ King Power เพื่อให้การดำเนินงานของสนามบิน คือ ธุรกิจดิวตี้ฟรี พื้นที่เช่า ที่กลุ่ม King Power เป็นผู้รับสัมปทานหลัก ให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง

ทำให้ AOT มีการเปลี่ยนเป็นจากลูกหนี้การค้าหมุนเวียน เป็น ลูกหนี้การค้าไม่หมุนเวียน เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนราว 2.7 พันล้านบาท

AOT แจง “คิงเพาเวอร์” ค้างจ่ายค่าตอบแทนไม่กระทบรายได้

อย่างไรก็ตาม ทาง AOT ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณี คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ค้างจ่ายค่าตอบแทน ไม่กระทบรายได้ 

โดย นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวกรณี บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ที่เป็นคู่สัญญาประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) มีปัญหาสภาพคล่อง และมีการเจรจากับ ทอท. เพื่อขอเลื่อนการชำระค่าตอบแทนและปรับสัญญานั้น ผู้ประกอบการคู่สัญญาของทอท.มีปัญหาสภาพคล่องมาตั้งแต่ช่วงเกิดโควิด-19 ซึ่ง ทางคิงเพาเวอร์ฯ ได้ยื่นเสนอขอเจรจาลดค่าปรับกรณีจ่ายค่าตอบแทนล่าช้า ซึ่งตามสัญญากำหนดอัตราดอกเบี้ยค่าปรับล่าช้าจะอยู่ที่ 18% ต่อปี หรือ 1.5% ต่อเดือน โดยอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อลดดอกเบี้ยค่าปรับ ซึ่งจะไม่ต่ำกว่า MLR+2%

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการค้างชำระจ่ายค่าตอบแทนรวมมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยเป็นของคิงเพาเวอร์จำนวน 4,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับโครงสร้างดอกเบี้ยค่าปรับล่าช้าจะไม่รวมในส่วนนี้ โดยผู้ประกอบการรายใดต้องการก็ต้องยื่นเสนอและเข้าเจรจา นับตั้งแต่เดือน ก.พ.2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อเดือน ม.ค.2568 คณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ได้มีมติบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการและสายการบินจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยมีโครงการขยายระยะเวลาชำระเงินของผู้ประกอบการเชิงพาณิชย์และสายการบิน ณ ท่าอากาศยานของทอท.ทั้ง 6 แห่งที่ขาดสภาพคล่อง โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต้องมีหลักประกันสัญญาและวงเงินของหลักประกันสัญญาต้องครอบคลุมเงินต้นรวมกับค่าปรับจากการผิดนัดชำระในอัตราดอกเบี้ย 18%

โดยอัตราดอกเบี้ย คำนวนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู่ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง และบวกเพิ่มอีก 2% ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว จะต้องไม่น้อยกว่าต้นทุนทางการเงิน ของทอท. ที่ประมาณ 3% ซึ่งกรณี MLR+2% ไม่กระทบต่อต้นทุนทางการเงินของ ทอท.

นายกีรติ ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยค่าปรับดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ทอท. เพราะ ทอท. จะยังคงได้รับรายได้เหมือนเดิม หลักการของ ทอท. คือต้องพยายามทำให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เป็นการดำเนินธุรกิจปกติ

ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 1/2568 ถือว่าสูงกว่าที่ ทอท. คาดและสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนด้วย ซึ่งตัวเลขที่ออกมาถือว่า เหมาะสมตามสัดส่วนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 16.5% 

ตลท. สั่งชี้แจงปมราคาหุ้นร่วง 

ล่าสุด นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า จากกรณีราคาหุ้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงกว่า 13.76% นั้น เบื้องต้นตนได้รับทราบเรื่องแล้ว และได้มีการออกหนังสือขอให้ทาง AOT ออกมาชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้น เพื่อให้นักลงทุนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

"ตนเข้าใจว่าการทำธุรกิจเรื่องการเจรจาบางครั้งก็ไม่อาจชี้แจงรายละเอียดในเชิงลึกต่อสาธารณะได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน หรือมีปาร์ตี้ที่ 2 หรือ 3 เข้ามาเกี่ยวข้อง เพียงแต่ก็อยากขอความร่วมมือให้ AOT ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้นักลงทุนได้รับทราบข้อมูลด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ทำให้รายย่อยได้รับผลกระทบมาก" นายอัสสเดช กล่าว 

Thailand Web Stat