เปิดรายชื่อกลุ่มหุ้นได้-เสีย เหตุแผ่นดินไหวเมียนมากระทบถึงไทย

31 มีนาคม 2568

เช็ก! กลุ่มหุ้นได้-เสียประโยชน์ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมากระทบถึงไทย พบ อสังหาฯ กระทบหนักสุด ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้าง รับผลบวกมากสุด

ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่มีผลต่อตลาดหุ้น ย่อมมีทั้งหุ้นที่ได้รับประโยชน์ และเสียประโยชน์จากเหตุการณ์นั้นๆ เสมอ ล่าสุด เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมียนมารุนแรง กระทบมายังประเทศไทย 

ดังนั้น “โพสต์ทูเดย์” หยิบยกบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ 2 แห่ง ได้แก่ บล.ทรีนีตี้ และ บล.เอเซีย พลัส ซึ่งได้ประเมินผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ต่อตลาดหุ้นไทย รวมไปถึงกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์ และเสียประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าว    

เริ่มกันที่ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบต่อ SET Index รุนแรงและลากยาวเหมือนกับเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่ประเทศไทยเคยเผชิญก่อนหน้านี้ ทั้งเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 และเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 เนื่องจากทั้ง 2 เหตุการณ์นั้น ต่างต้องใช้เวลายาวนานในการบูรณะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ให้กลับมาอยู่ในสภาพเดิม รวมไปถึงการเดินทางสัญจรต่างๆ ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หากให้เทียบเคียงผลกระทบในระยะสั้น เรามองว่าผลกระทบในครั้งนี้อาจเหมือนเหตุการณ์การระบาดของโรค Covid-19 ในช่วงแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนอาจมีความหวาดกลัวในการใช้ชีวิตบ้าง จนทำให้บางส่วนตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น แต่จะกินระยะเวลาที่สั้นกว่ามาก 

ทั้งนี้ มองผลกระทบลบระยะสั้นในเชิงจิตวิทยาต่อกลุ่มหุ้นต่างๆ ดังต่อไปนี้

Negative impact : 

1) หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบในระดับสูง ได้แก่ ผู้ให้บริการรับเหมาก่อสร้างในตึกอาคารที่มีการถล่ม ได้แก่ ITD

2) Sector ที่ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบปานกลาง ได้แก่

  • กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะผู้เล่นที่มีสัดส่วนคอนโดฯ แนวสูงมาก จากแนวโน้มยอดขายและ Margin ที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึง SG&A ที่อาจสูงขึ้น เช่น ANANDA, ORI, SC 
  • กลุ่ม REITs โดยเฉพาะตัวที่มีพอร์ตสินทรัพย์หลักเป็นตึก Office อาคารสูง จากแนวโน้มค่าเช่าที่อาจลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายกองที่เพิ่มสูงขึ้น

3) Sector ที่ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบเล็กน้อย ได้แก่

  • กลุ่มประกันภัย ที่มีผลิตภัณฑ์รับประกันเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงกลุ่มรับประกันภัยต่อ เช่น TIPH, BKI, THRE จากประเด็นความกังวลเกี่ยวกับฐานะการเงินในระยะสั้น
  • กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ตามความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจลดลงในระยะสั้น เช่น AOT, AAV, BA, ERW, CENTEL, MINT, AWC
  • กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Traffic การเดินทาง เช่น BEM, BTS, OR
  • กลุ่มห้างสรรพสินค้าและนันทนาการ เช่น CPN, MAJOR รวมถึงร้านอาหารต่างๆ เป็นต้น
  • กลุ่มธนาคาร (BANK) จากความกังวลเรื่อง NPL ของบริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ และมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่ทยอยออกมา

ในทางกลับกัน มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นปัจจัยจิตวิทยาเชิงบวกต่อหุ้นบางกลุ่มในระยะสั้น ดังนี้

Positive impact : 

1) Sector ที่ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกปานกลาง ได้แก่

