
GPSC รายได้โรงไฟฟ้า SPP ดันกำไรปี67 พุ่งแตะ 4.06 พันล้าน-ปันผลอีก 0.45 บาท
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ประกาศผลประกอบการปี 2567 บริษัทและบริษัทย่อยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 90,730 ล้านบาท ลดลง 349 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีรายได้จากการดำเนินงานรวม 91,079 ล้านบาท ผลจากรายได้โรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) ลดลง 2,021 ล้านบาท จากโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วันที่มีค่าเชื้อเพลิงส่วนต่างลดลงจากราคาต้นทุนถ่านหินสูงกว่ารายได้ค่าถ่านหินที่เรียกเก็บจาก กฟผ. นอกจากนี้โรงไฟฟ้า SRC กำไรขั้นต้นลดลงจากการเปลี่ยนการเดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซลปี 66 เป็นก๊าซธรรมชาติในปี 67 ที่มีอัตรากำไรต่ำกว่า
ด้านค่าใช้จ่าย(รวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน) 88,106 ล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงานอื่นจากเงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า 2,147 ล้านบาท
ขณะที่มีกำไรกำไรสุทธิปี 67 ที่ 4,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 368 ล้านบาท หรือร้อยละ 10 จากปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 3,694 ล้านบาท ผลจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก(SPP)เพิ่มขึ้น 3,057 ล้านบาท จากปริมาณความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำลูกค้าอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ค่าเอฟทีส่งผลต่อราคาขายไฟฟ้าอุตสาหกรรมลดลง
บริษัทและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทั้งสิ้น 288,136 ล้านบาท หนี้สินรวม 129,992 ล้านบาท และมีส่วนของผู้ถือหุ้น 119,142 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ในระดับ 0.87 เท่า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายทางการเงินของบริษัท
ปันผลครึ่งหลัง 0.45 บาท
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 คณะกรรมการบริษัทเห็นชอบการจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการประจำปี 2567 เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทประจำปี 2568โดยบริษัทเสนอจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการประจำปี 2567 จำนวน 0.90 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิที่ร้อยละ 62.5
ทั้งนี้ ประกอบด้วยการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 จำนวน 0.45 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,268,878,215 บาท ซึ่งได้จ่ายแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567
และการจ่ายเงินปันผลสำหรับงวด 6 เดือนหลังของปี 2567 จำนวน 0.45 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,268,878,215 บาท กำหนดจะจ่ายปันผลดังกล่าวในวันที่ 23 เมษายน 2567 หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568
ทิศทางเศรษฐกิจปี 2568
หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของภาครัฐและภาคเอกชนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8-3.0 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวในปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 (อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายภาครัฐ
เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงจากสงครามการค้าระลอกใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาที่อาจชะลอตัวลงหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้า
นอกจากนี้ การแข่งขันจากสินค้าจีน ทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออกอาจรุนแรงขึ้น เนื่องจากจีนมีกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการส่งออกสินค้าจีนเข้าสู่ตลาดไทยมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อภา คการผลิตภายในประเทศ ในระยะยาวโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมถึงภาค SMEs และภาคครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ มีภาระหนี้สูง และคุณภาพสินเชื่อยังไม่ดีนัก
ด้านเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2568 จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.1 จากร้อยละ 0.4 ในปี 2567 ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ ร้อยละ 1-3เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปีแต่คาดว่าในปี 2568 จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ รวมถึงบริหารความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น
อัตราค่าไฟฟ้า: อัตราค่าไฟฟ้างวดเดือนมกราคม – เมษายน 2568 อยู่ที่4.15 บาท/หน่วย ลดลงจากงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 ซึ่งอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย อีกทั้งยังมีส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยคิดอัตราค่าไฟ 3.99 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นเดือน เม.ย.2568 คาดว่าจะยังเหลือหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายคืน กฟผ.และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ(กฟผ. และ ปตท.)ที่แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงที่ผ่านมามากกว่า 85,226 ล้านบาท ซึ่งการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวเท่ากับเป็นการยืดภาระหนี้ดังกล่าวออกไป และอาจมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังได้ส่งสัญญาณถึงความพยายามลดค่าอัตราค่าไฟฟ้า ผ่านกลไกต่างๆ ซึ่งยังคงต้องรอดูความชัดเจน เนื่องจากมีประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องพิจารณาและพิจารณารายละเอียดการลดอัตราค่าไฟฟ้าว่าจะเกิดจากกลไกด้านต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติและจากผู้ผลิตไฟฟ้า หรือจากค่าใช้จ่ายด้านการรับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
