คนรวยๆ เขาทำอย่างนี้
โดย...วรวรรณ ธาราภูมิ CEO กองทุนบัวหลวง
โดย...วรวรรณ ธาราภูมิ CEO กองทุนบัวหลวง
“เถ้าแก่” เป็นคำที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ใช้เรียกผู้สร้างตนเองจนมีฐานะและกิจการที่ร่ำรวย ส่วนฝรั่งเขาเรียกเถ้าแก่กันว่า Entrepreneur
คนไทยเดี๋ยวนี้ไม่ใช้คำว่าเถ้าแก่แล้ว อาจจะเพราะฟังเสียงอ่านแล้วมันทั้ง “เฒ่า” และทั้ง “แก่” หลายคนเลยไม่ชอบใช้คำนี้ บอกว่าฟังแล้วไม่มงคลหู
แต่ไม่ว่าจะเป็นเถ้าแก่ เถ้าหนุ่ม หรือเถ้าสาว ของชาติไหน ก็มักจะชาญฉลาดในกิจการ สามารถจัดการบริษัทได้ยอดเยี่ยม แต่อาจบริหารเงินทั้งของตนเองและของกิจการไม่ได้ดีไปทุกคน
ที่จริงแล้วเป้าหมายของ Entrepreneur ในเรื่องบริหารเงินนั้นล้วนแต่ไม่ต่างกัน เพราะมี 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ทำอย่างไรถึงจะรวยขึ้น กับ 2.ทำอย่างไรจึงจะรักษาส่วนที่รวยอยู่แล้วเอาไว้ได้ เพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดความมั่งคั่งไปได้อย่างยั่งยืน
ไว้ว่างๆ จะเขียนเรื่องนี้ให้เศรษฐีโดยเฉพาะ โดยจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการความมั่งคั่ง กับการจัดการอารมณ์ของคนหลายรุ่นในครอบครัวเศรษฐี
อย่าเพิ่งประหลาดใจไปเลยที่ว่าถึงการจัดการอารมณ์คน เพราะเรื่องนี้สำคัญพอๆ กับการจัดการทรัพย์สินทีเดียว ซึ่งหากละเลยไป ทุกอย่างอาจจะพังทลายไปได้ง่ายๆ เชียวละ
วันนี้จะเน้นเรื่องการบริหารเงินของคนทั่วไป ว่าจะมีหลักการที่ต่างกับคนรวยๆ อย่างไร หรือไม่
เรื่องนี้ Martin Graham ประธานกรรมการ Advisory Board ของ Oracle Capital Group แนะนำเรื่องการบริหารเงิน บอกว่า มันไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือมีเงินน้อย เรียกว่าขอให้มีเงินก่อน มีสักหน่อยก็เอาไปบริหารด้วยวิธีพื้นฐานคล้ายๆ กันได้
นึกถึงตอนเปิดบูธในงานมหกรรมการเงินต่างๆ ที่มีบูธธนาคาร กองทุน มีคนเดินเข้ามาที่บูธกองทุน มาขอกู้เงิน และเพื่อไม่ให้ท่านผู้นั้นเสียเวลา ก็ต้องบอกไปอย่างเกรงอกเกรงใจยิ่งว่า “มีเงิน ให้มาที่นี่ ... ถ้ายังไม่มี ให้ไปที่นั่น” (แล้วก็ชี้มือไปที่บูธแบงก์เพื่อให้แบงก์แนะนำการกู้ที่เหมาะสม)
Martin Graham มีกฎ 5 ข้อที่ใช้ในการจัดการเงินทอง ได้แก่
1.ลงทุนระยะยาวด้วยเงินที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้อีกยาวนาน
ถ้ายังไม่มีเงินสำรองฉุกเฉิน ก็อย่าเพิ่งไปลงทุนในหุ้น อย่างน้อยต้องมั่นใจว่าเงินที่จะนำไปลงทุนในหุ้นนั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้มันเลยในเวลา 5 ปี แม้จะมีเรื่องฉุกเฉินเราก็มีส่วนหนึ่งที่กันเอาไว้ต่างหากแล้ว
2.อย่าไปลงทุนในอะไรที่เราไม่รู้จัก
ในโลกของการลงทุน คนเดินดินทั่วๆ ไปมักจะมีสายตาที่แหลมคมกว่ามืออาชีพ
เรื่องนี้ Graham ยกตัวอย่างมาอธิบายว่า ในปี 2012 Marks & Spencer นำผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดและเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินลูกค้า ไม่ใส่ใจเข้าถึงรสนิยมลูกค้า แต่นักวิเคราะห์หุ้นกลับไม่ได้สังเกตเห็นจุดนี้ จึงวิเคราะห์ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มเชิงลบที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่คนเดินถนนกลับสังเกตเห็นความผิดปกตินี้ได้ง่ายๆ
