3 ประเด็นที่ต้องติดตามหลังสงกรานต์
โดย...สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
โดย...สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)
สวัสดีครับทุกท่าน สัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นเปิดทำการ 3 วัน พร้อมกับประเด็นที่ผมคิดมีความสำคัญและน่าติดตาม 3 ประเด็น
การเมืองไทย ถือว่าเป็นประเด็นแรกที่ต้องกล่าวถึง เนื่องจาก เชื่อว่าจะมีความเคลื่อนไหวที่เพิ่มขึ้น หลังจากผ่านช่วงพักยกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ปัจจัยการเมืองจะมีน้ำหนักต่อตลาดฯในสัปดาห์หน้ามากกว่าสัปดาห์นี้ เนื่องจาก ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสัปดาห์นี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับขบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต่อคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และ ของตุลาการศาลต่อคดีการโยกย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี ทั้งนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าคดีไหนจะมีข้อสรุปก่อนกัน แต่ทั้ง 2 คดีถือว่ามีน้ำหนักต่อทิศทางการเมืองไทยมากที่สุดในขณะนี้ อย่างที่ทุกท่านทราบกันดี เนื่องจาก ผลการตัดสินของทั้ง 2 องค์กรอิสระ จะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในขั้นสำคัญต่อไป รวมถึง อาจนำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงขั้นนำไปสู่ความรุนแรงอย่างที่ทุกท่านทราบกันดี แต่อีกนัยหนึ่งอาจถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้นในแง่ที่ว่าสถานการณ์การเมืองที่ไร้เสถียรภาพมาเกือบ 6 เดือน น่าจะใกล้จบเสียที โดยหวังแต่เพียงว่าจะเป็นการจบลงโดยไร้ความรุนแรง
ทั้งนี้ ผมเชื่อว่า ตลาดหุ้นได้ซึมซับปัจจัยการเมืองไปมากแล้วในช่วงตลอดเวลาเกือบ 6 เดือน สะท้อนไปที่การคาดการณ์ GDP ในปี 2557 ที่ลดลงตามลำดับจากในช่วงต้นปี 57 ที่เคยถูกคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 4% มาจนถึงปัจจุบันเหลือไม่ถึง 2% ด้านการเติบโตของผลการดำเนินงานของ บจ.ในปี 2557 หากอ้างอิง ข้อมูลของ Bloomberg Consensus พบว่า กำไรสุทธิขิองบจ.ถูกปรับลดลงจากเดิมมาแล้วกว่า 10% ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานในปี 2557 คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 8% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนับตั้งแต่ปี 2552 ที่ 16% ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่า หากการเมืองจบลงโดยไร้ความรุนแรงจะเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นในระยะกลาง เพราะทำให้มีโอกาสที่จะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลการดำเนินงานได้ภายในปีนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่แย่ไปกว่าที่คาดการณ์ แต่สำหรับในระยะสั้น ระดับ SET Index ในปัจจุบันที่ 1389 จุด +7% จากสิ้นปี 56 ถือว่าไม่ถูกแล้วสำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ที่เติบโตได้เพียง 8% และถือว่ายังไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงในกรณีที่หากเกิดความรุนแรงทางการเมือง ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าลงทุนในช่วงนี้ โดยเฉพาะ หุ้นที่มีราคาเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดฯ (Outperform) มากๆ เช่น AOT +23% DTAC +21% และ STEC +27%
เงินทุนต่างชาติไหลเข้า ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นในขณะนี้ และเชื่อว่านักลงทุนจะมีคำถามว่าเป็นเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาเพราะอะไร??? เนื่องจาก ยังคงมีปัจจัยการเมืองกดดัน โดย เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยรอบนี้เริ่มต้นในเดือน มี.ค. ซึ่งมีมูลค่าซื้อสุทธิ 14,254 ล้านบาท ส่วนเดือนนี้ถึงวันที่ 11 เม.ย. มีมูลค่าซื้อสุทธิ 5,620 ล้านบาท แต่หากนับรวมมูลค่าซื้อ-ขายสุทธิตั้งแต่ต้นปี 2557 ยังคงเป็นขายสุทธิ 15,167 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการขายสุทธิในเดือน ก.พ.
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เงินทุนไหลเข้ามานั้น เป็นผลจากภาพรวมของเงินทุนที่ไหลกลับมาที่ตลาดหุ้นเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่ากลับมาที่ตลาดหุ้นแถบอาเซียนมากกว่าแถบเอเชียเหนือ โดยเฉพาะ กลับมาที่ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเป็นตลาดแรก หลังจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคลี่คลายขึ้น จากนโยบายของรัฐบาล และ การที่ค่าเงินรูเปี๊ยะอ่อนค่าลง หลังจากนั้นเก็เริ่มเห็นการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติตามมาที่ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ และไทย ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าในตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ เป็นมูลค่าซื้อสุทธิแล้ว เหลือเพียงตลาดหุ้นไทยที่เป็นยอดสุทธิขาย ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามารอบนี้ไม่ได้เป็นอิทธิของตลาดหุ้นไทยแต่เป็นอิทธิของภูมิภาคเอเชีย แต่ก็สังเกตได้ว่าเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยยังคงน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ซึ่งถือว่าเป็นผลจากการเมืองในประเทศที่กดดันอยู่นั่นเอง
ส่วน สาเหตที่ทำไมเงินทุนต่างชาติจึงไหลกลับมาที่เอเชียหลังจากมีเงินทุนไหลออกไปเป็นจำนวนมากในช่วง 1 ปีผ่านมานั้น ผมคิดว่าเกิดจากปัจจัยหลัก คือ การลดความเสี่ยง จากการลงทุนในตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว หรือที่มักได้ยินกันเป็นประจำว่า Developed Markets เนื่องจาก ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และ ญี่ปุ่น ถือว่าปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากในปี 56 ส่งผลให้มูลค่าหุ้นเริ่มไม่ถูก (Valuation) ในขณะที่ทั้ง 3 ตลาด เริ่มมีความผันผวนมากขึ้นในไตรมาสที่ 1/57 เนื่องจาก ความไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวม รวมถึง ปัจจัยใหม่ๆที่เข้ามากระทบ ได้แก่ ความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่อาจจะเร็วกว่าที่ตลาดการเงินคาดการณ์ซึ่งย่อมไม่ดีต่อตลาดหุ้นในช่วงแรก ความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในยูเครนซึ่งกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจในยุโรป ล่าสุดสถานการณ์ยังคงไม่น่าไว้ใจ
ญี่ปุ่นก็อยู่ในช่วงการปรับขึ้นภาษีการบริโภคซึ่งทำให้ต้องรอดูว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหนในไตรมาสที่ 2/57 นอกจากนี้ ในช่วงเดือนนี้ถึง พ.ค.จะเป็นช่วงประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/57 ส่งผลให้ นักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสดมากขึ้นเพื่อรอดูผลการดำเนินงานก่อนที่จะกลับเข้าลงทุนรอบใหม่ ดังนั้น นักลงทุนจึงควรเข้าใจว่าเงินทุนต่างชาติที่ไหลกลับเข้ามาในช่วงนี้ยังคงอาจเป็นเพียงชั่วคราว และ มูลค่าก็คงไม่มากนัก เหมือนในช่วงต้นปี 2556 เพราะ ต้องไม่ลืมว่า เรายังคงอยู่ในช่วงของการลดขนาดวงเงิน QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียยังคงไม่โดดเด่นนัก จากแรงกดดันของการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ผมเชื่อว่า เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าอย่างจริงจังในช่วงปลายปี 57 เนื่องจาก เศรษฐกิจเอเชีย โดยเฉพาะ จีน น่าจะเริ่มมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกัน การเลือกตั้งในอินโดนีเซีย และ อินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นตลาดหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากนั้น คงจะมีความชัดเจนแล้วรัฐบาลใหม่จะมีหน้าตาและนโยบายอย่างไร เช่นเดียวกัน การเมืองไทยที่น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติเสียที สำหรับ หุ้นที่ได้ประโยชน์เวลาเงินทุนต่างชาติไหลเข้า ส่วนใหญ่เป็นหุ้นธนาคารใหญ่ เช่น KBANK SCB BBL โดยผมเห็นว่า BBL ที่ราคาปัจจุบัน 187.50 บาท ยังคงซื้อได้ เนื่องจากยังคงปรับตัวเพียง 5% จากสิ้นปี 56 ซึ่งน้อยกว่า KBANK +16% และ SCB +11% รวมถึงราคายังคงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานของ MBKET ที่ประเมินไว้ที่ 240 บาท ทำให้ยังคงมี upside gain อีก 28% มากกว่า KBANK และ SCB เช่นกัน
ประเด็นสุดท้าย คือ การประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาสที่ 1/57 ซึ่งจะเริ่มต้นที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มแรก โดย MBKET คาดกำไรสุทธิรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1/57 ประกอบด้วย BAY BBL KBANK KKP KTB SCB TCAP TISCO และ TMB ไว้ที่ 4.84 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัว 7%QoQ จากผลของฤดูกาลที่ค่าใช้จ่ายลดลง แต่หากเปรียบเทียบ YoY กำไรมีแนวโน้มหดตัวลง 5% จากแรงกดดันด้านเศรษฐกิจที่ทำให้สินเชื่อชะลอตัวและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยหดตัวลง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองปรับเพิ่มขึ้น โดยประเมินว่ามีเพียง KBANK และ KTB ที่ยังเห็นการเติบโต YoY ขณะที่ธนาคารอื่นๆ กำไรหดลง YoY ในระดับกว่า 10% ด้านคุณภาพสินเชื่อยังคงเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ NPLs ต่ออีกเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ยังควบคุมได้
และอย่างที่ผมได้เรียนไปแล้วว่า ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ ได้รับประโยชน์จากเงินทุนต่างชาติไหลเข้า ซึ่งเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นชัดเจนในช่วงสิ้นเดือน มี.ค. ส่งผลให้ SET Bank ปรับตัวขึ้น 14% จากสิ้นปี 2556 จนทำให้ Valuation ปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.42 เท่า PBV แล้ว ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 1.44 เท่า ทำให้ Upside ในช่วงสั้นเริ่มจำกัด จากภาพทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัว MBKET จึงมองว่าช่วงนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยขายทำกำไรออกมาก่อน สำหรับนักลงทุนระยะสั้น แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว ราคาหุ้นปัจจุบันยังสามารถถือเพื่อลงทุนได้ โดยเลือก KTB เป็นหุ้น Top pick จากประเด็น Valuation ที่ยังถูกมากและการเติบโตที่โดดเด่น
สวัสดีครับ