ล้อ ราง เรือ
ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนเมือง
โดย...แสงตะเกียง
ปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนเมือง และที่สำคัญกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) โครงการแผนแม่บทขนส่งมวลชนทางรางในเขต กทม.และปริมณฑล พบว่าสาเหตุหลักของปัญหารถติดเกิดจากปริมาณของรถยนต์ส่วนบุคคลสูงเกินกว่าขีดความสามารถของถนน
นั่นเป็นเพราะระบบขนส่งมวลชนสาธารณะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในหลายกรณี เช่น ไม่รวดเร็ว ไม่ปลอดภัย และไม่สะอาด ผลที่ตามมาคือคนกรุงต้องเผชิญกับรถติด เสียเวลาไปกับการเดินทางมากกว่า 35 นาทีในแต่ละเที่ยว สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจราว 1.1 หมื่นล้านบาท/ปี
ภายหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจการโครงการพัฒนาจุดเชื่อมต่อ “ล้อ ราง เรือ” ของ กทม. ซึ่งเป็นโครงการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม จากท่าเรือสถานีรถหัวลำโพงถึงท่าเรือตลาดเทวราชกุญชร โดย กทม.นำเรือโดยสารไฟฟ้าและเรือโดยสารใช้เครื่องยนต์ดีเซล สามารถรองรับผู้โดยสาร 40 ที่นั่ง ทดลองวิ่งเปรียบเทียบทำให้นายกฯ มีข้อสั่งการให้ กทม.เปลี่ยนมาใช้เรือโดยสารไฟฟ้าสำหรับบริการประชาชนภายในคลองผดุงกรุงเกษม เนื่องจากเป็นเรือใช้พลังงานแบตเตอรี่ ช่วยลดพลังงานการใช้น้ำมันและลดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม
ล่าสุดสำนักการจราจรและขนส่งได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วจำนวน 117 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างหาตัวผู้รับจ้างเดินเรือและจัดหาเรือลำใหม่ คาดใช้ระยะ 5-6 เดือนจะได้ตัวผู้รับจ้าง ส่วนการเดินเรือภายในคลองผดุงกรุงเกษม ทาง กทม.ได้นำเรือของบริษัท กรุงเทพธนาคม ออกบริการประชาชนจำนวน 2 ลำ เป็นเรือไฟฟ้าและเรือดีเซล รวมถึงประสานสำนักการระบายน้ำ นำเรือมาร่วมให้บริการชั่วคราวอีก 6 ลำ รวมเป็น 8 ลำ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. ซึ่งช่วงทดลองให้บริการนี้ กทม.จะสำรวจและประเมินกลุ่มผู้ใช้บริการ เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม คาดว่าจะมีอัตราอยู่ที่ 10-15 บาท
ส่วนกรณีศึกษาขยายเส้นทางเดินเรือในคลองแสนแสบ ในอดีตเส้นทางนี้เคยเปิดบริการประชาชนเมื่อปี 2556 จากท่าเรือพระโขนง-ตลาดมีนบุรี แต่ต้องยกเลิกไป เพราะขณะนั้นริมคลองยังไม่ได้ถูกพัฒนา ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วนพัฒนาและฟื้นฟูคลอง รวมถึงเร่งรัดก่อสร้างเขื่อนริมคลองแสนแสบ ทำให้ กทม.จัดทำแผนพัฒนาจุดเชื่อมต่อระบบขนส่ง จึงมีแผนขยายเส้นทางเรือระยะแรก จากท่าเรือวัดศรีบุญเรือง-ศูนย์การค้าพาซิโอ และระยะที่ 2 ศูนย์การค้าพาซิโอ-ตลาดมีนบุรี รวม 11 กิโลเมตร
อีกทั้งการขยายเส้นทางเรือดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ประสานเรื่องที่จอดในศูนย์การค้าพาซิโอ เพื่อจัดทำจุดปาร์กแอนด์ไรด์หรือเป็นที่จอดแล้วจร เพื่อบรรเทาการจราจรชั่วโมงเร่งด่วนเพิ่มทางเลือกการเดินทางได้เป็นอย่างดี
ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะทางเลือกใหม่เพิ่มเติม ในช่วงระหว่างที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายอยู่ในขณะนี้ ทำให้ประชาชนมีระบบขนส่งทางเลือกที่สะดวก สะอาด ปลอดภัยและรวดเร็ว ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนที่สุด