posttoday

ความตกลงอำนวยความสะดวกขนส่งข้ามแดนใน GMS (จบ)

10 มิถุนายน 2562

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)  www.itd.or.th

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)  www.itd.or.th

ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA)ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติตามความตกลงฯ ในประเด็นเพิ่มเติม สามารถสรุปได้ดังนี้

•กรอบกฎระเบียบที่แตกต่างกัน

ความแตกต่างด้านมาตรฐานเชิงเทคนิคของยานพาหนะซึ่งเป็นข้อกำหนดด้านกฎระเบียบด้านการขนส่งของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ทั้งประเภทและขนาดรถ พิกัดน้ำหนักบรรทุกสินค้า ซึ่งก่อให้เกิดอุปสรรคในการขนส่งข้ามพรมแดน/ผ่านแดน ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งทำให้ยานพาหนะที่มีมาตรฐานผิดไปจากข้อกำหนดของประเทศขาเข้าจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าบริเวณด่านพรมแดนไปยังยานพาหนะของประเทศขาเข้า ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น

•ความสามารถในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบริเวณด่านพรมแดนส่วนใหญ่ยังคงขาดความรู้ความเข้าในในการอำนวยความสะดวกในการข้ามพรมแดน เนื่องจากมีหลายกรอบความตกลงด้านการขนส่งข้ามพรมแดน/ผ่านแดน ระหว่างประเทศภายในภูมิภาค ซึ่งแต่ละกรอบความตกลงฯ อาจมีแนวทางในการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทั้งขั้นตอน กระบวนการ และรูปแบบเอกสาร ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้มักสร้างความสับสนให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ดีพอ ซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการข้ามแดน/ผ่านแดน และส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น

•ความสามารถทางโลจิสติกส์

แต่ละประเทศสมาชิกมีขีดความสามารถทางด้านโลจิสติกส์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพของสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่แตกต่างกันซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระดับความสามารถทางโลจิสติกส์ รวมทั้งระดับความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของแต่ละประเทศ ซึ่งยังคงเป็นอุปสรรคในการเชื่อมโยงทางด้านการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน/ผ่านแดนระหว่างประเทศสมาชิก

•ระบบการประกันภัยระหว่างประเทศ

ระบบการประกันภัยที่ยังไม่มีความครอบคลุมมากเพียงพอในการขนส่งข้ามแดน/ผ่านแดนภายในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีเกิดความเสียหายของบุคคล สินค้า และยานพาหนะ ภายนอกประเทศ

•การวางหลักประกันกรณีสินค้าผ่านแดน

ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) กำหนดให้มีการวางหลักประกันสำหรับกรณีของสินค้าผ่านแดน โดยจะต้องมีสมาคมหรือองค์กรของแต่ละประเทศวางหลักประกันสำหรับกรณีเกิดความเสียหาย/สูญหายต่อสินค้า ซึ่งในปัจจุบัน กรณีการขนส่งสินค้าผ่านแดนจากไทยไปยังเวียดนามผ่านสปป.ลาว มีเพียงไทยเท่านั้นที่ยังคงปฏิบัติตามโดยการวางหลักประกันดังกล่าว ส่วนสปป.ลาวและเวียดนาม มิได้มีการปฏิบัติตามดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความตกลง GMS CBTA ยังไม่สามารถถูกผลักดันและปฏิบัติใช้ได้อย่างเต็มรูปแบบ

จะเห็นได้ว่ายังคงมีปัญหาและอุปสรรคในหลายประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถนำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) มาปฏิบัติใช้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่ามีความพยายามผลักดันโดยประเทศสมาชิกมาโดยตลอดในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นด้านกรอบกฎระเบียบทั้งในประเทศและระดับอนุภูมิภาคที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการนำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS CBTA)มาปฏิบัติใช้

ข้อเสนอแนะของไทยที่มีต่อความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA)
จากปัญหาและอุปสรรคที่ได้กล่าวในข้างต้นที่ทำให้ไม่สามารถนำความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) มาปฏิบัติใช้ได้จริง

ไทยควรออกจากการเป็นภาคีภายใต้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) และมีบทบาทในการนำแนวทางการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนภายใต้กรอบอื่นๆ ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาปฏิบัติใช้ภายในอนุภูมิภาค เพื่อลดอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการขนส่งข้ามพรมแดน/ผ่านแดน ได้แก่ การเข้าเป็นภาคีภายใต้ (1) อนุสัญญาสำหรับสัญญาการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ (Convention on the Contract for International Carriage of Goods by Road: CMR)

(2) สนธิสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ค.ศ. 1968 (1968 Convention on Road Traffic) (3) สนธิสัญญาว่าด้วยป้ายจราจรและสัญลักษณ์ทางจราจรทางถนน ปี ค.ศ. 1968 (1968 Convention on Road Signs and Signals) (4) อนุสัญญาศุลกากรว่าด้วยการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศด้วย TIR Carnet (1975 Customs Convention on the International Transport of Goods Under Cover of TIR Carnets) ภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งกรอบความตกลงหรืออนุสัญญาดังกล่าวได้มีการปฏิบัติใช้กันอย่างแพร่หลายอย่างต่อเนื่องในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเริ่มมีการนำมาปฏิบัติใช้กับหลายประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้จริง อันจะเป็นการช่วยลดระยะเวลา ต้นทุน และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการขนส่งข้ามพรมแดนและผ่านแดนภายในอนุภูมิภาค