ภาษีทรัมป์เล่นงาน! หุ้นไทยปิดดิ่ง 36.60 จุด จับตารัฐเจรจาผ่อนปรน
ตลาดหุ้นไทยปิดดิ่ง 36.60 จุด โบรกฯ ชี้ทรัมป์ขึ้นภาษีกดดัน ผันผวนยาว 1-3 เดือน จับตารัฐบาลเจรจาสหรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขการค้า ประเมินแนวรับถัดไป 1,080-1,100 จุด
ดัชนีตลาดหุ้นไทย วันนี้ (4 เม.ย.) ปิดตลาดที่ 1,125.21 จุด ปรับลดลง 36.60 จุด หรือปรับลดลง 3.15% มูลค่าการซื้อขาย 48,286.09 ล้านบาท ระหว่างวันขึ้นไปทำระดับสูงสุดที่ 1,156.02 จุด และลงไปต่ำสุดที่ 1,122.51 จุด แบ่งตามประเภทนักลงทุน สถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 2,701.80 ล้านบาท บัญชี บล. ซื้อสุทธิ 331.71 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 6,398.76 ล้านบาท และนักลงทุนทั่วไปในประเทศ ซื้อสุทธิ 8,768.85 ล้านบาท
นายภูวดล ภูสอดเงิน ผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่หลังโควิด-19 แต่ยังสูงกว่าช่วงโควิด-19 ที่ลงไปทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 969 จุด รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสูงกว่าปกติ เซอร์ไพรส์ตลาด โดยไทย อยู่ที่ 37% เนื่องจากมีการนำในส่วนของการเสียดุลทางการค้า และการละเมิดลิขสิทธิ์เข้าไปคิดคำนวณเพิ่มเติมจากอัตราภาษีด้วย
โดยประเมินว่าตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทย จะยังคงมีความผันผวนกว่าปกติ ต่อเนื่องไปอีก 1-3 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แต่ละประเทศจะดำเนินการต่ออัตราภาษีนำเข้าที่ถูกปรับขึ้นใน 3 แนวทาง ได้แก่
1.ตอบโต้กลับโดยตรง เช่น ประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน และยุโรป ล่าสุด จีนตอบโต้สหรัฐ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 34% มีผลวันที่ 10 เม.ย.2568
2.เจรจาผ่อนปรนเงื่อนไขทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่น กลุ่มประเทศในแถบเอเชีย
3.การหาช่องโหว่ทางกฎหมายในการฟ้องร้อง
สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเกษตร อาหาร และกลุ่มหมู-ไก่ ส่วนที่รับผลกระทบทางอ้อม อาทิ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากการลงทุนลดลง และจะไม่มีความต้องการย้ายฐานการผลิต
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ต้องติดตามคืนนี้ คือ อัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ประจำเดือน มี.ค. โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงาน จะเพิ่มขึ้นเพียง 139,000 ตำแหน่ง ในเดือน มี.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 151,000 ตำแหน่ง ในเดือน ก.พ. และคาดว่าอัตราว่างงานจะทรงตัวที่ระดับ 4.1% ในเดือน มี.ค.
สำหรับแนวโน้มวันอังคาร (8 เม.ย.) ประเมิน SET INDEX เคลื่อนไหวในกรอบ 1,080-1,100 จุด โดยให้แนวรับถัดไปที่ 1,080-1,100 จุด ด้วย EPS ที่ 88 บาท และ P/E ที่ 12.3 เท่า
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์
GULF มูลค่าการซื้อขาย 4,182.03 ล้านบาท ปิดที่ 45.00 บาท ลดลง 3.75 บาท
KBANK มูลค่าการซื้อขาย 3,258.78 ล้านบาท ปิดที่ 159.50 บาท ลดลง 2.00 บาท
BBL มูลค่าการซื้อขาย 2,194.88 ล้านบาท ปิดที่ 140.00 บาท ลดลง 4.50 บาท
PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 2,028.54 ล้านบาท ปิดที่ 106.00 บาท ลดลง 9.50 บาท
PTT มูลค่าการซื้อขาย 1,934.25 ล้านบาท ปิดที่ 31.50 บาท ลดลง 0.75 บาท