มาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Penalty)
โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
โดย ปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
การรักษาความเป็นธรรมในตลาดทุนจะมีประสิทธิภาพ เป็นที่น่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้ หากการใช้บังคับกฎหมายเพื่อป้องปรามมิให้เกิดการทำผิดหรือลงโทษผู้กระทำผิด สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว และมีมาตรการที่เหมาะสมกับความผิดที่เกิดขึ้นครับ
ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายตามกฎหมายหลักทรัพย์ อาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ประการแรกจากการที่ความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์ กำหนดให้มีบทลงโทษเฉพาะทางอาญา การพิสูจน์ความผิดจึงต้องเป็นไปตามหลักการที่เรียกว่า “พิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย” (beyond reasonable doubt)จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการทำคดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ เพราะหลักฐานในการทำผิดส่วนใหญ่ จะอยู่ในครอบครองของผู้ที่กระทำผิด การพิสูจน์ร่องรอยวัตถุพยานต่าง ๆ ก็แตกต่างกับคดีอาญาทั่วไปอย่างมากด้วย และในการดำเนินคดีอาญานั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน มีขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาครับ
ประการที่สอง องค์ประกอบความผิดเดิมถูกกำหนดไว้ค่อนข้างซับซ้อน และบางส่วนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการตีความ และประการที่สาม ยังขาดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับฐานความผิดบางฐานอยู่
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก.ล.ต. จึงได้เสนอปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์ เพื่อที่จะเพิ่มมาตรการและดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยได้เสนอปรับปรุงเรื่องสำคัญ ๆ เช่น เรื่องแรก เพิ่มมาตรการการลงโทษทางแพ่ง (Civil Penalty) เพื่อใช้กับเรื่องที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดทุนมาก ๆ ครับ เช่น การปั่นหุ้น การใช้ข้อมูลภายในหรืออินไซด์ การเปิดเผยข้อมูลเท็จ การที่กรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนไม่ทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง หรือการใช้หรือยอมให้ใช้บัญชีนอมินีในการปั่นหุ้น หรือใช้ข้อมูลภายใน เป็นต้น
มาตรการการลงโทษทางแพ่งนี้มีใช้อยู่ในหลายประเทศนะครับ อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง เป็นต้น ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยผู้กระทำผิดอาจต้องถูกดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ ชำระค่าปรับทางแพ่ง ถูกเรียกคืนผลประโยชน์ที่ได้ไปจากการกระทำผิด ให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคืนแก่ ก.ล.ต. ถูกสั่งห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไม่เกิน 5 ปี และถูกห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ไม่เกิน 10 ปี ก็ได้ โดยส่วนของเงินค่าปรับและผลประโยชน์ที่ถูกเรียกคืน เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบของ ก.ล.ต. แล้ว ก็จะตกเป็นของแผ่นดินนะครับ
ในการดำเนินมาตรการทางแพ่งนั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณามาตรการทางแพ่ง ซึ่งมาจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้กำหนดมาตรการที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งหากผู้กระทำผิดยินยอมให้ปรับก็จบกระบวนการ แต่หากไม่ยินยอม ก.ล.ต. ก็จะฟ้องศาลแพ่งเพื่อลงโทษทางแพ่งต่อไป และเมื่อเลือกใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งแล้ว สิทธิในการดำเนินคดีอาญามาฟ้องก็เป็นอันระงับไป
เมื่อมีมาตรการทางแพ่งแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะยกเลิกเรื่องการดำเนินการทางอาญานะครับ แต่พอมีคู่กันก็คงนำมาสู่คำถามว่า แล้วเมื่อไรจะไปแพ่งเมื่อไรจะไปอาญา เรื่องนี้ก็จะมีการกำหนดลักษณะความผิดไว้ว่ากรณีใดดำเนินการทางแพ่งไม่ได้ เรื่องที่ไม่ได้ก็คือเรื่องที่ร้ายแรงอย่างการทุจริต ยักยอกทรัพย์ ซึ่งต้องไปทางอาญาสถานเดียว
อีกเรื่องก็คือการปรับปรุงข้อกฎหมายในส่วนของการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจนและเป็นสากลมากขึ้นเพิ่มบทสันนิษฐานเพื่อลดภาระการพิสูจน์ความผิด ที่แต่เดิม ก.ล.ต. จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ ตัวอย่างเช่น บทสันนิษฐานในกรณีของผู้ที่มีโอกาสอย่างมากที่จะรู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน เช่นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มฐาน
ความผิดต่าง ๆ ที่ยังขาดอยู่ด้วยตามที่ผมได้เล่าไว้ข้างต้นกฎหมายที่เสนอแก้ไขปรับปรุงนี้ ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหากสามารถนำออกใช้ได้ ก็จะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้การดำเนินคดีเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามกฎหมายหลักทรัพย์ ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นบรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความเชื่อมั่นและการสร้างความเป็นธรรมในตลาดทุนไทยให้ดียิ่งขึ้นครับ
“ก.ล.ต. ดูแลตลาดทุน เพื่อให้คุณมั่นใจ”