เทรด Options ทำไมต้องรู้เรื่องความสัมพันธ์ของเวลากับราคา Options
โดย บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
โดย บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ในการเทรด Options ผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นฝั่งไหนระหว่างผู้ซื้อ Options หรือผู้ขาย Options ซึ่งในมุมมองของผู้ลงทุนทั้งสองฝั่งนั้นจะไม่เหมือนกัน ผู้ที่ซื้อ Options เปรียบเสมือนกับผู้ทำประกันภัย การซื้อ Options ก็เหมือนกับการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ผู้ที่สนใจซื้อ Options เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของราคาสินค้าอ้างอิงที่ตัวเองสนใจหรือถือครองอยู่ โดยจะยอมจ่ายเบี้ย (Premium) ให้กับผู้ขาย Options ผู้ซื้อ Options สามารถเลือกทิศทางได้ว่าจะเป็นกรณีที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปอาจจะเป็นทิศทางสูงขึ้นหรือทิศทางต่ำลงกว่าระดับราคาที่ตกลง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ใน Options เกิดขึ้น ผู้ซื้อ Options ก็จะสามารถมาเคลมเอาค่าเสียหายหรือส่วนต่างราคาตลาดกับราคาที่ระบุไว้ใน Options จากผู้ขาย
ส่วนผู้ที่ขาย Options จะทำหน้าที่เหมือนบริษัทประกันภัย คือรับประกันหรือรับความเสี่ยงแทนผู้ซื้อ ในกรณีที่ราคาสินค้าอ้างอิงเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงเกินระดับที่ระบุไว้ใน Options โดยจะได้รับเบี้ยประกัน (Premium) เป็นผลตอบแทน ถ้าราคราสินค้าอ้างอิงไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงตามเงื่อนไขที่กำหนด ผู้ขาย Options ก็จะได้รับเงินค่า Premium มาเต็ม ๆ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ผู้ซื้อ Options สามารถจะเคลมได้ ผู้ขาย Options ก็จะต้องชดใช้ส่วนต่างตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ใน Options
ราคาของ Options (Premium) นั้นเกิดจากส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ
1 มูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) : คำนวณได้จากการสมมติเหตุการณ์ว่าถ้าหากใช้สิทธิจาก Options ตามราคา ณ ปัจจุบันแล้วควรจะได้ชดเชยเป็นตัวเงินเท่าไร เช่น สมมติดัชนี SET50 ป้จจุบันอยู่ที่ 900 จุด Options ประเภทสิทธิในการซื้อ (Call Options) อ้างอิงดัชนี SET50 ที่ระดับ 880 จุด ซึ่งราคาของสิทธิในการซื้อถูกกว่าดัชนี ณ ปัจจุบัน 20 จุด ถ้าใช้สิทธิ Options เพื่อซื้อดัชนีที่ 880 จุด แล้วนำไปขายในตลาดทันทีที่ 900 จุด จะทำให้ได้กำไรทันที 20 จุด เราจะเรียกมูลค่า 20 จุดนี้ว่ามูลค่าที่แท้จริง
2 มูลค่าของเวลา (Time Value) : ราคาของ Call Options ตามข้อ 1 จะซื้อขายกันเกินมูลค่าที่แท้จริง 20 จุด เช่น 35 จุด เป็นต้น ราคา Options ส่วนที่เกินจากมูลค่าที่แท้จริง 15 จุด คือ มูลค่าของเวลา โดยสาเหตุที่ราคา Options จะต้องมีส่วนของเวลาด้วยเนื่องจากการที่ Options ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อในการประกันราคาที่สามารถซื้อดัชนี SET50 ได้ที่ 880 จุดจนกว่า ซึ่งดัชนี SET50 อนาคตมีความไม่แน่นอนอาจปรับตัวขึ้นต่อได้อีกก็ได้ ดังนั้นผู้ที่ได้สิทธิจะมีความได้เปรียบ หรือโอกาสในการใช้สิทธิหรือเคลมส่วนต่างได้ ภายในระยะเวลาของ Options ที่กำหนด จึงทำให้เกิดมูลค่าของเวลาเกิดขึ้นด้วย ซึ่งผู้ซื้อ Options จะต้องจ่าย เพื่อให้ผู้ขาย Options รับความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนแทนตัวเองภายในระยะเวลาที่กำหนด
มูลค่าของเวลาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่า Options จะหมดอายุนานหรือช้า คล้ายกับระยะเวลาของการรับประกันของกรมธรรม์ประกันภัยนั่นเอง ถ้า Options ยังเหลืออายุมาก แปลว่ายังเหลือเวลาที่จะเคลมส่วนต่างได้นาน ส่วนของ Time Value ก็จะสูงกว่า Options ที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า และค่าของ Time Value จะค่อย ๆ ลดลงตามระยะเวลาคงเหลือของ Options จนมูลค่าของ Time Value จะเป็นศูนย์ในวันที่ Options หมดอายุ
จากกรณีที่ Time Value ค่อย ๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ทำให้เห็นว่าเวลาจะเป็นมิตรกับผู้ขาย Options เนื่องจากเป็นรายได้หรือผลตอบแทนของผู้ขายนั่นเอง สำหรับผู้ซื้อระยะเวลาที่ผ่านไปจะเป็นศัตรูกับผู้ซื้อ Options เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายของผู้ซื้อ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ผู้ลงทุนใน Options ควรทราบ สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับการซื้อขาย Options ได้จากโบรกเกอร์ที่ท่านใช้บริการ หรือ เว็บไซต์ www.tfex.co.th