posttoday
ส่องร่าง พ.ร.ก. ใหม่! ก.ล.ต.ได้อำนาจเต็มคุมเกมตลาดทุน

ส่องร่าง พ.ร.ก. ใหม่! ก.ล.ต.ได้อำนาจเต็มคุมเกมตลาดทุน

27 มีนาคม 2568

เปิดร่าง พ.ร.ก. แก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ฯขยายอำนาจ ก.ล.ต. สั่งสืบสวน-สอบสวน-ฟ้องคดีอาญาได้หากอัยการไม่สั่งฟ้อง จับตาการเปลี่ยนแปลงสะเทือนวงการตลาดทุนอย่างไร ?

KEY

POINTS

  • เปิดร่าง พ.ร.ก. แก้ไขกฎหมายหลักทรัพย์ฯขยายอำนาจ ก.ล.ต. สั่งสืบสวน-สอบสวน-ฟ้องคดีอาญาได้หากอัยการไม่สั่งฟ้อง
  • จับตาการเปลี่ย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง กำลังจะเสนอร่างพระราชกำหนดแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

สาระสำคัญของร่างพ.ร.ก. ฉบับดังกล่าวตือ การเพิ่มหมวดใหม่ เรื่อง "การสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่" โดยให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สามารถสืบสวนและสอบสวนความผิดบางประเภทได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องรอการทำงานของตำรวจเหมือนที่ผ่านมา

ในร่างของกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่ได้ระบุนิยามความผิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถสืบสวนและสอบสวนได้โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ความผิดตามมาตรา 296 ประกอบกับมาตรา 240 มาตรา 242 หรือมาตรา 244/3 (1)
2. ความผิดตามมาตรา 296/1 ประกอบกับมาตรา 244/3 (2)
3. ความผิดอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต.

ความผิดส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน (Market Misconduct) เช่น การใช้ข้อมูลภายใน (Insider Trading) การสร้างราคาหลักทรัพย์ (Market Manipulation) และการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ (False Disclosure) ซึ่งเป็นความผิดที่ ก.ล.ต.มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบเป็นพิเศษ

กฎหมายใหม่กำหนดให้ "พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวน" หมายถึง เลขาธิการ ก.ล.ต. หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เลขาธิการมอบหมายให้สืบสวนและสอบสวนการกระทำที่อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่สืบสวนและสอบสวนได้เป็นรายกรณี

อำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวนตามมาตรากฎหมายที่เสนอ คือ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. มีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาและมีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เฉพาะสำหรับความผิดที่กำหนดเท่านั้น

ตำรวจร่วมจับกุม

แม้จะมีอำนาจสอบสวน แต่กฎหมายระบุข้อจำกัดไว้ว่าอำนาจและหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. "ไม่รวมถึงการจับ การควบคุมผู้ถูกจับ การขัง และการปล่อยชั่วคราว" ซึ่งยังคงเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือตำรวจ

พร้อมกำหนดว่าในกรณีที่ต้องดำเนินการจับ ควบคุมผู้ถูกจับ ขัง หรือปล่อยชั่วคราว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวนแจ้งให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือข้าราชการตำรวจที่มีอำนาจสอบสวนความผิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่สืบสวนและสอบสวนได้ เป็นผู้ดำเนินการต่อไป

กฎหมายยังเปิดช่องให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวนสามารถนำข้อมูล ข้อเท็จจริง เอกสาร และหลักฐานต่างๆ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่รวบรวมไว้ก่อนที่เลขาธิการจะแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวนสำหรับคดีนั้น มาเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นสำหรับข้อมูลการให้ถ้อยคำของผู้ต้องหา เว้นแต่ในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้มีการดำเนินการโดยสอดคล้องกับกระบวนการตามมาตรา 134 มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 มาตรา 134/3 มาตรา 134/4 และมาตรา 135 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไว้แล้ว

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ก. ยังกำหนดวิธีการทำงานระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. กับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยระบุว่า หากพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนคดีอาญาเรื่องใดไปแล้ว แต่ต่อมาปรากฏว่าคดีนั้นเป็นความผิดที่พนักงานเจ้าหน้าที่สืบสวนและสอบสวนได้ และสำนักงาน ก.ล.ต. รับจะดำเนินการคดีนั้นเอง พนักงานสอบสวนอาจส่งมอบสำนวนการสอบสวนคดีนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวนดำเนินการต่อไปก็ได้

กระบวนการส่งสำนวนให้อัยการ

ขั้นตอนการส่งสำนวนให้อัยการนั้นในร่างพ.ร.ก. ระบุขั้นตอนเมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวนต้องเสนอสำนวนการสอบสวนต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งมีทั้งกรณีที่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิด กรณีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดแต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ และกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมหรือถูกขังอยู่

ในทุกกรณี เลขาธิการ ก.ล.ต. จะต้องทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการฟ้องคดีต่อศาล

เพิ่มอำนาจฟ้องคดีหากอัยการเห็นต่าง

ในกรณีที่เลขาธิการ ก.ล.ต. เสนอความเห็นควรสั่งฟ้องไปยังพนักงานอัยการ แต่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่คำสั่งของอัยการสูงสุด ให้พนักงานอัยการส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งให้เลขาธิการพิจารณาต่อไป

หากเลขาธิการแย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ กฎหมายกำหนดให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นที่แย้งกันไปยังอัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาด แต่ถ้าคดีจะขาดอายุความหรือมีเหตุอย่างอื่นอันจำเป็นจะต้องรีบฟ้อง ก็ให้ฟ้องคดีนั้นตามความเห็นของเลขาธิการไปก่อน

บทบัญญัตินี้ยังให้นำมาใช้บังคับในการที่พนักงานอัยการจะอุทธรณ์ ฎีกา หรือถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์และถอนฎีกา โดยอนุโลม

เปิดทาง ก.ล.ต.สอบสวน

ในร่างกฎหมายให้อำนาจสำนักงาน ก.ล.ต. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ออกระเบียบในเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการพิจารณาให้มีการสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงหลักเกณฑ์และวิธีการในการสืบสวนและสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการสืบสวนและสอบสวน ตลอดจนการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษและค่าใช้จ่ายอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการสืบสวนและสอบสวนดังกล่าว

ขณะเดียวกันยังระบุให้นำบทบัญญัติต่างๆ จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับกับการสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย โดยอนุโลม ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่หลักทั่วไป อำนาจพนักงานสอบสวนและศาล หมายเรียกและหมายอาญา ขั้นตอนการค้น และหลักการสอบสวน

ทั้งนี้ การนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลมนี้ จะช่วยให้การสืบสวนและสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. มีมาตรฐานทางกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการสอบสวนคดีอาญาโดยทั่วไป

ก.ล.ต.ให้เหตุผลว่า การเพิ่มอำนาจให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. สามารถสืบสวนและสอบสวนคดีอาญาได้เองนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต ที่การดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดในตลาดทุนมีความล่าช้า เนื่องจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีความซับซ้อน และต้องใช้ความรู้เฉพาะทาง

Thailand Web Stat