
อนาคต "BANPU" พลิกเกมสู่พลังงานอนาคต โต้คลื่นวิกฤติ
เทรนด์โลกแปรเปลี่ยนสู่ "พลังงานสะอาด" ธุรกิจพลังงานดั้งเดิมหากไม่ปรับเปลี่ยนย่อมกระทบอนาคตธุรกิจ "บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU" หนึ่งในผู้นำธุรกิจพลังงานที่พลิกโฉมครั้งใหญ่จากอุตสาหกรรมถ่านหินสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีพลังงานแห่งอนาคต เพื่อรองรับแนวโน้มโลกที่มุ่งสู่ความยั่งยืน
แต่ด้วยความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และความเสี่ยงจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ธุรกิจ BANPU จะก้าวสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายได้หรือไม่ ? หรือ ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ยากเกินกว่าจะแก้ไข ?
ทายาทธุรกิจคนสำคัญ "สินนท์ ว่องกุศลกิจ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU ยืนยันว่าทิศทางพลังงานโลกคาดการณ์ดีมานด์เพิ่มขึ้นเท่าตัวในปี 2050 ขณะที่ทิศทางในช่วงระยะสั้นและระยะกลางเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และประชากรโลกที่มากขึ้น ล้วนเป็นส่วนช่วยทําให้ดีมานด์เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมพลังงานต้องใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์อย่างล่าสุดนโยบายภาครัฐในหลายประเทศอยากให้พลังงานในประเทศมีประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพมากขึ้น บ้านปูเน้นเรื่องนี้อย่างมาก ที่ผ่านมาเคยกล่าวถึงเรื่องพลังงาน 3 ด้าน คือ "พลังที่มีใช้ต่อเนื่อง เข้าถึงได้ราคาสมเหตุผล และพลังงานที่มีคาร์บอนต่ำ"
ยิ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ราคาพลังงานจึงสําคัญต่อการแข่งขันของประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะเข้ามาในประเทศไทยด้วยปัจจัยอะไรเพราะราคาพลังงานที่ต่ำ ถือเป็นจุดขายของประเทศอย่างหนึ่ง
"บ้านปูมีธุรกิจหลายประเทศที่ให้ความสิ่งสําคัญในเรื่องเสถียรภาพพลังงาน ผมว่ามันคือ passion ของพวกเราที่จะทําเรื่องนี้ให้สําเร็จ"
กลับมาที่เรื่องของผลประกอบการ แม้ที่ผ่านมา "บ้านปู" ปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้รับกับเทรนด์พลังงานสะอาดมากเพียงใดและพยายามปรับลดสัดส่วนธุรกิจถ่านหินลง แต่ถึงกระนั้นยังหลบเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนในโลกนี้ได้ยาก
เชื่อหรือไม่ว่า! ผลประกอบการปี 2567 มีรายได้จากการขายรวม 5,148 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 181,549 ล้านบาท กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา(EBITDA)รวม 1,330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 46,970 ล้านบาท กำไรจากการดำเนินงาน 83.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2,964 ล้านบาท แต่กลับ "พลิกขาดทุนสุทธิ 23.67 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 682.42 ล้านบาท" ครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ด้วยสาเหตุหลักคือการด้อยค่าเงินลงทุนจากการขายสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ ประเทศญี่ปุ่น และการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินบาท
ส่งผลให้ราคาหุ้น BANPU ร่วงต่ำส่งท้ายเดือนกุมภาพันธ์ลงไปแตะ 4.04 บาท ก่อนที่จะฟื้นกลับมาปิดสวยในวันนี้(5 มี.ค.68) ที่ 4.44 บาท เพิ่มขึ้น 0.28 บาท คิดเป็น +6.73%
คำถามสำคัญคือ ปี 2568 ที่ธุรกิจยังเผชิญความท้าทายเช่นเดิมและอาจมีความเสี่ยงจากนโยบายของ "ทรัมป์" ที่เพิ่มขึ้นนั้น โอกาสที่ผลประกอบการปี 2568 นี้จะพลิกกลับมามีกำไรได้หรือไม่ ?
คุณสินนท์ ยืนยันว่า "ในไตรมาส 1/2568 กระแสเงินสดของบ้านปูแข็งแกร่ง Productionยังดี ด้านราคาแก๊ซกลับมาแล้ว ราคาถ่านหินลดลงในช่วงแรกเนื่องจากว่าเป็นช่วงของการที่สต๊อกถ่านหิน ซัพพลายของโลกตอนนี้มีค่อนข้างเยอะ และหลังจากที่สต๊อกเสร็จดีมานด์แล้วจะเข้ามาตามฤดูกาลธุรกิจในไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 4 ของปีนี้"
"โพสต์ทูเดย์" จึงถามย้ำอีกครั้งว่า สรุปผลงานปี้จะกลับมาบวก ใช่หรือไม่ ?
"หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น เรายังแข็งแรง"
โอกาสทางธุรกิจ "บ้านปู" ในปี 2568 วางเป้าปริมาณขายถ่านหินราว 45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 10-20% จากปีก่อน จากกำลังผลิตในประเทศอินโดนีเซีย เป้าหมาย 8.2 ล้านตัน, ออสเตรเลีย เป้าหมาย 20.8-21.9 ล้านตัน และ จีน เป้าหมาย 10 ล้านตัน
ธุรกิจก๊าซและโรงไฟฟ้า ถือว่าแข็งแกร่งขึ้นจากราคาก๊าซที่สูงขึ้น อีกทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจถ่านหินการผลิตยังดี แต่ยังต้องติดตามราคาถ่านหิน
"ตั้งเป้าลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มอีก 1,500 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในประเทศยุทธศาสตร์ และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน เน้นลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่จะเสริมการทำงานระหว่างระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้พลังงานหมุนเวียนมีความต่อเนื่อง"
ด้าน "ธุรกิจการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Sequestration : CCUS) มีโครงการใหม่ๆ ขณะอัตราแลกเปลี่ยน คาดค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่า
"ปีนี้ให้ความสำคัญกับธุรกิจเรือธง โดยเฉพาะธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่จะสร้างการเติบโตเชิงกลยุทธ์ทั้งธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ โดยจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ราคาก๊าซ ส่วนธุรกิจเหมืองคาดว่าจะใช้ AIและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและลดคาร์บอนผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบการจัดการอัจฉริยะ นอกจากนี้ยังมองหาแร่นิกเกิล (Nickel) ที่ตอบโจทย์พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น"
ท้ายที่สุด กลุ่มธุรกิจ BANPU ถือว่ามีโอกาสในการเติบโตผ่านการลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีใหม่ๆที่เข้ามาเพิ่มขึ้นในอนาคต แต่สิ่งที่น่าติดตามก็คือ การบริหารจัดการความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน