posttoday

สรุปให้! ข้อพิพาท "โครงการ CFP" จากความหวัง สู่ฝันร้ายทางการเงิน

29 มีนาคม 2568

เปิดปมดราม่า "โครงการพลังงานสะอาด (CFP)" จากความหวังเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตพลังงานสะอาด กลับเผชิญข้อพิพาทครั้งใหญ่งบบานปลาย ใครคือผู้รับผิดชอบที่แท้จริง?

KEY

POINTS

  • เปิดปมดราม่า "โครงการพลังงานสะอาด (CFP)" จากความหวังเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตพลังงานสะอาด กลับต้องพบกับข้อพิพาทครั้งใหญ่ทำให้งบประมาณบานปลาย
  • ความล่าช้า และความเสียหายที่ยากประเมินได้ ใครคือผู้รับผิดชอบที่แท้จริง? และอนาคตโครงการนี้จะเป็นอย่างไร ?

โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของ "บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP" ที่เคยถูกจับตามองว่าเป็นหนึ่งในโครงการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานของไทย กลับกลายเป็นประเด็นร้อนเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้รับเหมาหลัก คือ กิจการร่วมค้า UJV ประกอบด้วย บริษัท Samsung Engineering (Thailand) Co., Petrofac South East Asia Pte., และ Saipem Singapore Pte Ltd. และผู้รับเหมาช่วง เกี่ยวกับการค้างชำระเงิน ส่งผลให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงัก และงบประมาณบานปลาย

จุดเริ่มของแผนเป็นไปด้วยดี แต่ปัญหาเกิดขึ้นในปี 2563 "วิกฤติโควิด-19" เนื่องด้วยการจัดหาอุปกรณ์และก่อสร้างเป็นไปได้ยาก ในปี 2564 ทาง UJV เจรจาเพื่อขอเพิ่มงบประมาณในสัญญา EPC พร้อมขยายเวลาส่งมอบ ซึ่งได้อนุมัติแก้ไขสัญญา EPC และให้งบประมาณเพิ่ม 550 ล้านดอลลาร์ หรือราว 19,000 ล้านบาท 

ไทยออยล์ให้ UJV จ่ายค่าตอบแทนค้างจ่ายให้ผู้รับเหมาช่วง โดยส่งหนังสือสอบถามไปยังบริษัทแม่ของ UJV แต่...ปัญหาที่ยังคาราคาซัง ทุกอย่างจึงย่ำแย่

สรุปให้! ข้อพิพาท \"โครงการ CFP\" จากความหวัง สู่ฝันร้ายทางการเงิน

ไทยออยล์ยืนยันว่าชำระเงินให้กับผู้รับเหมาหลักตามสัญญา และการเจรจา UJV เพื่อหาข้อยุติ หากการเจรจาไม่สำเร็จ อาจมีการเปลี่ยนแปลงผู้รับเหมาหลักเพื่อผลักดันให้โครงการดำเนินต่อไป

ระหว่างที่รอเคลียร์ปัญหา ไทยออยล์จึงต้องประกาศลงทุนเพิ่มอีก 1,776 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก 505 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้งบประมาณทั้งหมดพุ่งขึ้นจาก 5,948 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นเกือบ 8,229 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 38.3% พร้อมเลื่อนเปิดโครงการจากปี 2566 เป็น 2570 

ปัญหายังคงบานปลายต่อ!

เมื่อ Samsung E&A (Thailand) และ Saipem Singapore เริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการกับไทยออยล์ ต่อ Singapore International Arbitration Centre (กระบวนการอนุญาโตตุลาการ) เกี่ยวกับโครงการ CFP โดยได้มีการกล่าวอ้างว่า การใช้สิทธิบังคับหลักประกันของกลุ่มกิจการร่วมค้าเป็นเงิน 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 12,339 ล้านบาทของไทยออยล์เป็นการใช้สิทธิก่อนถึงกําหนดเวลาและเป็นการดําเนินการที่ไม่สมควร 

ไทยออยล์ชี้แจงว่าได้ปฏิบัติตามข้อกําหนดและเงื่อนไขของสัญญา EPC และได้ยื่นคําคัดค้านเพื่อโต้แย้งข้อเรียกร้องดังกล่าว รวมถึงได้ยื่นข้อเรียกร้องแย้งต่อผู้ร้องตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

แน่นอนว่า TOP ต้องบันทึกข้อเรียกร้องจำนวน 358 ล้านเหรียญสหรัฐฯที่ถูกโต้แย้งในงบการเงินไตรมาส 1/2568 โดยบันทึกผ่านทั้งงบกำไรขาดทุนและงบดุล

ท้ายที่สุด ข้อพิพาทโครงการ CFP สะท้อนถึงความซับซ้อนของการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ทั้งการควบคุมต้นทุน การจัดการคู่สัญญา และการรับมือกับผลกระทบที่ไม่คาดคิดจากปัจจัยภายนอกอย่างวิกฤติโควิด-19

แม้ "ไทยออยล์" จะพยายามแก้ไขปัญหาและเดินหน้าโครงการต่อไป แต่คำถามที่ยังค้างคาใจคือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายนี้ ?

งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเกือบ 40% จากแผนเดิม จะกลายเป็นบทเรียนราคาแพงของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในไทยหรือไม่ ?

การเปลี่ยนผู้รับเหมาหลักจะสามารถพลิกวิกฤตินี้ให้กลายเป็นโอกาสได้หรือไม่ ?
หากการชำระหนี้ไม่สำเร็จ ผู้รับเหมาช่วงจะหาทางรอดได้อย่างไร ? 

เมื่ออนาคตของโครงการพลังงานสะอาดนี้ยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย เราจะได้เห็นบทสรุปของข้อพิพาทครั้งนี้อย่างไร ?