  • กลุ่มวัสดุก่อสร้าง อาทิ SCC, SCCC, SCGD, TPIPL, DCC, DRT, TOA, DPAINT จากดีมานด์การใช้วัสดุเพื่อซ่อมแซมและบูรณะที่สูงขึ้น
  • กลุ่มผู้ให้บริการปรึกษาด้านวิศวกรรม อาทิ TEAMG, STI, PPS จากจำนวนงานตรวจสอบและควบคุมการก่อสร้างที่อาจเพิ่มขึ้น

2) Sector ที่ประเมินว่าจะได้รับผลกระทบเชิงบวกเล็กน้อย ได้แก่

  • กลุ่ม Home improvement อาทิ HMPRO, GLOBAL, DOHOME จากความต้องการซ่อมแซมอาคารชุดที่อาจเพิ่มขึ้น
  • กลุ่ม ICT และสินค้า IT ที่อาจเห็นดีมานด์สูงขึ้นจากการ WFH เช่น ADVANC, TRUE, COM7

เช่นเดียวกับ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า ประเทศไทยเคยเกิดเหตุภัยพิบัติหนักๆ อยู่ 3 ครั้งใหญ่ ได้แก่ เหตุการณ์สึนามิ, น้ำท่วมใหญ่ และ แผ่นดินไหวเชียงราย ซึ่งหากย้อนรอยเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้น จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 เหตุการณ์ส่งผลลบให้เศรษฐกิจเสียหายราว 4.55 แสนล้านบาท, 1.4 ล้านล้านบาท และ 2.2 พันล้านบาท ตามลำดับ 

โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้หอการค้า คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจไทยระยะสั้น ประเมินความเสียหายราว 3-5 พันล้านบาท กระทบ GDP ราว 0.025% อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าหากเหตุการณ์คลี่คลายลง เศรษฐกิจไทยก็พร้อมฟื้นตัวขึ้นทันที

ขณะที่หากพิจารณาในมุมตลาดหุ้นไทย (SET) จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จะคล้ายคลึงกับการเกิดสึนามิปี 2547 มากกว่าการเกิดอุทกภัย ปี 2554 เนื่องด้วยการเกิดอุทกภัย ปี 2554 ช่วงเวลาที่เกิดต่อเนื่องนานถึง 5 เดือน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์สึนามิปี 2547 SET ปรับตัวลงเพียง 3 วันแรกเท่านั้น และหลังจากนั้นจะทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วง 1-3 เดือน ตาม FLOW ต่างชาติที่ทยอยไหลเข้า ซึ่งต้องติดตามว่าการ PANIC SELL ครั้งนี้จะคล้ายกับเหตุการณ์ในอดีตหรือไม่ เนื่องด้วย VOLUME การซื้อขายขณะนี้เบาบางกว่าในอดีต

สำหรับแผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้ จะส่งผลต่อกระทบต่อแต่ละ SECTOR ดังต่อไปนี้

4 กลุ่มหุ้นเสียประโยชน์

กลุ่มอสังหาฯ (-) : เป็นปัจจัยลบต่อกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัย นอกจากกระเทือนต่อภาพรวมคอนโดฯ, การดำเนินงานไตรมาส 2/2568 ทรุดตัว (ทั้งผลกระทบวันหยุดยาวเดือน เม.ย. และดีมานด์ชะงัก) และเพิ่ม DOWNSIDE ต่อประมาณการกำไรปีนี้ ย่อมสร้างแรงกระแทกต่อหุ้นในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น UNDERPERFORM ตลาดฯ จึงแนะนำลงทุนน้อยกว่าตลาดสำหรับกลุ่มฯ พร้อมหลีกเลี่ยงการลงทุนหุ้นกลุ่มนี้จนกว่าจะเห็นสถานการณ์ดีขึ้น หรือความเชื่อมั่นเริ่มกลับมา โดยจะเร็วช้าขึ้นอยู่กับหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันทุกรายต่างเร่งแก้ปัญหา และ TAKE ACTION อย่างเร่งด่วน นอกจากเพื่อช่วยเหลือลูกบ้าน ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับโครงการ/แบรนด์สินค้า เบื้องต้นประเมินผลกระทบไล่จากมากสุดมายังน้อยสุด คือ กลุ่มพอร์ตหลักคอนโดฯ > กลุ่มผสม (แนวราบ/คอนโดฯ) AP, SPALI, SIRI, SC และ PSH > กลุ่มพอร์ตหลักแนวราบ (LH, QH, LALIN)

