อ่วม! ทรัมป์รีดภาษีไทย 36% กดจีดีพีโตต่ำกว่า 1% ฉุด EPS หุ้นไทย 6-7%

อ่วม! ทรัมป์รีดภาษีไทย 36% กดจีดีพีโตต่ำกว่า 1% ฉุด EPS หุ้นไทย 6-7%

03 เมษายน 2568

“ทรัมป์” ประกาศขึ้นภาษีทั่วโลก ชาร์จไทยสูง 36% กดเศรษฐกิจปี 68 โตต่ำกว่า 1% ฉุด EPS ของ SET ราว 6-7% ที่ 88 บาท/หุ้น

KEY

POINTS

  • “ทรัมป์” เปิดศึกสงครามการค้า ประกาศขึ้นภาษีทั่วโลก ชาร์จไทย 36% สูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน
  • กดดันเศรษฐกิจไทยปี 68 โตต่ำกว่า 1% ฉุด EPS ของ SET ราว 6-7% ที่ 88 บาท/หุ้น
  • หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-อาหาร-ยานยนต์-ยาง-สินค้าเกษตร-เครื่องประ

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 ช่วงเวลา 16.00 น. ตามเวลาสหรัฐ หรือตรงกับไทยในช่วงเวลา 03.00 น. ของวันที่ 3 เม.ย.2568 เป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกจับตาการประกาศมาตรการภาษีของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ 

ปรากฎว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อประกาศใช้ทั้งมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จะมีผลบังคับใช้ในวันพุธที่ 9 เม.ย.2568 และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tarrifs) มีผลบังคับใช้ในวันเสาร์ที่ 5 เม.ย.2568

ทั้งนี้ จะมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ ในขณะที่จะเก็บภาษีตอบโต้เพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐฯ บางประเทศ อาทิ จีนถูกเรียกเก็บ 34%, อินเดีย 26%, เกาหลีใต้ 25%, ญี่ปุ่น 24% และสหภาพยุโรป (EU) 20%

ส่วนประเทศในอาเซียนถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ถ้วนหน้า นำโดย กัมพูชา 49%, ลาว 48%, เวียดนาม 46%, เมียนมา 44%, ไทย 36%, อินโดนีเซีย 32%, บรูไน 24%, มาเลเซีย 24%, ฟิลิปปินส์ 17%, และสิงคโปร์ 10%

โดยมาตรการดังกล่าวจะส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกถูกเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ ในหลายๆ มิติ อาทิ เศรษฐกิจ และตลาดหุ้น

สำหรับความเคลื่อนไหวดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ (3 เม.ย.2568) ปิดช่วงเช้า เวลา 12.30 น. ปรับลดลง 11.95    จุด หรือปรับลดลง 1.02% มาอยู่ที่ 1,160.74 จุด มูลค่าการซื้อขาย 23,243.08 ล้านบาท โดยระหว่างวันทำระดับต่ำสุด 1,164.29 จุด และระดับสูงสุด 1,156.39 จุด จากเปิดตลาดอยู่ที่ 1,158.47 จุด

อ่วม! ทรัมป์รีดภาษีไทย 36% กดจีดีพีโตต่ำกว่า 1% ฉุด EPS หุ้นไทย 6-7%

บล.บัวหลวง ระบุว่า จากมาตรการภาษีที่ออกมามุ่งเป้าไปที่สินค้าหลายกลุ่มจากหลายประเทศในอัตราที่สูง คาดกดดัน sentiment ตลาดหุ้นไทยรุนแรง จากความกังวลผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งทางตรง และทางอ้อม

ในแง่ผลกระทบทางตรง สัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ ของ SET อยู่ที่ราว 1.4% โดยกลุ่ม Exporter ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ สูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ อยู่ที่ 25%) อาหาร (12%) และ ยานยนต์ (1%) 

โดยบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้จากการส่งออกไปสหรัฐฯ สูง เช่น ITC (ราว 50%), TU (ราว 39%), DELTA (ราว 25%), HANA (ราว 25%), KCE (ราว 23%), CPF (ราว 10%), SAT (ราว 5%)

ทั้งนี้ การปรับขึ้นภาษีในวงกว้าง คาดเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอเร็วและลึกกว่าคาด จากทั้งการค้าโลก เม็ดเงินลงทุน FDI และการบริโภคโดยรวม ที่คาดชะลอตัวลงจากต้นทุนที่สูงขึ้นและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

จาก Base Case ของเราที่ให้น้ำหนักความเสี่ยงเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจจนเข้าสู่ Mild Recession (GDP ติดลบ -0.5% กินระยะเวลาราว 2 ไตรมาส) อาจรุนแรงขึ้น หรือ เข้าสู่ระดับ Mid-Depth Recession (ที่อาจเห็น GDP ติดลบรุนแรงกว่า -2% และอาจกินระยะเวลาราว 3-4 ไตรมาสได้) เป็นความเสี่ยงต่อกลุ่ม Cyclical/Global Play

