“กลยุทธ์ Long/Short Equity รับมือกับความผันผวนจากการลงทุนในหุ้น”
โดย ศิริพร สินาเจริญ ,CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี
โดย ศิริพร สินาเจริญ ,CFA กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี
สวัสดีผู้อ่านทุกท่านค่ะ ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสแรกที่ดิฉัน ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี ได้พบกับทุกท่านในคอลัมน์ “ลงทุนเรื่องง่ายสไตล์ บลจ.กรุงศรี” และเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันที่ตลาดเงินและตลาดทุนมีความผันผวนมากโดยเฉพาะตลาดหุ้น ในครั้งนี้ขอถือโอกาสเล่าถึงความน่าสนใจของ กลยุทธ์ Long / Short Equity ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศสำหรับการรับมือกับความผันผวนจากการลงทุนในหุ้น เผื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้สนใจลงทุนค่ะ
ในสภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง การเชื่อมโยงของข่าวสารและตลาดการลงทุน ทั่วโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดการลงทุน โดยเฉพาะตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง และปรับตัวขึ้นลงอย่างไร้ทิศทาง คาดการณ์สถานการณ์ได้ยาก การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและเป็นบวกอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องที่ ท้าทายขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อพิจารณาถึงทางเลือกการลงทุนหลักๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะพบว่าหากนักลงทุนต้องการผลตอบแทนสูง คงหนีไม่พ้นการลงทุนในหุ้น แต่ก็ต้องพร้อมเผชิญกับความผันผวนของตลาด หรือหากต้องการผลตอบแทนที่มั่นคง สม่ำเสมอก็เลือกลงทุนในตราสารหนี้ แต่ก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่าหุ้นและตราสารหนี้มักจะมีทิศทางการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนไปในทิศทางที่ต่างกัน แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าตราสารทั้งสองประเภทมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น ส่งผลให้การจัดพอร์ตการลงทุนเป็นเรื่องที่มีความยากขึ้นไปอีก
หากพิจารณาถึงทางเลือกการลงทุนในกองทุนหุ้นในรูปแบบเดิมๆ หรือที่เรียกว่า Long-only คือ การซื้อหุ้นที่คาดว่าราคาหุ้นนั้นจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต แต่ในกรณีที่ราคาหุ้นที่ถือไว้ปรับตัวลดลงก็จะทำให้เกิดการขาดทุน ซึ่งกองทุนประเภทนี้ผู้จัดการกองทุนส่วนมากจะมุ่งสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าดัชนีเปรียบเทียบ หากตลาดหุ้นขึ้น ก็พยายามสร้างผลตอบแทนให้ขึ้นมากกว่าตลาด ขณะที่หากตลาดหุ้นลงก็พยายามสร้างผลตอบแทนให้ลดลงน้อยกว่าตลาด ซึ่งแม้ว่าจะทำได้ดีกว่าตลาด เช่น ตลาดลง 40% แต่กองทุนลดลง 30% ชนะตลาดถึง 10% แต่ผู้ลงทุนก็ยังขาดทุนถึง 30%
หนึ่งในกลยุทธ์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทั้งจากตลาดขาขึ้นและตลาดขาลง คือ Long / Short Equity ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีมายาวนาน และมุ่งสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกเสมอไม่ว่าสภาวะตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร หรือที่เรียกกันว่า Absolute Return Strategy ในต่างประเทศกลยุทธ์นี้จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับจากนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนมืออาชีพ ว่าสามารถปกป้องความเสี่ยงช่วงตลาดขาลง และขยายโอกาสสร้างผลตอบแทนได้กว้างขึ้น
