รู้จักกับบัญชี FCD
โดย...บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(ประเทศไทย)
โดย...บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า(ประเทศไทย)
สำหรับท่านที่ทำธุรกิจที่ต้องมีการรับหรือจ่ายเงินในสกุลต่างประเทศนั้น คงจะรู้จักบัญชี FCD ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากในสกุลต่างประเทศที่เปิดกับธนาคารพาณิชย์ไทยกันบ้างใช่ไหมล่ะครับ ซึ่งอีกไม่นานทางธนาคารกรุงไทยจะมีบริการพิเศษที่เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนใน USD Futures สามารถแลกเงินเหรียญสหรัฐจริงได้ โดยผ่านบัญชี FCD ในวันนี้จึงขออนุญาตและนำบัญชี FCD นี้ มาเล่าให้กับท่านที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยได้รู้จักกันนะครับ
บัญชี FCD มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Foreign Currency Deposit หรือ “บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศสำหรับบุคคลที่มีถิ่นอยู่ในประเทศ” บัญชี FCD มีลักษณะคล้ายกับบัญชีฝากปกติที่ลูกค้าเปิดไว้กับธนาคาร แต่จะเก็บเงินฝากไว้ในรูปแบบเงินตราต่างประเทศ เช่น ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ (USD) เงินปอนด์ (GBP) เงินยูโร (EUR) เงินเยน (JPY) เป็นต้น
บัญชีเงินฝาก FCD จึงมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่ต้องใช้เงินตราต่างประเทศอยู่เสมอ เช่น ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า เช่น หากในวันนี้ลูกค้าโอนเงินเข้ามาในบัญชี 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และท่านจะมีค่าใช้จ่ายมีเป็นเงินเหรียญสหรัฐในอนาคต การแปลงเงินกลับไปกลับมาจึงอาจจะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายด้านการแปลงเงินได้ ผู้ลงทุนก็สามารถเลือกที่จะเก็บเงินที่ได้รับมานี้ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ ในบัญชีเงินฝาก FCD และเมื่อต้องการใช้เงินเหรียญสหรัฐ ก็สามารถโอนออกจากบัญชีนี้โดยตรงครับ
ผู้ที่สามารถเปิดบัญชีเงินฝาก FCD ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น บุคคลธรรมดาก็สามารถเปิดบัญชี FCD ได้เช่นกัน เช่น ผู้ปกครองที่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนที่ต่างประเทศ ก็อาจจะเปิดบัญชี FCD ไว้ และแปลงเงินบาทไปเก็บไว้ในบัญชี FCD ในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็งค่า เพื่อรอที่จะชำระค่าเทอมบุตรในอนาคต หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีกิจการใดๆ เกี่ยวเนื่องกับต่างประเทศ แต่ต้องการแลกเงินไว้เผื่อใช้จ่ายท่องเที่ยวในอนาคตก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยสำหรับบุคคลทั่วไป เอกสารที่ต้องใช้ในการเปิดบัญชี ก็ใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว ในขณะที่นิติบุคคลก็ใช้เอกสารในลักษณะเดียวกับการเปิดบัญชีทั่วไปครับ
อย่างไรก็ตาม บัญชี FCD สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น (1) บัญชีสำหรับผู้ที่มีแหล่งที่มาของเงินจากในประเทศและไม่มีภาระผูกพันใดๆ เช่น บุคคลทั่วไปที่ต้องการแลกเงินเพื่อท่องเที่ยวในต่างประเทศในอนาคต หรือ (2) บัญชีสำหรับผู้มีแหล่งที่มาของเงินจากในประเทศและมีภาระผูกพัน เช่น ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องจ่ายค่าวัตถุดิบเป็นเงินสกุลต่างประเทศ หรือท่านที่ต้องจ่ายเงินค่าเทอมบุตรหลานในต่างประเทศ และ (3) บัญชีสำหรับผู้ที่มีแหล่งที่มาของเงินจากต่างประเทศ เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจนำเข้า-ส่งออก ซึ่งบัญชีแต่ละแบบจะกำหนดวงเงินสูงสุดที่สามารถฝากได้ และกำหนดว่าเจ้าของบัญชีจะต้องแสดงหลักฐานประกอบที่แตกต่างกัน
บัญชี FCD มีทั้งประเภทฝากออมทรัพย์และฝากประจำ โดยเงินฝากในบัญชี FCD จะได้รับดอกเบี้ยแตกต่างกันไปตามแต่ละสกุลเงิน เช่น จากประกาศของธนาคารกรุงไทย ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2555 การฝาก FCD ประจำ 1 ปี ในสกุลเงิน USD จะได้ดอกเบี้ย 0.95% ขณะที่เงินฝากสกุลเงินออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) จะได้รับดอกเบี้ย 3.5%
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการกำหนดระดับเงินคงเหลือเฉลี่ยในบัญชี ที่จะสามารถฝากเงินได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาการฝากเงินสกุล USD สำหรับบุคคลทั่วไป ต้องมียอดเงินคงเหลือเฉลี่ยที่ 500 เหรียญสหรัฐ มิฉะนั้นแล้วจะเสียค่าธรรมเนียมในการรักษาบัญชี 10 เหรียญสหรัฐต่อเดือน แต่เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงไทยได้ปรับลดยอดเฉลี่ยขั้นต่ำลงเหลือเพียง 100 เหรียญสหรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนใน TFEX ที่จะมาใช้บริการแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐกับธนาคารในอนาคต
จะเห็นได้ว่าบัญชี FCD เป็นบัญชีที่มีประโยชน์มากในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ต้องขอเรียนว่าเกณฑ์ในการโอนเงินเข้าออกนอกประเทศผ่านบัญชี FCD ยังคงเป็นเกณฑ์การโอนเงินตามปกติที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ ดังนั้น ในการเปิดบัญชีเจ้าหน้าที่ของธนาคารยังคงต้องสอบถามท่านเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงิน และจะมีข้อกำหนดว่าเกี่ยวกับจำนวนเงินสูงสุดที่สามารถฝากได้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากธนาคารพาณิชย์ที่ท่านใช้บริการครับ