20 คำถามเริ่มรู้จัก Options : คำถามที่ 2 Options คืออะไร?

14 ตุลาคม 2559

โดย บริษัทตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)

โดย  บริษัทตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย)

ในบทความตอนที่แล้วมีเนื้อหาเกี่ยวกับความน่าสนใจของการลงทุนใน Options เพื่อตอบคำถามแรกว่า “ทำไมผู้ลงทุนต้องสนใจ Options” ซึ่งผมได้ยกตัวอย่างประโยชน์ของการลงทุนใน Options ว่าเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถสร้างกลยุทธ์ในการซื้อขายได้หลากหลายสอดคล้องกับสถานการณ์และวัตถุประสงค์ของผู้ลงทุน สำหรับบทความตอนที่ 2 นี้จะให้ข้อมูลผู้ลงทุนเพื่อทำความรู้จักกับ Options ว่ามันคืออะไร และมีลักษณะอะไรบ้างที่ควรทำความเข้าใจก่อนลงมือซื้อขาย  

Options คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ให้สิทธิในการซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงในตามราคา จำนวนและภายในเวลาที่กำหนด จากคำนิยามที่ค่อนข้างยาวผมจะแบ่งคำคำนิยามออกเป็นคำศัพท์ย่อย ๆ ได้แก่ สัญญา – สิทธิในการซื้อ – สิทธิในการขาย – สินค้าอ้างอิง – ราคาที่กำหนด – จำนวนที่กำหนด - เวลาที่กำหนด ซึ่งรายละเอียดแต่ละคำศัพท์ย่อยสามารถอธิบายได้ดังนี้

สัญญา : Options เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง ดังนั้นผู้ลงทุนที่ซื้อหรือขาย Options เป็นการเข้ามาทำสัญญากัน โดยผู้ซื้อ Options เป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้ขาย Options และได้รับสิทธิประโยชน์บางอย่างจากผู้ขาย ส่วนผู้ขาย Options จะได้รับเงินโดยต้องให้สิทธิประโยชน์บางอย่างกับผู้ที่ซื้อ Options โดยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ซื้อ Options ได้รับไปนั้น ผู้ซื้อจะมาใช้สิทธิหรือไม่ใช้สิทธิในภายหลังก็ได้ แต่ผู้ขายที่ได้รับเงินและให้สิทธิบางอย่างกับผู้ซื้อไปแล้วจะเกิดภาระติดตัวตามสัญญาที่ให้ไว้ ถ้าผู้ซื้อ Options มาใช้สิทธิผู้ขายจะต้องปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ระบุไว้ในสัญญา

สิทธิ : สิทธิที่ผู้ขาย Options มอบให้กับผู้ซื้อ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ สิทธิในการซื้อสินค้าอ้างอิง (Call Options) หรือสิทธิในการขายสินค้าอ้างอิง (Put Options) ดังนั้นสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องรู้ให้ได้เวลาที่ลงทุนใน Options คือ เรากำลังลงทุนในสิทธิในการซื้อ (Call Options) หรือสิทธิในการขาย (Put Options) เพราะ Options ทั้งสองแบบนี้มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง สำหรับเทคนิคในการจำคำศัพท์ระหว่าง Call-สิทธิในการซื้อ และ Put-สิทธิในการขาย จะใช้การเชื่อมโยงความหมายจากคำแปล เช่น Call แปลว่า “เรียก” ถ้าเรามีสิทธิในการซื้อเราก็จะมีสิทธิเรียกให้สินค้ามาส่งได้ ดังนั้นความสัมพันธ์ของคำศัพท์ คือ Call -> เรียก -> ซื้อ -> สิทธิในการซื้อ ส่วนคำว่า Put แปลว่า “บรรจุ” ถ้าเรามีสิทธิในการขายเราก็จะมีสิทธิบรรจุสินค้าเพื่อไปส่งสินค้าได้ ทำให้ความสัมพันธ์ของคำศัพท์ คือ Put -> บรรจุ -> ขาย -> สิทธิในการขาย 