กลุ่มธนาคาร (-) : ในเชิงโครงสร้าง ฝ่ายวิจัยมีความเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยดูมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ภาวะแผ่นดินไหว ส่งผลต่ออาคารสูง โดยเฉพาะคอนโด แม้อาคารส่วนใหญ่มีความปลอดภัยเชิงโครงสร้าง แต่การเรียกความเชื่อมั่นของผู้อยู่อาศัยต้องใช้เวลา ทำให้ต้องจับตามูลค่าหลักประกันกลุ่มคอนโด HIGH RISE ทั้งที่บันทึกเป็นสินเชื่อและ NPA ในระยะสั้นมีแนวโน้มนำไปสู่ระดับการตั้งสำรองสูงขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงด้านมูลค่าหลักประกัน (ส่วนของ NPA อาจบันทึกใน OPEX) โดย ธ.พ. ที่มีสัดส่วนสินเชื่อบ้าน 3 อันดับแรก นำโดย SCB (32% ของสินเชื่อ) ตามด้วย TTB (สัดส่วน 26% ของสินเชื่อ) และ KTB (สัดส่วน 19%)

ส่วนประเด็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของแต่ละธนาคาร อาทิ ลดค่างวด พักชำระเงินต้น และลดดอกเบี้ย เป็นมาตรการช่วยเหลือตามปกติช่วงเกิดภัยพิบัติ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อน้ำท่วมปีก่อน

โดย ธปท. ให้คงการจัดชั้นลูกหนี้ไว้เช่นเดิม ชะลอการไหลตกชั้น ภาพรวมผลกระทบการช่วยเหลือลูกหนี้ส่งผลต่อดอกเบี้ยรับ (ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกหนี้ผ่านการพิจารณาให้ข้าร่วมมาตรการ ตามนโยบายของแต่ละธนาคาร) แต่การคงการจัดชั้นช่วยให้ภาระการตั้ง ECL ไม่เพิ่มขึ้น เข้ามาลดทอนผลกระทบ โดยสรุปมองกลางต่อมาจรการช่วยเหลือลูกหนี้ แต่ให้น้ำหนักกับ 2 ปัจจัยเชิงโครงสร้างข้างต้น (ทิศทางดอกเบี้ยและมูลค่าหลักประกัน) มากกว่า

ทั้งนี้ SENSITIVITY ANALYSIS สะท้อนทุก 0.1% ของ NIM ที่ลดลงจากสมมติฐาน (กรณีรับรู้ผลกระทบเต็มปี) จะกระทบกำไรกลุ่มฯ ราว 7% (เนื่องจากการประชุม กนง. รอบถัดไป อยู่วันที่ 30 เม.ย. หากมีการลดรอบดังกล่าว จะรับรู้ผลกระทบ 8 เดือน จะกระทบกำไรกลุ่มฯ ราว 5%) โดย ธ.พ. ใหญ่ จะมีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ซึ่ง KTB KBANK จะสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยมากสุด ตามด้วย BBL (มีสัดส่วนสินเชื่อต่างประเทศ 25% และในประเทศ 75%) ในขณะที่ 0.1% ของ CREDIT COST ที่เปลี่ยนแปลงจากสมมติฐาน จะส่งผลต่อกำไรราว 5% และสินเชื่อที่เปลี่ยนแปลง 1%จะทำให้กำไรเปลี่ยนแปลง 0.8% ภาพ SENSITIVITY ข้างต้น บ่งชี้ NIM และ CREDIT COST มีน้ำหนักมากกว่าความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

