ผู้ถือหุ้น THAI ไฟเขียวตั้งบอร์ดใหม่ 11 คน ลุ้นเคาะชื่อประธาน Q2
ผู้ถือหุ้น THAI ไฟเขียวตั้งบอร์ดใหม่ 11 คน จาก 12 คน “ชาติชาย โรจนรัตนางกูร” ตัวแทนจาก สหกรณ์ออมทรัพย์ กฟผ. ถูกตัดออก หลังคะแนนโหวตน้อยสุด จับตาเลือกประธานบอร์ด ไตรมาส 2/68
วันนี้ (18 เม.ย.2568) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2568 เวลา 13.00 น. ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณาอนุมัติ 3 วาระ ได้แก่
วาระที่ 1 พิจารณาอนุมัติกำหนดจำนวนกรรมการ (บอร์ด) บริษัท
วาระที่ 2 พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่ของบริษัท
วาระที่ 3 พิจารณาอนุมัติกำหนดกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท
ทั้งนี้ ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นวันนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม คิดเป็น 82% หรือราว 2.4 หมื่นล้านหุ้น จากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 2.8 หมื่นล้านหุ้น
ผลปรากฏว่า วาระที่ 1 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติกำหนดจำนวนกรรมการการบินไทย จำนวน 11 คน จากที่เสนอขออนุมัติจำนวน 12 คน
วาระที่ 2 ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่ของการบินไทย เหลือจำนวน 8 คน จากที่เสนอขออนุมัติจำนวน 9 คน หลังจากในวาระที่ 1 ได้กำหนดจำนวนกรรมการ จำนวน 11 คน โดยตัดตัวแทนจาก สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด ออกไป
หลังจากผู้ถือหุ้นได้ลงคะแนนเสียงให้ นายชาติชาย โรจนรัตนางกูร ตัวแทนกรรมการจาก สหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำกัด มีคะแนนน้อยที่สุด
ขณะที่ นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเป็นอันดับ 1 จำนวน 1.96 หมื่นล้านหุ้น
สำหรับรายชื่อกรรมการใหม่ จำนวน 8 คน ประกอบด้วย
- นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง
- ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต
- นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก
- พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ
- นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร
- นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด
- นายสัมฤทธิ์ สำเนียง อดีตผู้บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP
- นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI
เมื่อรวมกับกรรมการปัจจุบันที่ยังไม่หมดวาระ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย
- นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
- นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
- พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย
ดังนั้นส่งผลให้กรรมการการบินไทยชุดใหม่ มีจำนวนทั้งสิ้น 11 คน ประกอบด้วย
- นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
- นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ
- พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย
- นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กรรมการ
- ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กรรมการ
- นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก กรรมการ
- พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ กรรมการ
- นายณปกรณ์ ธนสุวรรณเกษม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการธนาคาร กรรมการอิสระ
- นายยรรยง เดชภิรัตนมงคล อัยการพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด กรรมการอิสระ
- นายสัมฤทธิ์ สำเนียง อดีตผู้บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม กรรมการอิสระ
- นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการ
วาระที่ 3 พิจารณาอนุมัติกำหนดกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ผู้ถือหุ้นได้คัดเลือกให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นผู้มีอำนาจชั่วคราว ระหว่างรอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ
ส่วนตำแหน่งประธานกรรมการการบินไทย ทางคณะกรรมการบอร์ดจะพิจารณาเลือก หลังจากการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยคาดว่าจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในไตรมาส 2/2568
อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2568 ผู้บริหารแผนฟื้นฟูมีมติอนุมัติการลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้นของบริษัทฯ จากหุ้นละ 10 บาท เป็นหุ้นละ 1.30 บาท เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมทางบัญชีของบริษัทฯ ให้ใกล้เคียงศูนย์มากที่สุด
ทำให้ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้วของบริษัทฯ ลดลงจากจำนวนประมาณ 283,033 ล้านบาท เป็นจำนวนประมาณ 36,794 ล้านบาท และทำให้ผลขาดทุนสะสมลดลงเหลือ 180 ล้านบาท
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือบริษัทแต่อย่างใด และไม่ส่งผลกระทบต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมในงบการเงินของบริษัท อีกทั้งไม่มีผลกระทบต่อมูลค่าบริษัทหรือมูลค่าต่อหุ้นเนื่องจากมูลค่าต่อหุ้นไม่ได้ถูกกำหนดจากมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) และเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถพิจารณาจ่ายเงินปันผลในอนาคตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท
รวมถึงเจ้าหนี้จากการแปลงหนี้เป็นทุน และเป็นการเพิ่มความน่าสนใจของหุ้นให้แก่นักลงทุนภายหลังการกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
หรือหากในอนาคต บริษัทต้องการที่จะระดมทุนเพิ่มเติมโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อนำมาใช้ในการประกอบกิจการหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทก็สามารถดำเนินการได้โดยไม่ติดขัดเรื่องผลขาดทุนสะสมซึ่งเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชีอีกต่อไป
ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ตามงบเฉพาะกิจการกลับมาเป็นบวกที่ 45,495 ล้านบาท จากที่เคยติดลบ 43,352 ล้านบาทในปี 2566 หลักๆ เกิดมาจากกำไรจากการดำเนินงานในระหว่างปี และผลจากการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ
ส่งผลให้การบินไทยสามารถบรรลุอีกหนึ่งเงื่อนไขผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ และยังส่งผลให้เหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมดไป และทำให้บริษัทพร้อมเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการและกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