SCGP บวก 3.05% รับข่าวผลิตหลอด-เข็มฉีดยา โบรกส่อง Q1 พลิกกำไร
ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น "บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP" เปิดการซื้อขายในช่วงเช้าวันนี้ (25 เม.ย.68) ที่ 13.20 บาท จากราคาปิดก่อนหน้าที่ 13.10 บาท
ล่าสุด ณ เวลา 10.31 น. ราคาหุ้น SCGP อยู่ที่ 13.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.40 บาท คิดเป็น +3.05% มูลค่าการซื้อขาย 51.12 ล้านบาท ราคาขึ้นสูงสุด 13.50 บาท และลดลงต่ำสุด 13.20 บาท
ทุ่ม 142.3 ลบ. รุกตลาดหลอด-เข็มฉีดยา
นายวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP กล่าวว่า บริษัทวางกลยุทธ์เพิ่มศักยภาพการขยายตลาด Healthcare Supplies ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการรุกเข้าสู่ตลาดหลอดฉีดยาและเข็มฉีดยา
ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตหลอดฉีดยา กำลังการผลิต 180 ล้านชิ้นต่อปี และเข็มฉีดยาอีก 100 ล้านชิ้นต่อปี ในโรงงานของบริษัทวีอีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด (VEM-TH) ใน SCGP จังหวัดระยอง ใช้งบลงทุน 142.3 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการผลิตสินค้าภายในเดือนมกราคม 2569
การลงทุนขยายกำลังการผลิตครั้งนี้ SCGP ได้ผสานความร่วมมือกับ Once Medical Company Limited (Once) ที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาเข็มฉีดยาและการจัดจำหน่ายมากกว่า 20 ปี มาผลิตหลอดฉีดยาและเข็มฉีดยาที่ VEM-TH ที่มีศักยภาพด้านการฉีดขึ้นรูปวัสดุ ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และชิ้นส่วนพลาสติกที่มีความแม่นยำสูง ด้วยมาตรฐานรับรองห้องสะอาดที่มีการควบคุมปริมาณอนุภาคและอุณหภูมิ (Cleanroom ISO8) ภายใต้การควบคุมการผลิตด้วยระบบที่เข้มงวด เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพภายใต้แบรนด์ ONCE
และจัดจำหน่ายแก่สถานพยาบาลทั่วประเทศรวมถึงผู้จัดจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถต่อยอดจากฐานลูกค้าเดิมของ ONCE ที่มีความเชื่อมั่นในแบรนด์พร้อมกับขยายฐานลูกค้าใหม่ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ
ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วโลกเติบโตขึ้น โดยคาดว่าตลาดจะมีการเติบโตร้อยละ 4 ต่อปีโดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2567-2570 ปัจจุบันสินค้าที่ขายในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า การจัดตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยจะต่อยอดให้บริษัทสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและรองรับตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในประเทศที่กำลังเติบโต
การเพิ่มการผลิตนี้จะช่วยให้ SCGP นำองค์ความรู้ทางการการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (Rigid plastic packaging) และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบอ่อนตัว (Flexible packaging) มาต่อยอดและขยายเข้าสู่ธุรกิจอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมีการออกแบบสินค้าและความสามารถในการผลิตที่มีความแม่นยำสูง
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจเติบโตผ่านการประสานกำลังทางธุรกิจ (Synergy) ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การใช้ VEM-TH ในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ จนถึงการใช้ Deltalab, S.L. ที่สเปน เป็นช่องทางการขายในยุโรปได้ด้วย
งบ Q1/68 ฟื้น Q2 ไม่ชัด
บล.ทิสโก้ แนะนำถือ มูลค่าที่เหมาะสม 18.50 บาท คาดการณ์กำไรในไตรมาส 1/68 ที่ 677 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจาก 34 ล้านบาทในไตรมาส 4/67 แต่ลดลง 60% จากปีก่อน ซึ่งคาดการณ์ไม่รวมรายการพิเศษใดๆ ปัจจัยหนุนประการแรก คือ ผลขาดทุนจาก Fajar ควรจะยังคงลดลงเนื่องจากการริเริ่มการจัดการต้นทุน นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลของต้นทุนการขนส่งควรถูกชดเชยด้วยการลดลงของราคาถ่านหิน
ประการที่สอง ปริมาณกระดาษบรรจุภัณฑ์โดยรวมคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความต้องการเติมสต็อกก่อนช่วงเทศกาล ยกเว้นในเวียดนาม ประการที่สาม EBITDA margin โดยรวมควรจะเห็นการปรับปรุงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลกระทบของการล่าช้า 3 เดือน ขณะที่ราคากระดาษ testliner ยังคงมีเสถียรภาพ ราคา AOCC ลดลงในไตรมาส 4/67 สุดท้ายธุรกิจเส้นใยควรจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการดำเนินงานกลับมาหลังจากการบำรุงรักษาหนึ่งเดือน
ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/68 ยังไม่แน่นอน เนื่องจากการประกาศ "ภาษีตอบโต้" โดยสหรัฐฯ ขณะที่ความเป็นไปได้ของสงครามการค้าอาจนำไปสู่การสต็อกสินค้าในระยะสั้นในช่วงพักการใช้ภาษี 90 วัน ผลกระทบทางอ้อมในระยะยาวต่อความต้องการของลูกค้าเป็นที่น่ากังวล
ปริมาณอาจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเนื่องจาก SCGP มีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตให้สูงกว่า 90% ในไตรมาส 2/68 เทียบกับปัจจุบันที่ 87% ขณะเดียวกัน ผู้บริหารยังคงมีเป้าหมายให้ Fajar คุ้มทุนที่ระดับ EBITDA ในไตรมาส 2/68 จากความต้องการตามฤดูกาลที่เพิ่มขึ้นหลังจากฮารีรายา และการปรับโครงสร้างต้นทุนเพิ่มเติม
พลิกมีกําไร 793 ลบ.
บล.ทรีนีตี้ ปรับคําแนะนําขึ้นเป็น "ซื้อ" และปรับราคาเป้าหมายเป็น 14.50 บาท PER ที่ 18.5 เท่า หรือเทียบเท่า 0.8 เท่า PBV ปี 68 ยังคงเป็นปีที่มีความท้าทายจาก oversupply และผลกระทบจาก Trade War ปัจจุบันราคาหุ้นเทรดที่ระดับ -2SD PER เชื่อว่าสะท้อนผลกระทบดังกล่าวไปมากพอสมควรแล้ว
คาด SCGP ไตรมาส 1/68 จะมีกําไรที่ 793 ล้านบาท ลดลง 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่พลิกจากขาดทุนในไตรมาส 4/67 ที่ 57 ล้านบาท โดยลดลงจากปีก่อนจาก supply ที่ยังค่อนข้างมากกดดันต่อราคาขายที่ปรับลดลง ขณะที่ปรับขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าจากต้นทุนที่ปรับลดลง ขณะที่ราคาขายโดยรวมยังทรงตัวได้
คงประมาณการกําไรปี 68 ที่ 3.3 พันล้านบาท ประเมินปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยคาดการณ์กําไรไตรมาส 1/68 คิดเป็น 24% ของประมาณการ