สินค้าอ้างอิงและราคาที่กำหนด : การที่ผู้ขาย Options จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ซื้อ Options ในการซื้อ (Call) หรือในการขาย (Put) นั้น ในตัวสัญญาจะต้อมีการระบุว่าสินค้าที่จะให้สิทธิในการซื้อหรือสิทธิในการขายคือสินค้าอะไร (Underlying Asset) ที่ราคาเท่าไร (Exercise Price ,Strike Price) ยกตัวอย่าง สิทธิในการซื้อ (Call) ที่ผมคิดว่าผู้ลงทุนหลายคนคุ้นเคย เช่น คูปองในการซื้อสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต สมมิตว่าถ้าเราได้คูปองในการซื้อยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งที่ราคา 50 บาท ก็หมายความว่าสิทธิในการซื้อที่เราได้รับอ้างอิงกับสินค้าคือยาสีฟันที่ราคา 50 บาท โดยการที่เรามีคูปองใบนี้อยู่ในมือเปรียบได้กับเราได้สิทธิประโยชน์ในการซื้อยาสีฟันเหมือนกรณีที่เราผู้ซื้อ Call Options โดยเราอาจจะนำคูปองนั้นไปใช้หรือไม่ก็ได้ ก็เหมือนกับที่เวลาผู้ลงทุนซื้อ Call Options ก็มีทางเลือกที่จะใช้สิทธิตาม Options หรือไม่ก็ได้ แต่สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นคนให้สิทธินั้นกับเราก็เปรียบเสมือนกับกรณีที่เป็นผู้ขาย Call Options ซึ่งถ้าผู้ถือคูปองมาใช้สิทธิก็จะต้องมีหน้าที่ให้สิทธินั้นแก่ผู้ถือคูปอง

สำหรับตัวอย่างของสิทธิในการขาย (Put) ในบ้านเราที่คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นเคย เช่น การประกันราคาข้าวของรัฐบาล สมมติว่ารัฐบาลรับประกันราคาข้าวให้ชาวนาสามารถนำข้าวมาขายได้ในราคาเกวียนละ 10,000 บาท สินค้าอ้างอิงของPut Options ตัวนี้ก็คือ ข้าวสาร ส่วนราคาที่กำหนดไว้คือ 10,000 บาท การที่ชาวนี้ได้สิทธิประโยชน์ตัวนี้ จะเหมือนกับสิทธิประโยชน์ที่ผู้ซื้อ Put Options ได้รับคือ สามารถนำข้าวสารมาขายให้แก่รัฐบาลได้ในราคาเกวียนละ 10,000 บาท ซึ่งชาวนาอาจจะใช้สิทธินี้หรือไม่ก็ได้ แต่สำหรับรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ให้สิทธินี้แก่ชาวนาก็เหมือนกับกรณีที่เป็นผู้ขาย Put Options ซึ่งถ้าชาวนานำข้าวสารมาขายก็ต้องมีหน้าที่ในการรับซื้อตามที่ได้ให้สิทธินั้นเอาไว้

จำนวนและเวลาที่กำหนด : ไม่ว่าจะเป็นคูปองซื้อสินค้า นโยบายการประกันราคาสินค้า หรือในสัญญา Options จะมีการระบุจำนวนและระยะเวลาเอาไว้ด้วยเสมอ เช่น คูปองซื้อสินค้าอาจจะระบุว่าให้สามารถซื้อสินค้าได้กี่ชิ้น และคูปองนั้นๆ มีวันหมดอายุเมื่อไหร่ หลังจากวันหมดอายุตามที่ระบุไว้คูปองแล้วผู้ถือคูปองก็จะไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้อีก สิ่งที่ควรทำความเข้าใจสำหรับผู้ลงทุนใน Options คือ ผู้ซื้อ Options ไม่ว่าจะเป็น Call หรือ Put ก็เช่น เดียวกันภายหลังจากวันหมดอายุที่ระบุไว้ใน Options แล้วก็ไม่สามารถใช้สิทธิได้อีกทำให้หลังจากวันที่หมดอายุของ Options ไปแล้ว ผู้ขาย Options ก็จะหมดภาระหน้าที่ปฏิบัติตามสิทธิที่ให้กับผู้ซื้อ ทำให้ Options ไม่มีมูลค่าอีกต่อไปหลังจากที่หมดอายุแล้ว 

สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขาย Options ได้จากโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการ หรือ เว็บไซต์ www.tfex.co.th

 

Thailand Web Stat