Quantitative Tightening (QT) คืออะไร?

02 ตุลาคม 2558

โดย คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

โดย คมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้

Quantitative Tightening (QT) คือ ภาวะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (Foreign Exchange Reserves) ของธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มักอยู่ในรูปของการลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้นการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงอาจส่งผลให้เกิดแรงขายในตลาดพันธบัตร และส่งผลให้ Yield พันธบัตรของประเทศหลัก ซึ่งเป็นพื้นฐานของอัตราการกู้ยืมทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น และภาวะการเงินตึงตัวขึ้นในที่สุด

ดังนั้น QT จึงอาจส่งผลในทางตรงกันตรงข้ามกับ QE ซึ่งเป็นมาตรการที่ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ใช้เพื่อผ่อนคลายภาวะการเงิน โดยธนาคารกลางจะ “พิมพ์เงิน” และนำไปซื้อสินทรัพย์ในประเทศตนเอง เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในระบบและกดต้นทุนการกู้ยืมในประเทศให้ต่ำลง ด้วยหวังว่าสภาพคล่องที่สูงและต้นทุนการเงินที่ต่ำ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ในที่สุด

ทำไมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงมีแนวโน้มลดลง?

นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกลดลงราว 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากจุดสูงสุดที่ประมาณ 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 11.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เนื่องจาก 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1. การแทรกแซงค่าเงินหยวนของจีน ธนาคารกลางจีนประกาศลดค่าเงินหยวนลง 1.9% เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา และปรับวิธีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น นับตั้งแต่นั้นมาค่าเงินหยวนมีความผันผวนมากขึ้น และมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทางการจีนจึงทำการแทรกแซงค่าเงินเป็นระยะเพื่อควบคุมไม่ให้เงินหยวนอ่อนค่าเร็วเกินไปจนนำไปสู่ปัญหาการเงินทุนไหลออก ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องในประเทศลดลง โดยในการแทรกแซงค่าเงิน ธนาคารกลางจะขายเงินสกุลต่างประเทศ (ดอลลาร์) และรับซื้อเงินหยวน อันเป็นสาเหตุให้ปริมาณเงินดอลลาร์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางลดลง

2. การชะลอตัวของการค้าโลก การเติบโตของการค้าโลกชะลอตัวลงหลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ซึ่งส่งผลให้การส่งออกและ/หรือดุลบัญชีเดินสะพัดของหลายประเทศในเอเชีย เช่น ไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฯลฯ มีแนวโน้มลดลง และทำให้เงินทุนสำรองฯ ของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นช้าลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2000-2007 ที่การค้าโลกเติบโตอย่างรวดเร็วท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์

3.การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2014 ส่งผลให้หลายประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลง

4.ภาวะเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากแนวโน้มการแข็งค่าของดอลลาร์ และการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับไปยังสหรัฐฯ โดยก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2008 - 2013 ที่สหรัฐฯ มีการทำ QE เพื่อกดดอกเบี้ยให้ต่ำ และส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (Carry Trade) จึงมีการกู้เงินจากสหรัฐฯ ซึ่งดอกเบี้ยต่ำ มาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงกว่า และค่าเงินมีแนวโน้มแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์ มาจนถึงปัจจุบันที่การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เริ่มใกล้เข้ามา และค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบค่าเงินในตลาดเกิดใหม่ เงินทุนเคลื่อนย้ายจึงไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ กลับไปยังสหรัฐฯ

5.การลดการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางสวิสและญี่ปุ่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางสวิส (SNB) เคยมีการแทรกแซงค่าเงินอย่างหนักในช่วงที่โลกมีวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินของตนเองแข็งค่ามากเกินไปจนกระทบการเติบโตของเศรษฐกิจ เนื่องจากค่าเงินทั้งสองสกุล นับเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Have Assets) ซึ่งมักมีการแข็งค่าขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 2011 ที่หลายประเทศในยุโรปประสบปัญหาหนี้สาธารณะ ค่าเงินสวิสฟรังก์ได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับยูโร จนทำให้ SNB ต้องประกาศตรึงค่าเงินไว้ที่ 1.2 ฟรังก์ต่อยูโร โดยในการตรึงค่าเงิน SNB ต้องรับซื้อเงินยูโร และขายเงินสวิสฟรังก์ออกสู่ตลาด ซึ่งทำให้เงินทุนสำรองของ SNB เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงดังกล่าว แต่หลังจากวิกฤตเริ่มคลี่คลาย SNB ได้ประกาศยกเลิกการตรึงค่าเงินในช่วงเดือนม.ค. 2015 ซึ่งทำให้แนวโน้มการสะสมทุนสำรองของ SNB เริ่มทรงตัว ส่วนในกรณีของญี่ปุ่น BoJ ได้ประกาศใช้มาตรการ QE ในเดือน เม.ย. 2013 ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า และทำให้ความจำเป็นในการแทรกแซงค่าเงินเยนลดลงเช่นกัน

ผลกระทบต่อการลงทุนในระยะสั้นน่าจะมีจำกัด

ทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของธนาคารกลางประเทศต่างๆ มักอยู่ในรูปของการลงทุนในตราสารหนี้ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ดังนั้นการลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจึงอาจส่งผลให้ความต้องการลงทุนในพันธบัตรของโลกลดลง และส่งผลให้ Yield พันธบัตรของประเทศหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ที่พันธบัตรจำนวนกว่าครึ่งถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ภาวะการเงินในสหรัฐฯ ตึงตัวขึ้นในที่สุด

อย่างไรก็ดีการลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นอาจไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะสั้นมากนัก เนื่องจากการขายพันธบัตรจากธนาคารกลางไม่ได้ทำให้สภาพคล่องของโลกลดลง เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนมือจากธนาคารกลางไปสู่มือของนักลงทุนประเภทอื่น ซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องนำเงินจำนวนนั้น กลับไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งอยู่ดี ยิ่งไปกว่านั้นในภาวะปัจจุบันที่ธนาคารกลางทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป ยังคงอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สภาพคล่องของโลกจึงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และกดดัน Yield ในตลาดพันธบัตรให้ไม่ปรับตัวสูงขึ้นจากนี้มากนัก

Thailand Web Stat