จะเลือกที่ปรึกษาการเงินซักคนเลือกอย่างไร
ในภาวการณ์ลงทุนที่ผันผวนมากขึ้น ถี่ขึ้นอย่างเช่นทุกวันนี้ หลายคนคงเข้าใจลึกซึ้งแล้วว่า ไม่มีการลงทุนอะไรที่ไม่เสี่ยง
จะเลือกที่ปรึกษาการเงินซักคนเลือกอย่างไร
โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP
ในภาวการณ์ลงทุนที่ผันผวนมากขึ้น ถี่ขึ้นอย่างเช่นทุกวันนี้ หลายคนคงเข้าใจลึกซึ้งแล้วว่า ไม่มีการลงทุนอะไรที่ไม่เสี่ยง (ก็ขนาดเงินฝากออมทรัพย์ ดอกเบี้ยยังถูกปรับลดลงเลย) หลายคนก็คงรู้ดีว่า ไม่มีอะไรที่คาดการณ์ได้ (ก็อย่างซาอุฯจะก่อสงครามกับกบฏเยเมน ใครคาดการณ์ได้ก่อนบ้าง)
จากความผันผวนที่สูงและคาดการณ์ไม่ค่อยได้ ทำให้การลงทุนไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป แต่จากการคาดการณ์ไม่ได้ ไม่ได้หมายถึงให้พวกเราลงทุนโดยไม่คำนึงปัจจัยต่างๆที่อาจส่งผลกระทบในอนาคต อย่าลืมนะครับ การลงทุน คือ การจ่ายเงินในปัจจุบัน เพื่อผลตอบแทนในอนาคต เราจึงจำเป็นต้องพยายามทำนายอนาคตให้แม่นยำมากที่สุด หรืออย่างน้อยต้องลดโอกาสที่จะผิดพลาดให้น้อยที่สุด จะทำนายอนาคตได้แม่นยำ เราจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ที่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ เช่น ความรู้ทางการเงิน เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น นอกจากความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันต่อเหตุการณ์ก็สำคัญไม่แพ้กัน หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นการลงทุนเป็นเรื่องยาก
ทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการช่วยเราบริหารเงินออมของเราก็คือ การพึ่งพาที่ปรึกษาการเงิน ซึ่งปัจจุบันมีหลายสถาบันการเงินให้บริการด้านนี้อยู่ แต่หากเราเลือกที่ปรึกษาการเงินที่ไม่เหมาะสม แทนที่จะช่วยลดความเสี่ยงกลับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงไปเสียอีก วันนี้เราจึงขอคุยถึงวิธีการเลือกที่ปรึกษาการเงิน กันครับ
1.เลือกที่ปรึกษาการเงินที่ทำงานในสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงด้านการกำกับดูแล และมีจรรยาบรรณทางธุรกิจ แม้จะไม่สามารถการันตีได้ 100%ว่า ที่ปรึกษาการเงินจากสถาบันที่มีชื่อเสียงจะดี แต่อย่างน้อย สถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงมักจะมีกระบวนการในการคัดเลือกพนักงาน และมีระบบการดำเนินงานที่รอบคอบ รัดกุม เพื่อรักษาประโยชน์ของลูกค้าและชื่อเสียงขององค์กรอยู่แล้ว
2.เลือกผู้ที่มีความรู้ทางการเงิน จงอย่ากลัวที่สอบถามประวัติการศึกษาว่าสำเร็จการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบริการทางการเงินหรือไม่ สาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับที่ปรึกษาการเงินหลักๆ ก็คือ บัญชี การเงิน เศรษฐศาสตร์ และที่สำคัญ คือ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กรณีที่ปรึกษาการลงทุน ต้องมีใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุน หากเป็นที่ปรึกษาประกันชีวิต หรือ ประกันวินาศภัย ก็ต้องมีใบอนุญาตตัวแทนหรือนายหน้าประกันชีวิต หรือ ประกันวินาศภัย ที่ปรึกษาการเงินบางคนยังมีใบอนุญาต CFP (Certified Financial Planner) ซึ่งเป็นใบอนุญาตสำหรับนักวางแผนการเงินโดยเฉพาะอีกด้วย
3.ที่ปรึกษาการเงินที่ดี ต้องทั้งเก่งและดี เราจึงควรเลือกผู้ที่มีจรรยาบรรณที่ดี เช่น การดำเนินธุรกิจด้วยความยุติธรรม โปร่งใส ฯลฯ เราอาจสามารถสังเกตได้จากการติดต่อ พูดคุยกัน ในหลายกรณีอาจจะดูยากว่าใครเป็นคนดี แต่เราอาจจะหาข้อมูลว่าที่ปรึกษาการเงินคนไหนไม่ดีได้ โดยเข้าเว็บไซด์สำนักงาน ก.ล.ต. หัวข้อ การใช้บังคับกฎหมาย
4.เลือกที่ปรึกษาการเงินที่มีประสบการณ์ และมีผลงานการให้คำแนะนำที่ดี โดยเฉพาะในหลักทรัพย์ที่เราสนใจ เช่น สนใจลงทุนในทองคำ ก็ควรเลือกที่ปรึกษาการเงิน ที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในทองคำ เพราะนอกจากจะมีความรู้ดีแล้ว ประสบการณ์ที่ดียังช่วยในการพิจารณาให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสมให้ด้วย
5.เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง และไม่มีการลงทุนใดที่ดีและเหมาะสมกับทุกสถานการณ์ เราจึงควรเลือกที่ปรึกษาการเงินที่มีผลิตภัณฑ์ให้เลือกลงทุนที่หลากหลาย พร้อมแนะนำการกระจายสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทที่เหมาะสมกับเรา
6.เลือกที่ปรึกษาการเงินที่เป็นกลาง แนะนำการลงทุนที่เหมาะกับเรา เพื่อประโยชน์ของเราจริงๆ ไม่ใช่แนะนำแต่หลักทรัพย์ของบริษัทในเครือตนเอง เป็นต้น
7.เลือกที่ปรึกษาที่ติดตาม ให้ข้อมูล ให้คำแนะนำการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ โดยดูจากความมีวินัยในการให้บริการ เพราะหากไม่มีวินัยในเรื่องการให้บริการง่ายๆแค่นี้ เราก็อย่าหวังว่า เขาจะมีวินัยในการดูแลเงินของเราในอนาคต
8.ที่เราเลือกใช้บริการที่ปรึกษาการเงิน เพราะต้องการลดความเสี่ยง และต้องการความสะดวก ประหยัดเวลาในการลงทุน นอกจากเราเลือกที่ปรึกษาการเงินที่ดีและเก่งแล้ว ความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการใช้บริการก็เป็นอีกปัจจัยที่เราไม่ควรมองข้าม
9.สุดท้าย เมื่อเลือกที่ปรึกษาการเงินได้แล้ว อย่าเพิ่งลงทุนมาก ให้พิจารณาโดยเริ่มในจำนวนน้อยๆก่อน เพื่อดูความสามารถ และการให้บริการของที่ปรึกษาการเงิน
ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ SathitBovornsantisuth CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...