ราคาก๊าซธรรมชาติ: คาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศ (Pool Gas) ในปี 2568 อยู่ที่ 303 บาทต่อล้านบีทียูใกล้เคียงกับปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 304 บาทต่อล้านบีทียู แต่ราคาก๊าซธรรมชาติยังอาจผันผวนจากความเสี่ยงของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าประมาณร้อยละ 30 ของอุปทานก๊าซธรรมชาติ
ประกอบกับสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านอุปทาน ภายหลังสัญญาข้อตกลงการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียผ่านยูเครนสู่ยุโรปสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2567 โดยไม่มีการต่อสัญญา ประกอบกับความต้องการในช่วงฤดูหนาวซึ่งมีแนวโน้มอุณหภูมิต่ำกว่าปกติในยุโรป แม้ว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมพ์ของสหรัฐฯ จะมีนโยบายสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลก็ตาม แต่คาดว่ายังต้องใช้เวลาสักระยะจึงจะมีแหล่งอุปทานใหม่เข้ามาในตลาด
ราคาถ่านหิน: คาดการณ์ราคาถ่านหิน (NEWC) ในปี 2568 อยู่ที่ 125 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลดลงจากปลายปี2567 ซึ่งอยู่ที่ 135 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน โดยมีปัจจัยสำคัญได้แก่ความพยายามผลิตถ่านหินในประเทศของจีนกับอินเดียเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับประเทศผู้ใช้ถ่านหินรายใหญ่ในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มีปริมาณถ่านหินคงเหลือเพียงพอสำหรับฤดูหนาวช่วงต้นปี และแนวโน้มความต้องการระยะสั้นยังคงไม่เพิ่มขึ้น จากการที่กลุ่มประเทศในยุโรป และในประเทศจีน มีความพยายามลดการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนในฐานะผู้นำเข้ารายใหญ่ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทยีบกับดอลลาร์สหรัฐในปี 2568 คาดว่าจะมีความผันผวน โดยตลาดยังคงต้องติดตามทิศทางการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐ และการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงธนาคารกลางของประเทศหลักๆทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน
อีกทั้งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศที่อาจช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐคาดว่าในปี 2568 จะเคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ในช่วง 35.2-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (Bloomberg Consensus ณ วันที่ 31 ม.ค.2568)
4 ปัจจัยสะท้อนภาพอนาคต
ปัจจัยที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานหรือการเติบโตในอนาคต ข้อแรก คือ "ความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศ" บนสมมุติฐานค่าเฉลี่ยความยืดหยุ่นของปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ประมาณ 0.9 เท่า และการคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2568
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยทำให้ประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.6 ในปี 2568 โดยการใช้ไฟฟ้าในประเทศที่สูงขึ้นจะมีผลต่อการเรียกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และรวมถึงปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรม หากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเป็นไปได้ด้วยดี
ต่อมา คือ "ต้นทุนเชื้อเพลิงนำเข้า" โดยเฉพาะ LNG ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2567 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ขณะที่ค่า Ft มีแนวโน้มปรับตัวลดลง (อัตราค่าไฟฟ้างวดมกราคม – เมษายน 2568 เท่ากับ 4.15 บาท
ขณะที่งวดกันยายน – ธันวาคม 2567 เท่ากับ 4.18) ตามนโยบายของภาครัฐที่พยายามรักษาระดับค่าไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม ถึงแม้ว่าต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่า Ft จะมีผลโดยตรงต่อรายได้การขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนหนึ่งมีโครงสร้างสัญญาเชื่อมโยงกับอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ทั้งนี้บริษัทฯคาดว่าจะมีผลกระทบในระดับที่จำกัดเนื่องจากสัญญาส่วนใหญ่สามารถส่งต่อต้นทุนพลังงานไปยังราคาขายได้
ข้อสาม คือ "การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าในอนาคต" อาจส่งผลกระทบต่อราคาขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมที่อ้างอิงตามราคาขายปลีกของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทั้งนี้เนื่องจากการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าครั้งใหญ่ของประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2558
ปัจจุบันถึงกำหนดระยะเวลาในการทบทวนแล้ว (ทุก 3 - 5 ปี) เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 และวิกฤติพลังงาน ซึ่งการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงานหลายประเภทที่เปลี่ยนไป อาทิ ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามแผน PDP ฉบับใหม่ ต้นทุนด้านระบบสายส่งไฟฟ้า ต้นทุนด้านการบริหารจัดการเสถียรภาพที่เพิ่มขึ้นเมื่อมีการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับนโยบายภาครัฐและ กฟผ. ในระยะยาว
สุดท้าย คือ "การเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access: TPA)" เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับลูกค้านอกพื้นที่ได้โดยตรง (Direct PPA) ส่งผลให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนถูกขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว