posttoday

หัวใจในการเติบโตของ Fintech ในไทย

15 มกราคม 2559

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

โดย เจษฎา สุขทิศ, CFA &ชยนนท์ รักกาญจนันท์, AFPT INFINITI Global Investors, The Ultimate Investment Solution

บทความนี้เป็นมุมมองของผมต่อการเติบโตของ Fintech ในประเทศไทย ใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องนี้แนะนำให้อ่าน “Fintech Startup-Mega Trend ของอุตสาหกรรมการเงินโลก” ซึ่งเคยลงใน Post today เมื่อปีที่แล้ว บทความชิ้นนี้เป็นมุมมองของเราสองคนต่อสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็น “หัวใจ” ในการทำให้ธุรกิจนี้เติบโตในบ้านเรา เพื่อเป็นการแชร์มุมมองให้กับหลายๆ กลุ่ม Startup ที่กำลังมีหัวอกเดียวกัน ต้องการจะสร้างธุรกิจใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงินในบ้านเราไปในทางที่ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ชยนนท์ : เกิดการตื่นตัวกันอย่างชัดเจนสำหรับเรื่องของ Fintech ในบ้านเรา โดยล่าสุดธนาคารพาณิชย์ชั้นนำได้เริ่มเคลื่อนไหวกันเต็มสูบแล้ว ตั้งแต่การตั้ง Lab ในการค้นคิดผลิตภัณฑ์ด้าน Fintech การจัด Training กันอย่างต่อเนื่องโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากฟากฝั่ง Tech มาให้ความรู้ การตั้งทีมภายในของธนาคารแต่ละสายงานเพื่อดูช่องโหว่หรือรอยรั่วของผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตัวเอง ไปจนถึงการตั้งบริษัทที่เป็น Venture Capital เตรียมพร้อมที่จะเข้าลงทุนใน Fintech เกิดใหม่ในประเทศไทย เริ่มจัดเต็มกันแบบนี้ ผมเชื่อว่าปีนี้ 2559 เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้นแน่นอนครับ

เจษฎา : ในฟากฝั่งของ Startup ตลอดเวลาเกือบปีที่ผมได้เริ่มศึกษา และเริ่มโครงการ Fintech 2-3 โครงการ ผมเห็นความพยายามของ Fintech Startup เกิดใหม่หลายสิบแห่ง (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ที่กำลังเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่เห็นชัดๆ ก็มี Stock Radars, Jitta ในส่วนของผลิตภัณฑ์หุ้น iTax ในเรื่องของภาษี ประกัน และกองทุน Go Bear, Ask Hanuman ในส่วนของประกันภัย Omise, 2c2p, Paysbuy, mPay ในส่วนของ payment gateway, FINNOMENA,
Aommoney, Stock2morrow ในส่วนของ Financial Content และ MEEFUND, Asiola, Dreammaker ในส่วนของ Crowdfunding ยังไม่หมดแค่นี้นะครับ มีอีกเยอะที่ไม่ได้เอ่ยถึง แล้วหัวใจการทำให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตคืออะไร พี่แบงค์คิดว่าไงครับ

ชยนนท์ : สำคัญที่สุดคือ Product ต้องโดน Pain คือโดนความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ใช้แล้วต้องอยากใช้ซ้ำ จึงจะทำให้ลูกค้าต่ออายุการใช้งานไปเรื่อยๆ ถ้า Fintech ของเราไม่โดน Pain หรือไม่ถูกใจลูกค้าอย่างแท้จริง ต่อให้เราทำ PR มากแค่ไหน ดึง Traction มาได้ มีคนมาลองใช้เป็นแสนเป็นล้าน แต่ลูกค้าไม่ถูกใจ และไม่ต่ออายุหรือไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเราซ้ำ ระยะยาวก็ไปไม่รอดอยู่ดี องค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ Fintech ให้โดนใจนั้น จากประสบการณ์ผมถ้ามีทีมงานที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินจะช่วยได้มาก เพราะมีประสบการณ์และมีความเข้าใจลูกค้า สามารถกำหนด Persona หรือกลุ่มลักษณะของลูกค้า
เป้าหมายได้อย่างชัดเจน รวมถึงเข้าใจจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์การเงินเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาด ณ ปัจจุบัน แล้วคุณเจท ล่ะครับ

