posttoday

การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)

23 มิถุนายน 2558

“Don’t put all eggs in one basket” เป็นประโยคคลาสสิคในการแนะนำให้นักลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน

บทความโดย : บลจ.กรุงศรี

“Don’t put all eggs in one basket” เป็นประโยคคลาสสิคในการแนะนำให้นักลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งนัยของประโยคนี้ก็คือ อย่าใส่ไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียว เพราะหากตะกร้าใบนั้นหล่น ไข่ที่อยู่ในตะกร้าทั้งหมดก็จะแตก เปรียบเสมือนการลงทุน หากลงทุนไว้ในหุ้นเพียงตัวเดียว หรือสินทรัพย์เพียงอย่างเดียว หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน นักลงทุนก็อาจจะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดได้

ทั้งนี้ ไม่มีสินทรัพย์ใดที่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดได้ตลอดเวลา ในบางปีหรือบางช่วง การลงทุนในหุ้นอาจให้ผลตอบแทนดีที่สุด บางปีอาจเป็นตราสารหนี้ หรือทองคำ ในขณะที่การลงทุนในหุ้นในตลาดที่แตกต่างกัน ก็ให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้น การกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภทจะช่วยลดความเสียหายจากการขาดทุนในสินทรัพย์บางประเภท และสร้างโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดี

ข้อมูลผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ

การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)
ที่มา: Bloomberg และ บลจ. กรุงศรี (19 มิ.ย. 58)

ปัญหาต่อมาก็คือ เราควรจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation) ไปลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเป็นจำนวนเท่าใด องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดสัดส่วนการลงทุนคือ อายุ ซึ่งโดยทั่วไปนักลงทุนจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) เป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น เพราะช่วงเวลาที่จะสามารถหาเงินได้ลดน้อยลง สำหรับหลักการง่ายๆที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปในการจัดสัดส่วนการลงทุนโดยคำนึงถึงอายุคือ ให้เอาอายุปัจจุบันของนักลงทุนลบออกจาก 100 ก็จะได้สัดส่วนที่นักลงทุนควรลงทุนในหุ้น ตัวอย่างเช่น หากนักลงทุนอายุ 20 ปี ก็ให้เอา 20 ลบออกจาก 100 ก็จะได้ 80 ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนควรลงทุนในหุ้น 80% อีก 20% ลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝากหรือตราสารเงิน

อย่างไรก็ดี นอกจากอายุแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลให้นักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน เช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน ความจำเป็นในการใช้เงิน เป็นต้น ดังนั้น นักลงทุนอาจจัดสัดส่วนการลงทุนตามระดับความเสี่ยง โดยแบบง่ายที่สุดอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ลงทุนในหุ้น 80% และลงทุนในตราสารหนี้ 20% ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบความเสี่ยงสูงและต้องการโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูง แบบที่สองคือ ลงทุนในหุ้น 50% และลงทุนในตราสารหนี้ 50% ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบความเสี่ยงปานกลาง และแบบสุดท้ายคือ ลงทุนในหุ้น 20% และลงทุนในตราสารหนี้ 80% ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ชอบความเสี่ยงต่ำ

เมื่อเลือกสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมระหว่างสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง (หุ้น) และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (เงินฝาก และตราสารหนี้) แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ จัดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท เช่น หุ้นไทย หุ้นสหรัฐฯ หุ้นยุโรป ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ ทองคำ ฯลฯ ซึ่งในขั้นตอนนี้ ต้องอาศัยความชำนาญในหลายๆด้าน เช่น มุมมองเศรษฐกิจ ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ปัจจัยพื้นฐานของแต่ละตลาด เป็นต้น โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ Strategic Asset Allocation (SAA) ซึ่งก็คือการจัดสัดส่วนการลงทุนตามเป้าหมายระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) และระดับความเสี่ยงของการลงทุน และ Tactical Asset Allocation (TAA) ซึ่งเป็นการจัดสัดส่วนการลงทุนให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นๆ (ตามมุมมองในระยะเวลา 3 – 6 เดือนข้างหน้า) ตัวอย่างเช่น สำหรับ นักลงทุนที่เลือก SAA แบบความเสี่ยงระดับปานกลาง

หากนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ นโยบายการเงินในหลายๆประเทศอยู่ในภาวะผ่อนคลาย กอปรกับแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกยังคงอยูในภาวะค่อยๆฟื้นตัว ก็อาจจะจัด TAA โดยลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ลงเล็กน้อย (ไม่ควรเกิน 5% เพื่อรักษาวินัยในการลงทุน) และนำไปเพิ่มการลงทุนในหุ้น โดยในส่วนของการลงทุนในหุ้น หากมองว่าเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่มีความชัดเจน ก็อาจกระจายการลงทุนไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศมากขึ้น

สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศ ก็อาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งตลาดมีความผันผวนต่ำกว่า กับกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง แต่มีความผันผวนสูงกว่า ในส่วนของการลงทุนตราสารหนี้ก็เช่นเดียวกัน หากนักลงทุนคาดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯจะส่งผลให้ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้มีมากขึ้น ก็อาจจะลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศลง และเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศแทน ตารางด้านล่างเป็นตัวอย่างการจัด SAA และ TAA ตามมุมมองที่กล่าวมานี้

ตัวอย่างการจัดพอร์ตการลงทุน

การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)
หมายเหตุ: ตารางนี้เป็นเพียงตัวอย่างการจัดสัดส่วนการลงทุนเท่านั้น ไม่ใช่การแนะนำการลงทุนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุน หรือหาที่ปรึกษาการลงทุนเพื่อขอคำแนะนำในการลงทุนที่เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน

การจัดสัดส่วนการลงทุน (Asset Allocation)

 

Advertorial