สำหรับไทย GDP ปี 2568 อาจเติบโตลดลงจากเดิมคาด 2.4% เหลือเพียง 1% ซึ่งจะเป็น Downside ต่อ EPS ของ SET ราว 6-7% 

โดยอิงจากข้อมูลในอดีต การปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ลง 1% อาจส่งผลให้การประมาณการกำไรของ SET ลดลงถึง 4.4% ทำให้เรามอง EPS ของ SET อาจมี downside อยู่ที่ราว 88 บาท/หุ้น

หากอิงจาก PER ต่ำสุดช่วง Trade War รอบแรก และ COVID จะได้ PER ที่ 12.3x (-1.75SD จากค่าเฉลี่ย 10 ปี) ทำให้ประเมิน downside ของ SET ราว 1,080 จุด  

ในแง่ค่าเงินบาท คาดอ่อนค่าจากผลกระทบของการส่งออกที่คาดชะลอตัว และกระแส Fund Flow ไหลออกจากภูมิภาค

สำหรับกลยุทธ์ระยะสั้น ยังเน้นเพิ่มน้ำหนักกลุ่ม Defensive เช่น โรงพยาบาล สื่อสาร และ Domestic เช่น ค้าปลีกของใช้จำเป็น (Consumer staples) ที่มีรายได้พึ่งพาในประเทศสูง 

ในขณะที่ ลดน้ำหนักกลุ่ม Exporter ไปสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง, ลดน้ำหนักหุ้น Cyclical/Global Play ที่อ่อนไหวต่อการชะลอตัวของการค้าโลก

ทั้งนี้ มองถือเงินสดบางส่วนเพื่อรอเข้าซื้อในช่วง Turning Point สำคัญ คือ “สัญญาณการเปิดทางเจรจา” ซึ่งคาดจะเป็นจุด Peak ของ Escalation Phase, เป็นจุดกลับตัวของ Fund Flow เข้ามาหนุนตลาดเกิดใหม่ (EM) รวมถึงไทย และเป็นจุด Bottom ของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังสงครามการค้าคลี่คลาย จึงเป็นสัญญาณสำคัญในการเพิ่ม Beta พอร์ต ทยอยเข้าสะสมหุ้นที่ราคาย่อตัวแรงก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกลุ่มวัฏจักร/Global Play เช่น กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ จากคาดเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุด และเข้าสู่การเติบโตรอบใหม่

บล.อินโนเวสท์เอกซ์ มองผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ ต่อตลาดหุ้นไทย โดยมองมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ที่เก็บไทยในอัตรา 36% จะกระทบทางตรงต่อสินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ ดังนี้

1. ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ - มองเป็นลบต่อกลุ่มยานยนต์ โดยประเทศไทยส่งออกรถยนต์ไปสหรัฐคิดเป็น 9% ของการส่งออกรถยนต์ และคิดเป็น 6% ของการผลิตรถยนต์ (AH, SAT, STANLY, NYT) และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (KCE, DELTA, HANA)

2. เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ - มองเป็นลบต่อกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (DELTA, HANA, KCE)

3. ยางและผลิตภัณฑ์ยาง - มองเป็นลบต่อกลุ่มยางและถุงมือยาง (STA, STGT มีส่งออกไปสหรัฐโดยตรง ขณะที่ NER จะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากลูกค้าจีนที่ส่งออกยางไปยังสหรัฐ)

4. สินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว อาหารสุนัขและแมว ทูน่าและผลิตภัณฑ์ทูน่า กุ้งและผลิตภัณฑ์กุ้ง มะพร้าวและผลิตภัณฑ์มะพร้าว สัปปะรดกระป๋อง - มองเป็นลบต่อ TU, CFRESH, COCOCO, PLUS, MALEE, AAI, ITC

5. อัญมณีและเครื่องประดับ - มองเป็นลบต่อผู้ส่งออกเครื่องประดับอย่าง PDJ

ขณะที่มองส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการลงทุนและเศรษฐกิจไทย อาจส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนและการชะลอการขอสินเชื่อเพื่อส่งออก และเกิด Sentiment ลบต่อบรรยากาศการลงทุน

1. นิคมอุตสาหกรรม - มองนโยบายครั้งนี้อาจส่งผลกระทบให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจซื้อที่ดิน ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุดอาจส่งผลกระทบต่อ Backlog บางส่วน หุ้น ที่เกี่ยวข้อง AMATA WHA FTREIT (ความต้องการในการเช่าโรงงานและคลังสินค้าลดลง)

2. ธนาคาร - ส่งผลกระทบทางอ้อมในแง่อัตราการเติบโตของสินเชื่อและคุณภาพสินทรัพย์เล็กน้อย

Thailand Web Stat