ตลท. จี้ SABUY-TSR-PTECH ชี้แจงงบปี 67-เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูล

27 มีนาคม 2568

ตลท. สั่ง SABUY-TSR-PTECH ชี้แจงงบปี 67 หลังผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตหลายประเด็น ภายใน 3 เม.ย.68 พร้อมเตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลรอบคอบ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขอให้ บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 โดยผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกต ดังนี้ 

(1) ทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือสูญหาย 215 ล้านบาท 

(2) การประเมินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ธุรกิจให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ยังไม่แล้วเสร็จ (มีค่าความนิยม 71%
ของมูลค่าซื้อ) อาจมีการปรับปรุงมูลค่าในอนาคต 

(3) ความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 6,238 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3,283%) มีขาดทุนสะสม 8,152 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,103%)

ข้อมูลสำคัญในงบการเงินประจำปี 2567

ผู้สอบบัญชีพบว่ามีทรัพย์สินและสินค้าคงเหลือสูญหายรวม 215 ล้านบาท ซึ่งบริษัทบันทึกค่าความเสียหายดังกล่าว ในงวดไตรมาส 4/2567 โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินของบริษัท 114 ล้านบาท (53%) ของ PTECH 89 ล้านบาท (41%) และที่เหลือเป็นของบริษัทย่อยอื่น ปัจจุบันคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึก

เดือนต.ค.2567 บริษัทซื้อ บจก. ลอคบอกซ์ กรุ๊ป (LOCKBOX) และ บจก. ลอคบอกซ์ เวนเจอร์ส (LOCKVENT) ซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ ในราคา 360 ล้านบาท โดยมีค่าความนิยม 257 ล้านบาท (71% ของมูลค่าซื้อ) ซึ่งการประเมินมูลค่ายุติธรรมยังไม่แล้วเสร็จ อาจมีการปรับปรุงมูลค่าในอนาคต

บริษัทมีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 6,238 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,283%) มีขาดทุนสะสม 8,152 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,103%) รวมทั้งบริษัทถูกสถาบันการเงิน ฟ้องคดีแพ่งจากการผิดนัดชำระหนี้ สรุปสาเหตุสำคัญที่บริษัทขาดทุนสูงมาก ดังนี้

(1) ผลกระทบจากการลงทุนใน TSR AS PTECH และบริษัทอื่น 5,731 ล้านบาท 

(2) ขาดทุนจากการวัดค่าสินทรัพย์ทางการเงิน 111 ล้านบาท 

(3) ขาดทุนจากการด้อยค่าธุรกิจและยกเลิกสัญญาทางธุรกิจ 416 ล้านบาท 

(ธุรกิจที่ดังด้อยค่า ได้แก่ ธุรกิจช่องทางการจัดจำหน่ายและเชื่อมต่อเข้าถึงลูกค้า ธุรกิจบริการด้านชำระเงินและระบบ การเงินอิเลคทรอนิกส์ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อและประกันภัย และธุรกิจให้บริการสำหรับองค์กรและไลฟ์สไตล์ / ธุรกิจที่ยกเลิกสัญญา ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านชำระเงินและระบบการเงินอิเลคทรอนิกส์ และธุรกิจให้บริการสินเชื่อและประกันภัย)

ตลท. จี้ SABUY-TSR-PTECH ชี้แจงงบปี 67-เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูล โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษท

ขอให้ SABUY ชี้แจงข้อมูล ดังนี้

1. กรณีทรัพย์สินสูญหาย อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรอบเวลาในการตรวจสอบเชิงลึกและผลการตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขระบบควบคุมภายในเพื่อดูแลทรัพย์สินและมาตรการตรวจนับทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก

2. กรณีซื้อกิจการให้เช่าตู้ล็อคเกอร์ อธิบายกรอบเวลาของการประเมินราคาทรัพย์สินแล้วเสร็จและการประเมินความเสี่ยงที่อาจด้อยค่าเงินลงทุนและค่าความนิยมของธุรกิจ

3. แนวทางจัดการกรณีถูกสถาบันการเงินฟ้องคดีแพ่งจากการผิดนัดชำระหนี้ความคืบหน้าการเจรจาและแนวทางการติดตามหนี้กับ TSR รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงกรณีอาจจะไม่ได้รับชำระหนี้

4. แนวทางดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคต เนื่องจากมีการด้อยค่าธุรกิจและยกเลิกสัญญาธุรกิจหลายรายการ รวมทั้งมีประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญต่อการดำเนินงานต่อเนื่อง พร้อมอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขาดทุนจากการวัดค่าสินทรัพย์ทางการเงิน

5. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับ

(1) ความเพียงพอและเหมาะสมของระบบควบคุมภายในของกลุ่มบริษัทจากกรณีในข้อ 1. รวมทั้งกลไกการติดตามดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบและมาตรการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว

(2) มาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงจากการให้เงินกู้ยืม การลงทุนในธุรกิจต่างๆ การลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานปี 2567 เป็นขาดทุนสุทธิอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงหากมีการลงทุนหรือทำธุรกรรมใด ๆ ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบเชิงลึกทรัพย์สินสูญหายและต้องมีการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในเรื่องดังกล่าวซึ่งยังไม่แล้วเสร็จหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ ขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลพร้อมกับการนำส่งงบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญ

ขอให้ TSR แจงงบปี 67 พบขาดทุน 715 ล้าน

นอกจากนี้ ขอให้ บริษัท ทีเอสอาร์ ลิฟวิ่ง โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TSR ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 โดยผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงิน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญของการดำเนินงานต่อเนื่อง กรณีปี 2567 ขาดทุน 715 ล้านบาท มีขาดทุนสะสม 945 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปีก่อน 

ส่วนใหญ่เกิดจากการบันทึกด้อยค่าลูกหนี้และค่าความนิยมทั้งจำนวนในธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ลงทุนเมื่อเดือน ก.ค.2566 รวมทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) ยกเลิกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและขอให้ชำระหนี้คืน ซึ่งมีเงินต้น 873 ล้านบาท 

กรณีข้างต้นอาจกระทบต่อฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และการประกอบธุรกิจของบริษัทในอนาคต

ข้อมูลสำคัญในงบการเงิน-คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการประจำปี 2567

ปี 2567 TSR ขาดทุน 715 ล้านบาท เกือบทั้งหมดเกิดจากการบันทึกด้อยค่าลูกหนี้ 4 กลุ่มธุรกิจ และผลขาดทุนจาก ด้อยค่าความนิยมทั้งจำนวนในธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ รวม 641 ล้านบาท สรุปดังนี้

1) ผลขาดทุนจากการด้อยค่าลูกหนี้ 4 กลุ่มธุรกิจ โดยส่วนหนึ่งคือลูกหนี้ Factoring ที่เป็นอดีตบริษัทในเครือของกลุ่ม SABUY จำนวน 492 ล้านบาท (ขายตรงและตัวแทนจำหน่าย 324 ล้านบาท / ดิจิทัลออนไลน์และขายทางโทรศัพท์ 132 ล้านบาท / ค้าปลีกและตัวแทนร้านค้า 20 ล้านบาท / ธุรกิจองค์กร 16 ล้านบาท)

2) ผลขาดทุนจากด้อยค่าค่าความนิยมทั้งจำนวนในธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เนื่องจากบริษัทย่อย (บจก. เวนดิ้ง คอนเน็กซ์ เทค) มีการชะลอการประกอบธุรกิจดังกล่าว 149 ล้านบาท

เดือน ม.ค.2568 ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) ยกเลิกการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและขอให้ชำระหนี้คืนภายใน 30 วัน (เงินต้น 873 ล้านบาท) ต่อมาเดือนก.พ.2568 บริษัทมีหนังสือตอบกลับว่าอยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางดำเนินการ ทั้งนี้ ระหว่างปี 2567 มีการเจรจาโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้โดยส่งมอบตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้กับ SABUY ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุป

ปัจจุบัน TSR ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขทางการเงินได้ ซึ่งสถาบันการเงินมีสิทธิเรียกชำระหนี้คืนได้ มูลหนี้ 418 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเจรจาผ่อนผันเงื่อนไขสัญญา และมีผิดนัดชำระหนี้บุคคลและกิจการอื่นอีก 18 ล้านบาท โดยสินทรัพย์ของกลุ่มบริษัท (934 ล้านบาท) ส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์ปลอดภาระผูกพันลดลงซึ่งอาจมีผลต่อความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

ตลท. จี้ SABUY-TSR-PTECH ชี้แจงงบปี 67-เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูล โครงสร้างการถือหุ้น

ขอให้ TSR ชี้แจงข้อมูล ดังนี้

1. ปัจจัยที่ใช้พิจารณาเพื่อบ่งชี้การด้อยค่าค่าความนิยมทั้งจำนวนของธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในระยะเวลาอันสั้นและปัจจัยที่ใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนและความแตกต่างของผลประกอบการภายหลังเข้าลงทุนพร้อมเหตุผล

2. ที่มาและสาเหตุของการพิจารณาตั้งด้อยค่าลูกหนี้ 4 ธุรกิจ ผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจดังกล่าว สรุปรายละเอียดของลูกหนี้ที่ด้อยค่าโดยสังเขป รวมถึงความสัมพันธ์กับบริษัททั้งในอดีตและปัจจุบัน ความครบถ้วนการตั้งด้อยค่าลูกหนี้ แนวทางดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้

3. สรุปการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท ณ ปัจจุบัน และธุรกรรมที่ยังคงมีกับผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) โดยขอให้อธิบายประเด็นที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (ถ้ามี) รวมถึงผลกระทบเกี่ยวกับการพิจารณาตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนหรือด้อยค่าเพิ่มเติม