ดังนั้น เราจึงควรลงทุนแต่เฉพาะกิจการที่เราเองรู้จักดีเท่านั้น เพราะผู้เชี่ยวชาญก็สามารถผิดพลาดได้
3.อย่าแช่การลงทุนไว้จนชั่วนิจนิรันดร์
เราต้องกระจายการลงทุนทั้งในแง่สินทรัพย์ อุตสาหกรรม และพื้นที่ที่ลงทุน และสำคัญมากที่จะต้องมีการปกป้องในยามตลาดเป็นขาลง เช่น สลับหมุนเวียนการลงทุนเป็นครั้งคราว เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความให้เราไปนั่งจ้องตลาดวันละเป็นชั่วโมงๆ เพื่อพยายามซื้อๆ ขายๆ ให้ได้กำไร เพราะสิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการวางแผนการลงทุน ซึ่งหากทำไม่เป็นก็ให้ใช้บริการที่ปรึกษาหรือผู้แนะนำการลงทุนที่มีประสบการณ์ และเขาจะแนะนำให้ได้ว่าเราควรปรับพอร์ตลงทุนได้เมื่อไหร่
กุญแจสำคัญก็คือ เตรียมพร้อมสำหรับปรับสมดุลพอร์ตลงทุนของเรา (Portfolio Rebalancing) เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสมที่สุดภายใต้ความเสี่ยงที่เรารับได้ โดยเฉพาะเมื่อเราแก่ตัวลง และไม่อยากนำเงินก้อนสุดท้ายไปเสี่ยงมากๆ
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ คนไทยแม้จะเริ่มลงทุนกันเป็นบ้างแล้ว แต่มักไม่รู้จักวางแผนลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอที่ผสมผสานด้วยสินทรัพย์หลากหลาย
หรือถ้าวางแผนลงทุนแล้ว ก็ไม่รู้จักการปรับสมดุลพอร์ตลงทุนของตน ทั้งๆ ที่นั่นคือการเปิดรับความเสี่ยงจากการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ที่เราลงทุนอย่างเต็มที่ ไม่มีดิสเบรก
4.ยืนคนละข้างกับฝูงชน
ตลาดและสื่อมวลชนที่เสนอข้อมูลตามตลาดไม่ได้ถูกเสมอไป อย่าแห่ลงทุนหรือแห่ขายตามตลาด จงกล้าในการแสวงหาสิ่งดีๆ ที่คนมองข้าม กล้าลงทุนในสิ่งดีๆ ที่อารมณ์ตลาดถล่มขาย และกล้าขายสิ่งที่ตลาดไล่ตามลงทุน เพราะมันจะทำให้เราซื้อของดีได้ในราคาถูก ในขณะที่ขายออกไปได้แพงๆ
5.ลงทุนแบบเผื่อเหลือเผื่อขาด
กฎเหล็กที่สุดในการบริหารเงินของเศรษฐี คือ ต้องปกป้องความมั่งคั่งเอาไว้ให้ได้ และต้องปกป้องให้ถึงมือทายาทในรุ่นต่อๆ ไปได้โดยไม่เสียหาย
ในการทำให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นกฎเหล็กนี้ หลายๆ คนมักลืมสัจธรรมของชีวิต นั่นก็คือ ท้องฟ้าไม่ได้สดใสไร้เมฆหมอกทุกวัน บางวันก็มีพายุ มีฝนกระหน่ำจนเปียกปอน เพราะกิจการที่เป็นเจ้าของหรือที่เป็นลูกจ้างก็มีวันซวนเซจนเราต้องตกงานอย่างไม่ได้คาดคิดได้
นอกจากนี้ เรายังอาจเจออุปสรรคในชีวิตส่วนตน ในชีวิตครอบครัว เช่น การหย่าร้าง หรือลูกหลานมีปัญหาทางการเงินจนต้องมาขอความช่วยเหลือจากเรา และแน่ละ สิ่งเหล่านี้คนส่วนใหญ่มักไม่ได้ใส่มันลงไปในแผนการลงทุน
ดังนั้น ต้องเผื่อสิ่งไม่คาดฝันเหล่านี้ลงไปในแผนการลงทุนด้วย อย่าลงทุนจำนวนมากในอะไรที่ขายออกได้ยาก หรือที่เรียกว่ามีสภาพคล่องน้อย เช่นอสังหาริมทรัพย์ เพราะต่อให้ซื้อได้ถูกมากเพียงใด หากขายได้ยากในยามเราจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนแล้วเราจะลำบากมาก