หลักการทำงานง่ายๆ ของกลยุทธ์นี้ คือ ซื้อ (Long) หุ้นที่คาดว่าราคาจะปรับตัวขึ้นในอนาคตจากปัจจัย พื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท และขาย (Short) หุ้นที่มีราคาเกินกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น หรือคาดการณ์ว่าราคาของหุ้นจะปรับตัวลดลงในอนาคต ส่งผลให้พอร์ตการลงทุนมีเงินเพิ่มจากการขายชอร์ตหุ้น และสามารถนำเงินส่วนต่างไปซื้อหุ้น (Long) ได้มากขึ้น เช่น การขายชอร์ตโดยยืมหุ้น A มาขายที่ราคาตลาด ณ วันนี้ที่ราคา 100 บาท โดยคาดว่า 3 เดือนข้างหน้า ราคาหุ้น A จะปรับลดลงเหลือ 90 บาท แล้วจึงไปซื้อที่ราคาตลาดอีก 3 เดือนข้างหน้า เพื่อนำไปคืนคู่สัญญาที่ให้ยืมหุ้นมา จากธุรกรรมนี้ จะทำให้ได้กำไร 10 บาท ซึ่งก็จะเข้าหลักซื้อถูก ขายแพง นั่นเอง
โดยทั่วไป นักลงทุนในหุ้นมักให้ความสนใจเฉพาะการสร้างผลตอบแทนจากตลาดขาขึ้น โดยมิได้คำนึงถึงตลาดขาลง แต่แท้จริงแล้ว การบริหารความเสี่ยงในช่วงตลาดขาลงมีความสำคัญไม่น้อย นอกจากจะลดระดับการติดลบของผลตอบแทนให้ลดน้อยลงแล้ว ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้พอร์ตการลงทุนได้เช่นกัน
เมื่อพิจารณาวัฏจักรของการลงทุนในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลยุทธ์ Long / Short Equity สามารถลดความผันผวนในช่วงที่ตลาดเกิดวิกฤตได้ ซึ่งการติดลบที่น้อยกว่าในช่วงตลาดขาลงจะช่วยให้พอร์ตการลงทุนฟื้นตัวได้เร็วกว่ามากเมื่อตลาดกลับมาเป็นขาขึ้น และทำให้เงินลงทุนเติบโตได้ดีกว่า
ข้อมูลจาก HFRI fund weighted composite, MSCI World, UBS Asset Management ข้อมูลระหว่าง ม.ค.2542-พ.ค.2559
ในช่วงเดือนม.ค.2542-ส.ค.2543 ตลาดขาขึ้น (Bull market) พบว่า Long/Short Equity +64% ขณะที่ MSCI World +23%
เดือนก.ย.2543-ก.ย.2545 ฟองสบู่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแตก (Tech bubble) พบว่า Long/Short Equity -10% ขณะที่ MSCI World -45%
เดือนต.ค.2545-ต.ค.2550 ตลาดขาขึ้น (Bull market) พบว่า Long/Short Equity +80% ขณะที่ MSCI World +146%
เดือนพ.ย.2550-มี.ค.2552 วิกฤตสถาบันการเงิน (Credit crisis) พบว่า Long/Short Equity -29% ขณะที่ MSCI World -50%
เดือนเม.ย.2552–ก.ค.2559 ตลาดขาขึ้น (Bull market) Long/Short Equity +62% ขณะที่ MSCI World +156%
สำหรับความเสี่ยงหลักของกลยุทธ์นี้คือเลือกหุ้นผิดทั้ง Long position และ Short position และระบบการบริหารความเสี่ยงของผู้จัดการกองทุน ดังนั้น การเลือกผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในกลยุทธ์นี้และมีกระบวนการลงทุน การบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมและมีวินัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ
โดยสรุปแล้ว กลยุทธ์ Long / Short Equity คือทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนไทย เพื่อสร้างผลตอบแทนทั้งจากตลาดขาขึ้นและขาลง ช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน มุ่งสร้างผลตอบแทนให้เป็นบวกในทุกสภาวะตลาด เหมาะกับนักลงทุนที่กำลังมองหารูปแบบการลงทุนใหม่ๆเพื่อรับมือกับสภาวะตลาดที่มีความผันผวนสูงในปัจจุบัน
แล้วพบกันใหม่ฉบับวันพฤหัสบดีกลางเดือนกรกฎาคมนะคะ สวัสดีค่ะ