4. ความคืบหน้าของการเจรจาแนวทางแก้ไขปัญหา และมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ กับผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY) สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ต่างๆ รวมทั้งการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว

5. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับ

(1) ความเหมาะสมและเพียงพอของการตั้งด้อยค่า รวมทั้งความเหมาะสมของแนวทางการติดตามลูกหนี้

(2) นโยบายการประกอบธุรกิจในอนาคตของบริษัทภายหลังจากการเปลี่ยนกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมทั้งการทำธุรกิจร่วมกับผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม (SABUY)

สั่ง PTECH แจงมูลค่าสำรองทรัพย์สินสูญหาย 

ขณะเดียวกัน ขอให้ บริษัท พลัส เทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTECH ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินประจำปี 2567 โดยผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขในประเด็นมูลค่าการสำรองทรัพย์สินสูญหาย และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกลุ่มบริษัท

ข้อมูลสำคัญในงบการเงินประจำปี 2567

1. ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติสูญหาย และไม่ตรงกับทะเบียนทรัพย์สิน รวม 89 ล้านบาท (32% ของตู้ทั้งหมด)

1.1 บันทึกขาดทุนจากการตัดจำหน่าย 12 ล้านบาท เนื่องจากตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ 184 ตู้ สูญหาย โดยบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย

1.2 รับรู้สำรองค่าใช้จ่ายทรัพย์สินสูญหาย 77 ล้านบาท จากการพบตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ 1,171 ตู้ ที่ไม่ตรง กับรายละเอียดทรัพย์สิน ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุได้

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีมติรับทราบให้บริษัทตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และจะ สรุปผลภายในวันที่ 31 มี.ค.2568

2. ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นรวม 101 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนอยู่ที่ 2 ล้านบาท โดยตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนของลูกหนี้ค่าบริหารจัดการซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของผู้ถือหุ้นใหญ่ (บมจ. สบาย เทคโนโลยี) จำนวน 60 ล้านบาท รวมถึงตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนของลูกหนี้การค้าสูงกว่ายอดลูกหนี้การค้าที่ เกินกำหนดชำระ

ตลท. จี้ SABUY-TSR-PTECH ชี้แจงงบปี 67-เตือนผู้ลงทุนศึกษาข้อมูล

ขอให้ PTECH ชี้แจงข้อมูล ดังนี้

1. กรณีทรัพย์สินสูญหาย

(1) บายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และสรุปผลการตรวจสอบตามที่บริษัทแจ้งว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2568 รวมทั้งการดำเนินการแก้ไขระบบควบคุมภายในเพื่อดูแลทรัพย์สิน และมาตรการตรวจนับ ทรัพย์สินของกลุ่มบริษัทเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวอีก

(2) ผลกระทบที่มีต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจหลักของบริษัทคือธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ

2. สาเหตุที่ตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้หมุนเวียนอื่นและลูกหนี้การค้า เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อน และบริษัทมีการพิจารณาคุณภาพของลูกหนี้อย่างไร จึงตั้งค่าเผื่อ ผลขาดทุนด้านเครดิดฯ สำหรับลูกหนี้การค้าที่ยังไม่เกินกำหนดชำระด้วย ทั้งนี้ การตั้งค่าเผื่อผลขาดทุน ด้านเครดิตฯ ดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดไว้อย่างไร รวมทั้งแนวทางการติดตามหนี้

3. ความเห็นของคณะกรรมการและคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับ

(1) ความเพียงพอและเหมาะสมของระบบการควบคุมภายในของกลุ่มบริษัทจากกรณีในข้อ 1. รวมทั้ง กลไกการติดตามดูแลของคณะกรรมการตรวจสอบ และมาตรการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว

(2) มาตรการกำกับดูแลเพื่อให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปตามกฎหมายและนโยบายที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะการทำรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัท ปฏิบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์การทำรายการที่เกี่ยวโยงกันกับ SABUY ทั้งกรณีการจำนองสินทรัพย์ของ บริษัทเพื่อเป็นประกันหนี้ และกู้ยืมเงิน

ทั้งนี้ หากผลการตรวจสอบทรัพย์สินสูญหายและต้องมีการปรับปรุงระบบการควบคุมภายในเรื่อง ดังกล่าวซึ่งยังไม่แล้วเสร็จหรืออยู่ระหว่างดำเนินการ ขอให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลพร้อมกับการนำส่ง งบการเงินทุกไตรมาสหรือเมื่อมีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ ที่สำคัญ

โดยขอให้ทั้ง 3 บริษัท ชี้แจงข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในวันที่ 3 เม.ย.2568 ในส่วนความเห็นของคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการตรวจสอบขอให้ชี้แจงภายในวันที่ 10 เม.ย.2568 นอกจากนี้ ขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลงบการเงินและติดตามคำชี้แจงของบริษัท

Thailand Web Stat