“เอนก อยู่ยืน” กาง พ.ร.ก. ติดดาบ ก.ล.ต. ยันฟันคนผิด ฟื้นตลาดหุ้นไทย

“เอนก อยู่ยืน” กาง พ.ร.ก. ติดดาบ ก.ล.ต. ยันฟันคนผิด ฟื้นตลาดหุ้นไทย

21 เมษายน 2568

“เอนก อยู่ยืน” สร้างความเข้าใจ พ.ร.ก. เพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ติดอาวุธให้สาวถึงคนผิดจริง ลดเวลาดำเนินคดี ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย คาดประกาศใช้บังคับเร็วๆ นี้

KEY

POINTS

  • “เอนก อยู่ยืน” สร้างความเข้าใ

ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2568 ได้มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (ชุดยกระดับการกำกับดูแลกิจการและมาตรการบังคับใช้กฎหมาย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

“เอนก อยู่ยืน” รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า เมื่อ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับแล้ว เพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย จะทำให้ ก.ล.ต.มีดาบ มีอาวุธ ที่จะจัดการคนไม่ดีครบถ้วนเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เรามีมาตรการทางแพ่ง เป็นเหมือนปืนกลตัวหนึ่ง เมื่อ พ.ร.ก.นี้ มีผลใช้บังคับก็จะมีปืนใหญ่มาช่วยอีกอันหนึ่ง ดังนั้นก็เชื่อว่าตลาดทุนไทยน่าจะดีขึ้น

“เมื่อ พ.ร.ก.นี้ มีผลใช้บังคับ ก็เชื่อว่าตลาดทุนจะดีขึ้น โดยคดีใหญ่ๆ คงต้องเชือดให้ดู คดีของเราเป็น high impact แสดงว่ากระทบประชาชนโดยทั่วไปสูง ถ้าเราเดินอาญา เชื่อว่าศาลต้องสั่งจําคุก อันนี้คือสิ่งที่เราได้มาเพิ่มจากการใช้แพ่ง รวมทั้งในขณะนี้ นายธวัชชัย พิทยโสภณ รองเลขาธิการ ดูแลสายกฎหมาย และสายบังคับใช้กฎหมาย ก็เตรียมพนักงานรองรับไว้แล้ว”   

โดยร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว มีการปรับปรุงในหลายส่วน ส่วนที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายชอร์ต พ.ร.ก.นี้ เมื่อ ก.ล.ต.ร้องขอข้อมูล ผู้ให้บริการในต่างประเทศต้องรีบส่งรายงานข้อมูลผู้ถือหลักทรัพย์ที่แท้จริงต่อ ก.ล.ต. ดังนั้นกลไกก็จะเร็วขึ้น กระชับขึ้น จากเดิม ก.ล.ต.ต้องขอข้อมูลผ่านหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 

นอกจากนี้ หากมีการตรวจสอบพบการขาย Naked Short สามารถลงโทษคนที่ขายได้ และโบรกเกอร์ก็ยังถูกลงโทษด้วย จากเดิมที่กฎหมายปัจจุบันลงโทษได้เฉพาะโบรกเกอร์ เพราะไม่มีกลไกในการดูแลไม่ให้เกิดการขาย Naked Short แต่ไม่สามารถลงโทษคนขายที่แท้จริงได้ 

ส่วนที่ 2 การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับตลาดทุน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน 

หลังจากตลาดทุนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นจุดที่โดนตั้งคำถามเยอะมาก เช่น ทําไมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ทุจริตได้ง่าย กลไก gatekeeper ที่เราวางเอาไว้ เดิมในอดีตเราเชื่อว่า gatekeeper ไม่ว่าเป็นกรรมการตรวจสอบ กรรมการอิสระ ผู้สอบบัญชี เป็นด่านหน้าในการช่วยกลั่นกรอง ช่วยดู ช่วยป้องกัน แต่ทำได้ไม่ดี จึงหากลไกที่ทําให้ gatekeeper เข้มแข็งขึ้น

พ.ร.ก.นี้ จะไปแก้ไขเรื่อง gatekeeper ถ้าปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องก็สามารถลงโทษสํานักงานบัญชี และที่ปรึกษาการเงินได้โดยตรง เพื่อให้เกิดความมั่นเชื่อมั่นในส่วนนี้  

ส่วนที่ 3 การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย พ.ร.ก.นี้ จะแก้ไขให้ผู้แทนผู้ถือกู้มีสิทธิเข้าไปผ่านกระบวนการใช้สิทธิแทนผู้ถือหุ้นกู้ได้ในกรณีที่มีการล้มละลาย หรือมีการฟื้นฟู โดยไม่ตัดสิทธิผู้ถือหุ้นกู้ที่จะดำเนินการในนามของตนเอง จากเดิมผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีบทบาทเต็มที่ในการที่จะไปใช้สิทธิแทนผู้ถือหุ้นกู้ 

