LTF ครบ 5 ปีปฏิทินทำไงต่อดี

13 กุมภาพันธ์ 2558

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP....

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP....

สัปดาห์ก่อนเขียนเรื่อง RMF ถ้าลงทุนจนครบอายุ 55 ปีและลงทุนมาครบ 5 ปีแล้ว จะต้องทำยังไงบ้าง ขายได้มั๊ย ต้องขายหมด หรือ ขายบางส่วนได้ ต้องขายในปีเดียว หรือ ทยอยขายหลายปีได้  แล้วถ้าขาย RMF แล้ว จะซื้อใหม่ ทำได้หรือไม่ ติดเงื่อนไขอะไรบ้าง ท่านใดที่ต้องการทราบรายละเอียดสามารถหาดูได้จากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือที่ facebookfanpage : SathitBovornsantisuth CFP ครับ

มาวันนี้เรามาคุยกันต่อเรื่อง LTF ในกรณีคล้ายๆกัน คือ ถ้าลงทุนครบ 5 ปีปฏิทินทำไงต่อดี เริ่มแรกผมขอทวนความเข้าใจก่อนนะครับ การนับ 5 ปีปฏิทินของ LTF นับแตกต่างจาก RMF กล่าวคือ การนับ 5 ปีปฏิทินของ LTF จะนับยอดต่อยอด ยอดที่ซื้อในปีปฏิทินเดียวกันแม้จะซื้อคนละวัน ก็จะนับเป็นยอดเดียวกัน และต้องถือยอดลงทุน LTF ที่ซื้อในปีปฏิทินนั้นให้ครบ5 ปีปฏิทินนับปีปฏิทินที่ซื้อเป็นปีที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่น หากปี 2558 ซื้อ LTFหลายครั้งรวมยอดซื้อทั้งหมด 100,000 บาท ถ้าหากต้องการสิทธิประโยชน์ครบถ้วนตามเงื่อนไขจะขายคืน LTF ยอดที่ซื้อในปี 2558 นี้ได้ในปี 2562 เป็นต้นไป(นับจาก 2558 เป็นปีปฏิทินที่หนึ่ง 2559 2560 2561 2562 เป็นปีปฏิทินที่ห้า)จะขายทั้งหมด หรือ ขายบางส่วน หรือ เก็บไว้ก่อนไปขายทีหลังในปีอื่นๆได้หมด ถือว่าไม่ผิดเงื่อนไขภาษี คือไม่ต้องคืนภาษี กำไรที่ได้ยกเว้นภาษี แต่ต้องแจ้งกำไรที่ได้จากการขายคืน LTF ใน ภ.ง.ด 90 ด้วยครับ (RMF ต้องแจ้งเหมือนกัน)

หากปีไหนขายคืน LTF แล้ว ในปีนั้นมีการซื้อ LTF ด้วย นับยังไง คำตอบ คือ นับแยกกันเด็ดขาดครับ ยอดขายก็ขายไป ยอดซื้อก็ซื้อไปไม่เกี่ยวกัน ตัวอย่างเช่น ปีนี้เราขาย LTF ที่ครบ 5 ปีปฏิทิน 120,000 บาท (จากต้นทุนที่ซื้อ 100,000 บาทเท่ากับกำไร 20,000 บาท) และเราก็ซื้อ LTF ในปีนี้ด้วย 100,000 บาท เราก็สามารถลดหย่อนภาษี LTF สำหรับเงินได้ปีนี้ 100,000 บาท และกำไรที่ได้ 20,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี

เมื่อไม่ติดเงื่อนไขภาษีแล้ว ก็มักมีคำถามว่า ควรขายคืน LTF ในปีปฏิทินที่ห้าเลยหรือไม่ หรือว่าถือต่อไปเรื่อยๆดี ผมแนะนำให้ขายคืนในปีปฏิทินที่ห้าเลยครับไม่ว่ายอดที่จะขาย LTF นั้นจะกำไรหรือขาดทุนก็ตาม แล้วเอาเงินที่ตั้งใจจะซื้อ LTF ซื้อ LTF ในวันเดียวกับวันที่ขายคืน

ตัวอย่างเช่น หากเรามีLTF ที่ครบ 5 ปีปฏิทิน 70,000 บาท (จากต้นทุนที่ซื้อ 100,000 บาทเท่ากับขาดทุน 30,000 บาท) แทนที่เราจะรอให้หุ้นขึ้นเพื่อให้ LTF ก้อนนี้กลับมาเท่าทุนหรือกำไรค่อยขาย ผมแนะนำให้เราขายไปเลย และก็ซื้อ LTF ในวันเดียวกัน70,000 บาท เราก็สามารถลดหย่อนภาษี LTF สำหรับเงินได้ปีนี้ 70,000 บาท หากฐานภาษีเราอยู่ที่ 30% เท่ากับเราได้ภาษีคืน 30%*70,000 = 21,000 บาท เท่ากับเราลดการขาดทุนเหลือ 30,000 – 21,000 = 90,000 บาท  ด้วยวิธีนี้เงินของเราก็ยังอยู่ใน LTF เหมือนเดิม แต่เราขาดทุนน้อยลง ทำนองเดียวกัน ถ้าเรากำไรอยู่ เราก็จะได้กำไรมากขึ้นจากภาษีที่ได้คืนมา

อีกคำถามหนึ่งที่มีถามกันมาก คือการขายคืนหน่วยลงทุน RMF และ LTF ส่วนที่เกินอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ (ส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้น) จะมีค่าปรับหรือไม่ อย่างไร

คำตอบคือ  การขายคืนหน่วยลงทุน RMF หรือ LTF ตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ 2(65) และ (67) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ที่ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะคำนวณเฉพาะกำไรที่มาจากเงินที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF หรือ LTF ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้เท่านั้น ตามข้อ 2(55) และ (66) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ดังนั้นผลประโยชน์จากการขายคืน RMF หรือ LTF ส่วนที่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ที่มิได้มีการใช้สิทธิยกเว้นภาษีแม้ว่าจะถือมาจนครบตาม

เงื่อนไขของทั้ง RMF หรือ LTF ผลประโยชน์ที่ได้ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีครับ ตัวอย่างเช่น หาก 15% ของเงินได้เราคือ 200,000 บาท แต่เราซื้อ RMF หรือ LTF มา 240,000 บาท กำไรจากการขายคืนของเงินส่วนที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 200,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่กำไรจากการขายคืนของเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 40,000 บาท แม้จะถือครบเงื่อนไข ยังไงก็ต้องเสียภาษีครับ

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ SathitBovornsantisuth CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ

Thailand Web Stat