เจษฎา : เมื่อก่อนผมไม่ชอบเลยเวลาทำผิดพลาด ผมใช้เวลามากกับการวางแผน คิดแล้วคิดอีกกว่าจะลองทำอะไรใหม่ๆ สักที แต่สำหรับการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่าง Fintech บางครั้งสิ่งสำคัญกว่าการเอาแต่คิด ก็คือการลงมือทำ ลงมือทดลองว่ามันได้ผลหรือไม่ รีบออก MVP หรือ Minimum Viable Product ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์ทดลองให้เร็วที่สุดเพื่อให้ลูกค้าได้ลองใช้ และถ้ามันไม่ได้ผลก็ยอมรับมันซะ แล้วค้นคิดหาแนวทางใหม่ให้เร็วที่สุด การรู้จักพลาดให้เร็ว และพลาดให้บ่อย สำหรับโลกของ Fintech Startup สุดท้ายจะนำไปสู่สิ่งที่ “ใช่” ในที่สุดครับ

ชยนนท์ : นอกจากผลิตภัณฑ์ที่ “ใช่” ของจะดีขนาดไหนแต่ถ้าไม่มีคนดูจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเรามีผลิตภัณฑ์ “Fintech” ที่ใช่แล้ว สิ่งสำคัญเรื่องต่อไปก็คือ Traction หรือจำนวน User Online ที่เข้ามาลองใช้ผลิตภัณฑ์ของเราในแต่ละวัน ผมเห็นหลายกรณีที่กลยุทธ์การ PR และ Marketing ของ Fintech Startup ยังไม่เข้าใจพฤติกรรมคนในโลกออนไลน์ ยังยึดติดกับ Brand Identity ของตัวเองมากไป ทำให้ไม่สามารถสร้าง Traction ได้ ตรงนี้ต้องรีบเรียนรู้และแก้ไขกันให้เร็วครับ การใช้ Influencer หรือผู้มีอิทธิพลในโลกออนไลน์เป็นอีกวิธีการที่น่าสนใจในการจะสร้าง Traction ให้เร็ว ในยุคปัจจุบันใครๆ ก็เป็น Somebody ได้ขอให้มี content ที่โดนและใช่ ดูอย่าง อีเจี๊ยบเลียบด่วน เป็นต้น

เจษฎา : ส่วนผสมของทีมงานก็สำคัญครับ ถ้ามีทีม Tech มี CTO ที่ใช่ มี UX Designer ที่สามารถสร้างระบบที่ตอบรับความต้องการและสร้างความพอใจให้กับผู้ใช้อย่างแท้จริง สำคัญคือมีผู้มีประสบการณ์ในสาย Finance & Banking อยู่ในทีมก็จะช่วยได้มากเพราะมีความเข้าใจในลูกค้า เข้าใจในโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลายๆ ครั้งมีความซับซ้อน รวมถึงมี Connection กับคนในวงการการเงิน สามารถสร้างโอกาสเชื่อมต่อ Fintech เข้ากับ Platform ของภาคธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมดก็เป็นหัวใจของการสร้างธุรกิจ Fintech ในบ้านเรา ก็ขอให้กำลังใจทุกฝ่ายใน Fintech Startup Ecosystem มาร่วมแรงช่วยกันทำให้ผลิตภัณฑ์ Fintech โดยน้ำมือชาวไทย สามารถเป็นผู้นำในยุคการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการเงินโลกรอบนี้ได้ครับ

Thailand Web Stat