“เอนก อยู่ยืน” กาง พ.ร.ก. ติดดาบ ก.ล.ต. ยันฟันคนผิด ฟื้นตลาดหุ้นไทย

ส่วนที่ 4 การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ โดยที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) หลังจากนำหุ้นไปจำนำไว้กับบุคคลอื่นในจำนวนที่เป็นนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียน 

พ.ร.ก.นี้ จะให้มีการรายงานข้อมูลการจำนำหุ้นต่อ ก.ล.ต.เร็วขึ้น ในรูปแบบเดียวกับรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของผู้บริหาร (แบบ 59) และรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการ (แบบ 246-2) เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนของผู้ลงทุน จากเดิมที่ผู้ลงทุนมารู้อีกทีคือโดนบังคับหายไปแล้ว ซึ่งจะมีการกำหนดว่าสัดส่วนเท่าใดถึงจะต้องมีการรายงานข้อมูลดังกล่าว

ส่วนที่ 5 การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการยับยั้งความเสียหาย กฎหมายปัจจุบันทําอะไรไม่ได้มาก ทําได้มากสุด คือ เรียกกรรมการมาชี้แจงว่าได้พิจารณารอบคอบระมัดระวังเพียงพอหรือไม่ ซึ่งถ้าถึงวันชี้แจงแต่ธุรกรรมมันเกิดไปแล้วมันเกิดความเสียหาย แต่ พ.ร.ก.นี้ หากพิสูจน์ได้ว่าอาจจะเกิดความเสียหายก็ยับยั้งก่อน เพื่อไม่ให้เกิดธุรกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ยับยั้งได้ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นต้องไปให้ศาลพิจารณาต่อ

ส่วนที่ 6 การให้เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนในคดี high impact ก.ล.ต. มีอำนาจในการทำคดีและเมื่อสรุปสำนวนเสร็จสิ้น จะนำส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง ทำให้ลดขั้นตอนการส่งไปยังตำรวจ ช่วยลดระยะเวลาการดำเนินคดีได้อย่างน้อย 18 เดือน อย่างไรก็ตาม สามารถยืมตัวพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนคดีพิเศษหรือเจ้าหน้าที่คดีพิเศษมาร่วมสอบสวนคดีได้ด้วย

“คดีทั้งหมดที่ ก.ล.ต.กล่าวโทษ แล้วกว่าพนักงานสอบสวนจะทําเสร็จแล้วส่งไปให้อัยการเฉลี่ย 18 เดือน แต่ถ้าคดีที่มีอิมแพคสูง เชื่อว่าจะยาวกว่า 18 เดือน ดังนั้นก็จะลดระยะเวลาดำเนินคดีได้มากกว่า 18 เดือน”    

สำหรับที่มาของร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว เพื่อแก้จุดอ่อนที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น บจ.ทุจริตได้ง่าย ราคาหุ้นร่วงหนักจากการถูกบังคับขาย ซึ่งแต่ละเรื่องที่มีการแก้ไขก็เป็นเรื่องที่สําคัญมาก ซึ่งรัฐบาลก็คงเห็นว่ามีประเด็นอะไร และกระทรวงการคลังก็เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องคุยกับ ก.ล.ต. จึงยกแต่ประเด็นสําคัญๆ เร่งด่วนมาออกเป็น พ.ร.ก. ส่วน พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ก็ยังดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ อยู่เช่นกัน  

“เอนก” อธิบายให้ฟังถึงสายบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยทำงานในส่วนนี้มาก่อนประมาณ 7-8 ปี ทำให้ทราบถึงกระบวนการทำงาน โดยกลไกของสายบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้เบ็ดเสร็จอยู่ที่คนใดคนหนึ่ง หรือทีมใดทีมหนึ่ง จะมีคณะกรรมการตรวจสอบด้านคดี ซึ่งจะเป็นบุคคลจากระดับบนของสํานักงาน ก.ล.ต.ในหลายๆ สายงานไม่ได้อยู่ในสายงานเดียวเบ็ดเสร็จ ประกอบกับยังมีอัยการมาช่วยดูคดีก่อนส่งให้เลขาธิการ ก.ล.ต.

ขณะที่ในส่วนของคณะกรรมการ (บอร์ด) ก.ล.ต.จะไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในการตรวจสอบคดี เนื่องจากบทบาทของบอร์ดจะดูภาพรวมนโยบาย และดูเรื่องเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่วนในเรื่องการตรวจสอบคดี บอร์ดจะทราบแบบกว้างๆ ว่ามีกี่คดี แต่ไม่ทราบในรายละเอียดของคดี 

ทั้งนี้ หลังจาก ร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ผ่าน ครม.แล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค.2568 ที่ผ่านมา ขั้นตอนต่อไปจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป หลังจากนั้นส่งกลับมาให้ ครม.มีมติรับทราบ ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษา และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับใช้เร็วๆ นี้   

Thailand Web Stat