ผลกระทบของ AIRBNB ตอนที่ 1

29 มิถุนายน 2559

โดย กิติชัย เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

โดย กิติชัย  เตชะงามเลิศ นักลงทุนหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

ในหลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่มีการใช้ SMART PHONE กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ EMERGING ด้วยแล้ว อัตราการใช้ SMART PHONE ยังมีการเติบโตสูง ซึ่งประเทศไทยเราก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตสูง ธุรกิจที่เป็น START UP หลายรายที่ประสบความสำเร็จสูงล้วนมีแนวคิดแบบ SHARING ECONOMY ไม่ว่าจะเป็น UBER GRAB AIRBNBฯลฯ ซึ่งทำให้มีการใช้ทรัพย์สินของเจ้าของทรัพย์ที่เข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจ และสังคมในด้านต่างๆ

AIRBNB เป็นธุรกิจ START UP ที่ให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ คอนโด นำสินทรัพย์เหล่านี้เข้ามาเสนอปล่อยเช่าในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยทาง AIRBNB จะคิดค่าธรรมเนียมในการให้บริการดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวมีทางเลือกมากขึ้น จากเดิมที่จะต้องจองห้องพักโรงแรม หรือ GUEST HOUSE แบบเดิมๆ เจ้าของอสังหานำทรัพย์ของตนซึ่งอาจจะเป็นบางส่วนของยูนิต เช่น บ้าน หรือคอนโดที่มีมากกว่า 1 ห้องนอน และเจ้าของมีห้องมากเกินกว่าที่ใช้เองจริงๆ หรือช่วงที่เจ้าของไม่ได้ใช้ทรัพย์สินดังกล่าวทั้งยูนิต ก็สามารถแบ่งทรัพย์ดังกล่าวมาเข้าระบบ AIR BNB  เพื่อหารายได้เพิ่มเติม

ผมเองก็เคยลองใช้บริการของ AIRBNB ใน TRIP ตุรกี-รัสเซีย เมื่อปีที่แล้วในเมือง ISTANBUL MOSCOW และ ฮ่องกง ตามลำดับ โดยที่พักใน ISTANBUL และฮ่องกงเป็น GUEST HOUSE เล็กๆที่มีการบริการเป็นเรื่องเป็นราว นำห้องเช่าของตนมาเข้ากับ AIRBNB เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า ในขณะที่ ที่พักที่ MOSCOW เป็นเจ้าของยูนิตในคอนโดแห่งหนึ่งในย่านใจกลางเมือง เป็นแบบ 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ โดยเจ้าของขึ่งเป็นคู่สามีภรรยา และสุนัขที่เลี้ยงไว้ 1 ตัว ได้แบ่งห้องนอน 1 ห้องนอน มาเข้ากับ AIR BNB โดยผมใช้ห้องน้ำร่วมกับเจ้าของ ข้อดีของการเข้าพักที่พักใน AIRBNB คือเจ้าของบ้าน หรือห้อง จะให้คำแนะนำในการท่องเที่ยวที่บางครั้งอาจจะหาไม่เจอใน INTERNET รวมทั้งบางครั้งยังได้รับเชิญให้ทานอาหารเช้า หรือเย็นร่วมกันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นี่คงแล้วแต่ว่าเจ้าของบ้านหรือห้องจะว่าง และหรือ ถูกชะตากับเราด้วยหรือเปล่า

พูดถึงข้อดีแล้ว เรามาพูดถึงผลกระทบในแง่ไม่ดีกันบ้าง การที่มีบ้านหรือห้องมาเข้าร่วมกับ AIR BNB มากๆ ทำให้แย่งลูกค้าโรงแรม ที่มีการจดทะเบียนและเสียภาษีให้รัฐอย่างถูกต้อง ในขณะที่เจ้าของทรัพย์ที่เข้ากับ AIR BNB ส่วนใหญ่จะไม่เสียภาษี ซ้ำร้าย ไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรมให้ถูกต้อง นอกจากนั้นกรณีที่เจ้าของห้องชุดนำห้องของตัวเองมาปล่อยเช่าเป็นรายวันแบบนี้ นอกจากจะเป็นการรบกวนเจ้าของห้องชุดท่านอื่นๆที่อาศัยอยู่ในคอนโดเดียวกันแล้ว ยังเพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าของห้องร่วมอื่นๆ จากการที่แขกผู้มาพักมักไม่ใส่ใจที่จะดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องออกกำลังกาย เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ฯลฯ เมื่อมีการเสื่อมสึกหรอ ก็จำเป็นที่นิติบุคคลต้องเอาเงินในกองทุนของนิติบุคคลมาใช้จ่ายซ่อมแซม หรือซื้อของใหม่มาทดแทนของเก่าที่ชำรุด ซึ่งเงินกองทุนดังกล่าวเป็นเงินที่เก็บจากเจ้าของร่วมทุกๆยูนิต ยังไม่นับการกดลิฟต์ขึ้นหรือลง แต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเฉลี่ย 10 บาท/ครั้ง เจ้าของร่วมส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีรายได้อะไรจากค่าเช่าดังกล่าว ต้องมาร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปด้วย ซึ่งดูแล้วไม่ยุติธรรมเลย นอกจากนั้นถ้าแขกที่เข้าพัก เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วลืมปิด ยิ่งถ้าเป็นเตาไฟฟ้า เตารีด ฯลฯ อะไรจะเกิดขึ้น และถ้ามีผู้ก่อการร้ายต้องการที่จะก่อวินาศกรรม การซ่อนวัตถุระเบิดไว้ในห้องพัก ในระหว่างที่ไม่อยู่ในห้องพัก หรือหลังจาก CHECK OUT ไปแล้วยิ่งคิดก็ยิ่งน่าเป็นห่วงนะครับ

ยิ่งตัวเลขล่าสุดของ AIRBNB เปิดเผยว่า ปีที่แล้วย่านบางลำพูติดอันดับ 2 ของการขยายตัวของ BNB WORLDWIDE เลยทีเดียว ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่รัฐจะหันมาให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้ หรือจะปล่อยให้ธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจโรงแรม และเสียภาษีอย่างถูกต้อง กลับมาถูกเจ้าของบ้าน หรือห้องที่ไม่จดทะเบียนทำธุรกิจโรงแรมอย่างถูกต้อง และส่วนใหญ่ไม่เสียภาษีจากค่าเช่ามาแย่งลูกค้าไป SUPPLY ที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราค่าเช่าห้องของโรงแรมปรับขึ้นได้ยาก การแก้ปัญหานี้ก็จะเป็นการช่วยเจ้าของร่วมห้องชุดโดยรวมไปในตัวด้วย เนื้อที่หมดแล้ว มาอ่านตอนต่อไปในสัปดาห์หน้ากันครับ

Thailand Web Stat