ยางไทยกับอาเซียน

20 กันยายน 2560

วันที่ 22 ก.ย. 2560 ผมได้รับเชิญจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้บรรยายเรื่อง "อนาคตยางพาราไทยกับอาเซียน"

โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิชศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

วันที่ 22 ก.ย. 2560 ผมได้รับเชิญจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้บรรยายเรื่อง "อนาคตยางพาราไทยกับอาเซียน" ให้ผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทยจำนวน 80 คนฟัง ผมบรรยายทั้งหมด 7 หัวข้อเริ่มจากการพูดถึงไทยส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราในช่วง 10 ปี (2550-2559) ก่อนปี 2555 ยางพารามีมูลค่าการส่งออกสูงกว่าผลิตภัณฑ์ยางแต่หลังจากปี 2556 จนถึงปัจจุบันที่ผลิตภัณฑ์ยางพารามีมูลค่าส่งออกมากกว่ายางพารา และหลังจากปี 2558 เป็นต้นมา การส่งออกยางพาราของไทยหลุด 10 อันดับแรกของการส่งออกทั้งหมด

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางพารายังติดกลุ่ม 1 ใน 10 ของสินค้าส่งออกของไทย การส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ไทยขึ้นสูงสุดที่มูลค่า 6 แสนล้านบาทแล้วลงมาอยู่ที่ 4 แสนล้านบาทในปี 2559 เหตุผลหลักๆ มาจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกไม่ดีบวกกับราคาน้ำมันโลกลดลง ทำให้อุตสาหกรรมยางสังเคราะห์เร่งผลิตมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสถาบัน "Research China" คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าความต้องการยางพารายังมีมากกว่าการผลิตยางพาราอยู่ระหว่าง 5 แสนถึง 1 ล้านตัน ก็น่าจะเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมยางพาราไทยที่ราคาน่าจะปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์ของธนาคารโลกว่าราคาแผ่นยางรมควันชั้น 3 (RSS 3) ที่มากกว่า 2 เหรียญ/กิโลกรัม

สำหรับพื้นที่กรีดยางของไทยนั้น คาดอีก 3 ปีข้างหน้า หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอะไรจะเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านไร่ จากปี 2560 อยู่ที่ 20 ล้านไร่ ประเทศมาเลเซียยังคงเพิ่มพื้นที่เล็กน้อยแต่จะหันไปเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นแทน พื้นที่กรีดยางของประเทศจีนรวม CLMV อยู่ที่ 15 ล้านไร่ ขณะที่อินเดียก็จะขยายพื้นที่กรีดเช่นกัน ส่วนผลผลิตของยางพาราในปี 2563 คาดอินโดนีเซียจะมีผลผลิตมากที่สุดของโลกอยู่ที่ 5 ล้านตัน ตามด้วยไทย 4.9 ล้านตัน โดยที่ความต้องการยางพาราในอนาคตยังคงขึ้นกับจีนและอินเดียเป็นหลัก ขณะนี้ความต้องการจากประเทศยุโรปและอเมริกาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ตัวเลขที่พูดถึงว่าสัดส่วนความต้องการใช้ยางพาราในประเทศไทยนั้นค่อนข้างต่ำ เดิมอยู่ที่ 13% ที่เหลือส่งออก ปี 2559 ถือว่ามีสัญญาณที่ดีเพราะปรับขึ้นเป็น 14% แต่ก็ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับมาเลเซียที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 35% เมื่อเปรียบเทียบการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราสำคัญๆ ระหว่างไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียพบว่า "น้ำยางข้น" ไทยเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยมาเลเซียและอินโดนีเซีย "ยางแผ่นรมควัน" ไทยอันดับหนึ่งตามด้วยอินโดนีเซียและมาเลเซีย "ยางแท่ง" อินโดนีเซียอันดับหนึ่งตามด้วยไทยและมาเลเซีย "ยางรถยนต์" อันดับหนึ่งคือไทย ตามด้วยอินโดนีเซียและมาเลเซีย "ถุงมือยาง" นั้นมาเลเซียเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่ง (วัดจากมูลค่าการส่งออก) ตามด้วยไทย

หัวข้อที่สองที่ผมนำเสนอคือ มูลค่าห่วงโซ่การผลิตอุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ของไทยกับมาเลเซียพบว่า ปี 2555 มูลค่าห่วงโซ่การผลิตของไทยอยู่ที่ 9.6 แสนล้านบาท และในปี 2559 มูลค่าห่วงโซ่การผลิตยางมีมูลค่าใกล้เคียงกับปี 2555 เหตุผลคือราคายางพาราในปี 2559 ต่ำกว่าปี 2555 ถึง 30% มูลค่าปี 2559 แบ่งออกเป็นมูลค่าการผลิตของต้นน้ำ 2 แสนบาท กลางน้ำ 2.8 แสนบาทและปลายน้ำ 4 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าห่วงโซ่การผลิตของมาเลเซียปี 2555 อยู่ที่ 4.6 แสนล้านบาท และอินโดนีเซีย 6 แสนล้านบาท ในปี 2559 เฉพาะมาเลเซียมีมูลค่าห่วงโซ่การผลิตเหลือ 4 แสนบาท

ถัดไปคือการเปรียบเทียบยุทธศาสตร์ยางพาราไทยกับมาเลเซีย แบ่งเป็น 3 ช่วง ตั้งแต่ปี 2542-2556 พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางจาก 12 ล้านไร่เป็น 23 ล้านไร่ พื้นกรีดยางเพิ่มจาก 9 ล้านไร่เป็น 19 ล้านไร่ ส่วนผลผลิตต่อไร่ยังต่ำกว่าเป้าหมายตั้งไว้ 300 กก./ไร่ และสัดส่วนการใช้ในประเทศก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายเช่นกัน

ข้อเสนอแนะเป็นเรื่องสุดท้ายคือ 1.ข้อมูลต้นทุนการผลิตยางพารานั้น รวมทุกประเภทและไม่มีการแยกขนาดผู้ถือครองที่ดิน ทำให้การวิเคราะห์ไม่ชัดเจน 2.ประสิทธิภาพในการผลิตโดยวัดจากผลผลิตต่อไร่เมื่อเทียบกับมาเลเซียถือว่าไทยยังต่ำกว่า 3.เงินเซส (Cess) พบว่าเก็บสูงกว่ามาเลเซียที่เก็บ 0.4 สตางค์/กก. ส่วนอินเดียและเวียดนามมีการยกเลิกการเก็บ 4.การเชื่อมโยงอุตสาหกรรมยางไทยกับจีนและอินเดีย 5.ต้นแบบการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางพาราปลายน้ำให้สูงขึ้น 6.ต้นแบบการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชระยะสั้นเสริมในสวนยางพารา เพื่อเป็นเงินออมของเกษตรกร

Thailand Web Stat