posttoday

ตลท. เดินเกมไว พร้อมรับมือสถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวนตลอดเวลา

09 เมษายน 2568

ตลท. เตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวนตลอดเวลา ย้ำมาตรการชั่วคราวรับมือหุ้นดิ่งจากภีทรัมป์เหมาะสมกับภาวะตลาด

ตามที่เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2568 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นการชั่วคราว มีผลตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.2568 และไม่เกินวันที่ 11 เม.ย.2568 ดังต่อไปนี้

1. ปรับ Ceiling & Floor สำหรับทั้ง SET, mai และ TFEX จากเดิม ±30% เป็น ±15% 

2. ปรับกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เป็นรายหลักทรัพย์ จากเดิม ±10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น เป็น ±5% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น 

3. ห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราวยกเว้น Market Maker สำหรับ SET, mai และ TFEX

นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า มาตรการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor, Dynamic Price Band และห้ามขายชอร์ต เป็นการชั่วคราว ซึ่งจะมีผลถึงวันที่ 11 เม.ย. คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการพูดคุยและวิเคราะห์ผลของมาตรการอยู่ตลอด เพื่อประเมินว่ามาตรการใดจะเหมาะสมสำหรับสถานการณ์ในอาทิตย์หน้า เนื่องจากข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน แต่มาตรการที่มีอยู่ถือว่าเหมาะสมในสภาวะปัจจุบัน

โดยคณะกรรมการ ตลท. มีการพูดคุยกันตลอด พร้อมที่จะร่วมประชุมหากจำเป็น เพื่อตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมได้หรือไม่ ซึ่งภายใต้อำนาจของ ตลท. ยังพอมีมาตรการที่ทำได้บ้าง ต้องดูว่าอะไรเหมาะสม มาตรการใดควรผ่อนคลายหรือมาตรการใดควรต้องเข้มข้นขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการชั่วคราวที่กำหนดราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) 15% ซึ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 เม.ย.2568 ที่ผ่านมา พบว่าในหุ้น SET100 มีเพียง 2 บริษัท ที่ราคาหุ้นลงไปแตะ Floor ซึ่งเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องน้อย สะท้อนว่าศักยภาพหุ้นไทยยังอยู่ในจุดที่ดีอยู่ 

“เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก่อนที่จะประกาศเกณฑ์ชั่วคราว บอร์ด ตลท.มีการพูดคุยถึงแนวทางปรับลด Circuit Breaker แต่จากการหารือ Circuit Breaker ที่ปรับมาแล้วตั้งแต่ช่วงโควิด-19 ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม และการปรับเกณฑ์ Ceiling & Floor ±15% เป็นมาตรการที่ช่วยลดแรงกระแทกไม่ให้ถึง เกณฑ์ Circuit Breaker ได้ระดับหนึ่ง” นายอัสสเดช กล่าว 

ส่วนมาตรการห้ามการขายชอร์ตทุกหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าช่วยได้มากน้อยแค่ไหน หลักการที่นำมาตรการดังกล่าวมาใช้เพื่อไม่ให้ดัชนีปรับตัวลงเร็วเกินไป คิดว่าสำหรับ 4 วันที่มีการบังคับใช้นี้เหมาะสมมาก แต่ในอนาคตถ้าภาวะตลาดปกติการขายชอร์ตก็เป็นประโยชน์ ในการรักษาเสถียรภาพของราคาที่ตลาดหุ้นไทยควรจะมี ขณะที่การเปิดเฮียริ่งทบทวนการกำกับดูแลการขายชอร์ตได้เพียงเฉพาะหุ้นใน SET100 อยู่ระหว่างรวบรวมความคิดเห็น ยังเดินหน้าต่อแต่ต้องดูว่าจะเดินหน้าเกณฑ์ไหน หรือไม่เดินหน้าเกณฑ์ใด

ขณะเดียวกัน มองว่าการที่รัฐบาลเตรียมเจรจากับสหรัฐ หาแนวทางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสหรัฐ และเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ประโยชน์แบบวิน-วินทั้งไทยและสหรัฐ หากการเจรจาสำเร็จในระดับหนึ่งอาจเป็นจุดพลิกผันให้ตลาดทุนไทยฟื้นได้ ประกอบกับมาตรการ Jump+ ของ ตลท. ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพบริษัทจดทะเบียน อาจกระตุ้นให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจมากขึ้น 

สำหรับมาตรการ Jump+ ยังเดินหน้าตามกำหนดการเดิม โดยล่าสุดได้รับอนุมัติเงินสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เรียบร้อยแล้ว เพื่อสนับสนุนการทำระบบวิเคราะห์สถานะการเงินของบริษัท กำลังการแข่งขันเทียบกับอุตสาหกรรม การจ้างที่ปรึกษา หรืออื่นๆ ที่จำเป็นเหมาะสมกับการดำเนินงาน ขณะที่การขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกระทรวงการคลัง ยังมีการคุยรายละเอียดกันอยู่ แต่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบัน ภาครัฐต้องดูว่าจะสามารถช่วยตรงไหนก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาในการพิจารณา

นอกจากนี้ ตลท. และกระทรวงการคลัง ได้มีการพูดคุยหารือถึงมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นตลาดทุนอยู่ตลอด และเป็นโอกาสดีที่ ในเดือน พ.ค.นี้ เป็นช่วงที่ทุกคนสามารถลงทุน Thai ESGX ได้แล้ว ซึ่งเป็นจังหวะดีที่จะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ส่วนกองทุนวายุภักษ์ที่มีความกังวลว่าจะมีการเทขายออกมา จากที่คุยกับนางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงไทย (KTAM) ในฐานะผู้จัดการกองทุนวายุภักษ์ ยังยืนยันว่าไม่มีการขายหุ้นออกมา และยังมีเงินเหลือมากพอที่จะเข้าซื้อ

สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ จากข้อมูลทีมวิเคราะห์ของ ตลท. ประเมินผลกระทบโดยตรงกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) น้อย เนื่องจากรายได้ของ บจ. ที่มาจากสหรัฐมีเพียง 2% ของรายได้ทั้งหมด แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมที่ประเมินได้ยาก เพราะไทยเป็นคู่ค้ากับจีนค่อนข้างมาก ต้องติดตามสินค้าที่ซื้อขายจะถูกส่งไปยังประเทศใด ลดความต้องการสินค้าจากประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน เป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์อีกมาก