โดยความเห็นการลงทุนกลุ่มฯ ปรับเน้นตั้งรับ รอสงบ ค่อยกลับเข้าหาจังหวะลงทุน เพราะมองว่า DIV YIELD ยังน่าสนใจ ยังคงชอบ ธ.พ. ที่มี COVERAGE RATIO สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ อย่าง KTB, BBL ลดทอนผลกระทบจากการตั้งสำรองได้ดีกว่ากลุ่มฯ รวมถึง ธ.พ. ที่มี TAX SHIELD และการซื้อหุ้นคืน ช่วยจำกัด DOWNSIDE อย่าง TTB ขณะที่ ธ.พ. เล็ก เลือก TISCO มากกว่า KKP

กลุ่มท่องเที่ยว (-) : ภาพรวมอาคารโรงแรมให้บริการได้ตามปกติ แต่ยังต้องติดตามความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในระยะถัดไป หลังปัจจุบันความไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีนยังสูง ทำให้สถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย จากสมมติฐานปัจจุบันที่ทำไว้ 38.6 ล้านคน (+9% YoY) 

โดยผลกระทบจากกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย ต่ำกว่าสมมติฐาน เรียงตามสัดส่วนรายได้ในไทย ดังนี้ AOT > ERW > CENTEL และMINT (สัดส่วนโรงแรมไทยไม่เกิน 20% ของรายได้ สัดส่วนหลักๆ 50% ของรายได้มาจากโรงแรมใน EU และอีก 20%มาจากธุรกิจร้านอาหาร) ในเชิงกลยุทธ์หาก MINT ซึ่งได้รับผลกระทบต่ำสุด ย่อตัว ตามการปรับพอร์ตของนักลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง ประเมินเป็นโอกาสสะสม

กลุ่มเครื่องดื่ม (-) : คาดผู้ผลิตที่มีโรงงานในหรือการจัดจำหน่ายสินค้าในเมียนมาร์ อย่าง OSP และ CBG แม้โรงงานของทั้ง 2 บริษัทไม่ได้รับความเสียหาย แต่อาจกระทบต่อยอดขายจากกำลังซื้อในเมียนมาที่ลดลง เนื่องจากมีพื้นที่ได้รับความเสียหายหลายจังหวัด

3 กลุ่มหุ้นได้ประโยชน์

กลุ่มวัสดุก่อสร้าง (+) : บริษัทในกลุ่มฯที่ได้ประโยชน์คือผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างงานตกแต่ง ได้แก่ กระเบื้อง ผนัง และสี เช่น DCC, SCGD, DRT, TOA ขณะที่งานซ่อมแซมในเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้ปูนซีเมนต์มีไม่มาก

กลุ่ม ICT (+) : คาดได้ประโยชน์ในวันที่มีแผ่นดินไหว และหลังเกิดเหตุไปอีก 1 -2 วัน ตามปริมาณการใช้งานมือถือที่คาดจะเพิ่มขึ้น เพราะผู้คนจะติดต่อสอบถามความเป็นไป รวมทั้งติดต่อหน่วยงานที่จะเข้าตรวจอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย

กลุ่มค้าปลีก/ ค้าส่ง (+) : คาดกลุ่มผู้จำหน่ายสินค้าตกแต่ง ซ่อมแซมบ้าน ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะ HMPRO ที่มีสินค้าหลักเป็นสินค้าตกแต่ง/ซ่อมแซม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับปานกลาง-สูง ขณะที่อาคารที่พักอาศัยที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ใน กทม. มีกำลังซื้อซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง นอกจากนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่คาดจะเป็นการตกแต่ง/ซ่อมแซม ให้กลับสภาพเดิม มากกว่าจะเป็นความเสียหายทางโครงสร้างอาคาร ส่วนกลุ่มค้าส่ง คาดได้ประโยชน์จากการที่ผู้คนอาจหลีกเลี่ยงการไปจับจ่ายในห้างสรรพสินค้าที่เป็นอาคารสูง และหันไปซื้อในร้านค้าส่ง อย่าง CPAXT รวมทั้งร้านสะดวกซื้ออย่าง CPALL ไปก่อน

