เทศกาลการยื่นภาษีมาถึงแล้ว(ตอน2)
โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ครั้งที่แล้ว เราจบกันที่อยู่ 3 วิธีที่จะทำให้เสียภาษีน้อยลง คือ การวางแผนภาษี (Tax Planning) การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) และ การหนีภาษี (Tax Evasion) วันนี้เรามาคุยกันต่อเลยนะครับ
การวางแผนภาษี (Tax Planning) คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ในฐานะพลเมืองดีและใช้สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดหรือไว้ เพื่อจะได้ไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับ เป็นการประหยัดภาษีโดยใช้สิทธิต่างๆ ตามที่รัฐมอบให้ เพราะต้องการส่งเสริมอุตมาหกรรมหรือให้เกิดกิจกรรมการออมในระดับครัวเรือน หรือส่งเสริมให้มีการกระจายการลงทุนให้กว้างขวาง ซึ่งจะปรากฎผลดีแก่ประชาชนและสังคมโดยรวม ยกตัวอย่างเช่น การยกเว้นภาษีรายได้เงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นของกิจการที่รัฐต้องการส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น ที่สำคัญคือเป็นการใช้สิทธิที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย”
การหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) คือ การใช้ช่องโหว่ของกฎหมายทำให้ไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงแต่ไม่ได้ผิดกฎหมาย
การหนีภาษี (Tax Evasion) คือ การหลบเลี่ยงไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง โดยฝ่าฝืนกฎหมาย
หากเปรียบเทียบง่ายๆ การวางแผนภาษีก็เหมือนสีขาวคือถูกกฎหมาย 100% ส่วนการหนีภาษี ก็เหมือนสีดำ คือ ผิดกฎหมาย 100% ส่วนการหลบหลีกภาษี ก็เหมือนสีเทา คือ อาจจะถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตีความของเรากับกรมสรรพากรว่าเห็นตรงกันหรือไม่ หากเห็นตรงกันก็ไม่มีปัญหา แต่หากเห็นต่างกัน เราอาจถูกกรมสรรพากรปรับและอาจต้องเสียเงินเพิ่ม 1.5%/เดือน หรือ เท่ากับ 18%/ปี เท่ากับดอกเบี้ยบัตรเครดิตเลยทีเดียว
ดังนั้น กลยุทธ์ที่อยากแนะนำให้ใช้เพื่อบริหารภาษี ผมอยากขอแนะนำให้ใช้เฉพาะการวางแผนภาษีครับ เพราะทำแล้วนอกจากประหยัดภาษีแล้ว เรายังสบายใจไม่ต้องกังวลว่าสรรพากรจะมาตรวจสอบ
ก่อนที่จะมีการวางแผนภาษี เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการวางแผนภาษีดังต่อไปนี้
1. ต้องถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย และปลอดภัยจากปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ในการวางแผนภาษีอากร เราจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายอย่างชัดเจนถูกต้อง ไม่หลงลืมประเด็นหนึ่งประเด็นใดในตัวบทกฎหมายภาษีอากร นอกจากนี้จะต้องศึกษาคำพิพากษา และข้อหารือของกรมสรรพากรประกอบการวางแผนภาษีอากรให้รัดกุมครบถ้วน สิ่งที่เราควรคำนึงอย่างหนึ่งก็คือ อย่ามองแง่ใดแง่หนึ่งเพียงแง่เดียว ต้องมองรายละเอียดของภาษีอากรที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจนและถูกต้อง อย่าคิดเข้าข้างตนเอง หลายคนที่ผมเคยเจอมาชอบตีความกฎหมายแบบเข้าข้างตัวเอง หลายครั้งถึงกับเอาสีข้างเข้าถู ซึ่งต่อให้อาจทำให้ทุกคนเห็นคล้อยตามได้ แต่ก็ไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าสรรพากรไม่เห็นด้วย
2. วางแผนทั้งทีต้องทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด
สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด ไม่ใช่แค่วางแผนแล้วต้องเสียภาษีน้อยสุดเท่านั้น แต่หมายถึง
ถ้าจะเสียต้องเสียให้น้อยที่สุด
ถ้าจะเสียต้องเสียให้ช้าที่สุด
ถ้าจะเรียกคืนต้องเรียกคืนให้มากที่สุด
ถ้าจะเรียกคืนต้องเรียกคืนให้เร็วที่สุด
เราจะทำได้ก็จากการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาข้อกฎหมายทางภาษีมากำหนดทางเลือกในการนำเงื่อนไขทางกฎหมายมาใช้เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและถูกกฎหมายอีกด้วย เช่น การใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนต่างๆ เป็นต้น
การเตรียมความพร้อมก่อนการวางแผนภาษีอากร
การวางแผนภาษีให้ได้ผลตามวัตถุประสงค์ ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญๆดังนี้ คือ
1. เราต้องรู้และเข้าใจกฎหมายอย่างลึกซึ้งและถูกต้อง ดังนั้นเราควรมีความรู้ ความเข้าใจข้อมูลในเรื่องดังต่อไปนี้
·ประมวลรัษฎากร ประมวลรัษฎากรถือเป็นตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากรในการดำเนินธุรกิจโดยตรง ประมวลรัษฎากรจึงเป็นหัวใจหลักในการวางแผนภาษีอากรที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจในแต่ละมาตรา พระราชบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง ฯลฯ ที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการวางแผนภาษี และจะต้องคอยติดตามกฎหมายที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และทันต่อเหตุการณ์
·คำพิพากษา ข้อหารือของกรมสรรพากร คำวินิจฉัย นอกจากศึกษาตัวบทกฎหมายในประมวลรัษฎากรแล้ว เราควรจะศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาในแต่ละประเด็น รวมไปถึงคำวินิจฉัยของกรมสรรพากรที่ได้ชี้ขาดปัญหาของกฎหมายบางประเภท นอกจากนี้ยังจะต้องหมั่นศึกษาข้อหารือของกรมสรรพากรซึ่งมีจำนวนมากและหลายปี เพราะเป็นแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากร
·การฝึกอบรมและสัมมนา นอกจากศึกษาเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว เราควรเข้าฝึกอบรมและสัมมนาของสถาบันฝึกอบรมและสัมมนาต่าง ๆ หรือสมัครจดหมายข่าวของกรมสรรพากร เป็นต้น เพื่อจะได้แนวความคิด กฎหมายต่าง ๆ หรือปัญหาในการวางแผนภาษี
2.เมื่อหาความรู้และกำหนดทางเลือกในการวางแผนภาษีแล้วให้วางแผนภาษีตั้งแต่ต้นปี เก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น เอกสารแสดงประเภทของเงินได้ เป็นต้น
3.ปรับปรุงแผนภาษีให้ทันสมัยตลอดเวลา เนื่องจากกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น แผนภาษีที่ใช้เดิมอาจใช้ไม่ได้อีกแล้ว อย่างเช่น ปีก่อนๆการวางแผนภาษีด้วยการจัดตั้งคณะบุคคลได้รับความนิยมมาก แต่ปัจจุบันเมื่อกฎหมายเปลี่ยน การจัดตั้งคณะบุคคลก็ไม่ใช่ทางเลือกในการวางแผนภาษีอีกต่อไป
4.ประเมินผลในการวางแผนภาษีว่าได้ผลตามวัตถุประสงค์ของการวางแผนภาษีที่ได้กล่าวไปแล้วหรือไม่ ถ้าไม่ได้แสดงว่าการวางแผนภาษีของเรามีปัญหาแล้วครับ