
ชำแหละ ก.ล.ต.ขอ พรก.ติดดาบ! ฟื้นตลาดหุ้น หรืออาวุธกลั่นแกล้ง?
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา วงการตลาดทุนไทยต้องสั่นสะเทือนกับกระแสข่าวการผลักดัน "พระราชกำหนด (พ.ร.ก.)" ที่ขยายอำนาจให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก การเรียกเอกสาร การสอบสวนพยาน ไปจนถึงการตัดสินโทษทางแพ่งและอาญาอย่างรวดเร็ว
เป็นความเคลื่อนไหวหลังจากนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. พร้อมด้วยนายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดี (ดีเอสไอ) เข้าพบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา
การแก้ไขดังกล่าวหากดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในขั้นตอนสภา ไม่มีข้อสงสัย ทว่าการเร่งรัดออกเป็น พ.ร.ก.ซึ่งใช้สำหรับกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วน กลายเป็นเรื่องที่จับตามองว่ามีวาระซ่อนเร้นมากกว่าหวังฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้น และเพื่อสกัดทุจริต ซึ่งจากข้อมูลปี2567 การดำเนินคดีมีอยู่แล้วถึง 13 คดี จำนวนผู้กระทำผิด 87 ราย
อาทิ บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) มีปัญหาคาบเกี่ยวมาตั้งแต่ปลายปี 2565 จากกรณีพบปริมาณการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติกระจายในหลายโบรกเกอร์,
บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ถือเป็นการทุจริตครั้งใหญ่ที่สุดของตลาดหุ้นไทย ซึ่งขอเลื่อนส่งงบการเงินถึง 3 ครั้งให้เหตุผลว่าข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินงาน
ล่าสุดกับกรณี "บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG)" ได้รับผลกระทบทางอ้อมกรณี "หมอบุญ วนาสินและพวกรวม 9 คน" หลอกลวงเรื่องโครงการลงทุนทิพย์
อีกเหตุหนึ่งในการเพิ่มอำนาจ ก็คือ ต้องการฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมาลงทุนตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ทั้งๆ ที่การแก้ปัญหาตลาดหุ้นวันนี้โจทย์ใหญ่อยู่ที่มาตรการกกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เนื่องจากตลาดหุ้นไทยมีความใกล้ชิดกับเศรษฐกิจในภาพใหญ่
โดยภาพรวมตลาดหุ้นตลอด 5 ปี (นับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 ถึง 24 มีนาคม 2568) ดัชนียังเพิ่มขึ้น 156.22 จุด คิดเป็น +15.11%
หากโฟกัส ตลาดหุ้นในรอบ 3 ปี (ตั้งแต่ 25 มีนาคม 2563 ถึง 24 มีนาคม 2568) ดัชนีร่วงทิ้งดิ่ง -490.83 จุด คิดเป็น -29.20%
ขณะที่ นับตั้งแต่ต้นปี 2568 จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 2 มกราคม-24 มีนาคม 2568) ดัชนีลดลง -210.15 จุด คิดเป็น -15.01% อยู่ที่ระดับ 1,190.06 จุด
SETSMART
มุมบวกอาจมองได้ว่าการให้อำนาจ ก.ล.ต.ช่วยสกัดกั้นการทุจริตที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้เร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนให้มากความ แต่ทางกลับกันการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่เดียวนั้นการตรวจสอบหรือคัดค้านยากยิ่งนัก
หากไม่มีการพัฒนากลไกควบคุมเชิงโครงสร้าง การเสริมสร้างจริยธรรมทางธุรกิจ และการปรับปรุงการกำกับดูแลภายในองค์กรอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาจากรากฐานจะได้จริงหรือเป็นเพียงการแก้ไขปลายเหตุ
ยิ่งไปกว่านั้นหากอำนาจที่ได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงและควบคุมคู่แข่งทางการเมืองในอนาคต ผลกระทบอาจมากมายมหาศาล ความไม่ชัดเจนในการบังคับใช้และการกำกับดูแลอาจเป็นช่องว่างที่นำไปสู่การใช้อำนาจในเชิงการเมืองและผลประโยชน์ส่วนตนได้
เมื่อเบื้องหลังเกมนี้ มีกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ในตลาดหุ้นและมีความใกล้ชิดกับนักการเมืองในรัฐบาล อยู่เบื้องหลังและมีเครือข่ายใน ก.ล.ต. ความกังวลจึงอยู่ที่เมื่อมีการแก้ไขให้อำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะมีการใช้กลั่นแกล้งทำลายฝ่ายตรงกันข้าม
การขยายอำนาจ ก.ล.ต. ด้วย พ.ร.ก. จึงมีข้อสังเกตว่าเป็นการตอบสนองต่อวิกฤตทุจริตในตลาดทุนไทยอย่างฉับไว ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้น หรือมีวาระซ่อนเร้นของคนบางกลุ่ม
ถ้า ก.ล.ต.จะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง วงการตลาดทุนไทยต้องเครือข่ายเตรียมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน?!...