5 กลุ่มหุ้นไม่ได้รับผลกระทบ-กระทบระยะสั้น

กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี (0) : เบื้องต้นบริษัทในกลุ่มฯ ได้มีการชี้แจงว่าโครงการต่างๆ ของบริษัทในกลุ่มฯยังคงดำเนินการปกติ อาทิ PTT ได้มีการชี้แจงว่าโรงแยกก๊าซฯ สถานีรับ-จ่าย LNG และท่อส่งก๊าซฯ ยังสามารถดำเนินการได้ปกติ เช่นเดียวกับ PTTEP แม้จะมีโครงการอยู้ในประเทศเมียนมา แต่บริษัทมีการชี้แจงว่า แท่นผลติก๊าซธรรมชาติที่ PTTEP เป็นผู้ดำเนินการทั้งในอ่าวไทย และอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา ยังสามารถดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการใช้พลังงานได้ตามปกติ

กลุ่มโรงไฟฟ้า (0) : กลุ่มโรงไฟฟ้าที่ฝ่ายวิจัยศึกษา อาทิ RATCH, GPSC, GUNKUL, SSP, และ BPP ซึ่งมีบางโครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย หรือบริเวณประเทศใกล้เคียงคือ สปป.ลาว โดยผู้บริหารในกลุ่มนี้ได้ออกมายืนยันว่าทุกโครงการยังสามารถดำเนินการได้ตามปกติ และไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เช่นเดียวกับ BGRIM, EGCO, GULF และ BCPG ที่มีโครงการที่ดำเนินการอยู่ทั้งในประเทศไทย และ สปป. ลาว 

โดยฝ่ายวิจัยได้ติดต่อสอบถามไปยังบริษัทฯเพิ่มเติม และได้รับการยืนยันว่า ตามการตรวจสอบเบื้องต้น โครงการที่ดำเนินการอยู่ ไม่ได้รับผลกระทบ หรือยังไม่มีโครงการใดที่มีรายงานด้านความเสียหาย ดังนั้น จึงมองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทต่อภาพรวมกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ค่อนข้างจำกัด

กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (0) : งานก่อสร้างของบริษัทรับเหมาฯ ภายใต้ COVERAGE คือ CK และ STECON ไม่ได้รับกระทบ ขณะที่โอกาสได้งานใหม่จากการซ่อม/สร้าง จากเหตุแผ่นดินไหวมีไม่มาก เพราะความเสียหายไม่ได้เกิดกับงาน
โครงสร้าง

กลุ่มขนส่ง (0) : BEM ได้รับผลกระทบเพียงระยะสั้น เพราะการเดินทางยังเป็นสิ่งจำเป็น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและม่วงเปิดให้บริการปกติ ส่วนทางด่วนที่ปิดด่านดินแดง เพราะมีเศษวัสดุจากอาคารสูงตกลงมา ก็กลับมาเปิดได้แล้วเช้าวันนี้

กลุ่ม NON-BANK (0) : อาทิ MTC, TIDLOR และ SAWAD น่าจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์จากการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยหลังดอกเบี้ยเงินกู้ยืมทยอย REPRICING เพียงแต่ BOND YIELD สหรัฐฯ ที่ปรับขึ้นและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยดูท้าทายขึ้น เป็นปัจจัยลบเชิง SENTIMENT โดยรวมเน้นตั้งรับหุ้นในกลุ่มจะเหมาะสมกว่าในวันนี้

Thailand Web Stat