posttoday

สหรัฐฯตัด GSP เรื่องจิ๊บๆ...เมื่อเทียบกับบาทแข็งและผลกระทบสงครามการค้าโลก

04 พฤศจิกายน 2562

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

คนไทยเริ่มสนใจการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นไม่ได้มองเป็นเรื่องไกลตัวเหมือนในอดีต เห็นได้จากสหรัฐฯขู่ตัดจีเอสพีซึ่งสื่อมวลชนรวมถึงสังคมโซเชียลมิเดียติดตามต่อเนื่อง GSP : Generalized System of Preference หรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วยกเว้นภาษีขาเข้าให้กับประเทศที่ด้อยพัฒนา เป็นการเลือกที่จะให้หรือไม่ให้ฝ่ายเดียว อาจพ่วงประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศเข้าไปด้วย

กรณีไทยประเทศสหรัฐอเมริกาขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าในระดับต้นๆ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากถึง 4.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ปีนี้การส่งออกไปสหรัฐน่าจะได้ถึง 3.15 หมื่นล้านเหรียญเป็นเงินไทยประมาณ 9.52 แสนล้านบาท ทำให้กลายเป็นคู่ค้าส่งออกเบอร์ 1 แทนประเทศจีนซึ่งจะทำให้ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุดในรอบหลายปี

หากถูกตัดจีเอสพีผลกระทบคงมีบ้างขึ้นอยู่กับว่ายื่นอยู่ตรงจุดไหน แต่ภาพรวมคงไม่มากเพราะมีสินค้าที่อาจอยู่ในข่ายเพียงบางส่วนเนื่องจากก่อนหน้านี้ถูกตัดออกไปมากแล้ว ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าการ ถูกตัด “จีเอสพี” ไม่ใช่ทางสหรัฐเขาจะแซคชั่นไม่ให้นำเข้าสินค้าไทยหรือขึ้นกำแพงภาษีแบบที่จีนโดน ภาระอยู่ที่ผู้นำเข้าฟากเขาที่ต้องเสียภาษีเฉลี่ยประมาณไม่เกินร้อยละ 5

ขณะที่คู่แข่ง เช่น เวียดนาม, กัมพูชา, อินโดนีเซีย ทางสหรัฐฯ เขายังโอ๋อยู่จึงไม่โดนแต่ข้อเท็จจริงผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าคงขอปรับราคาขึ้นอยู่กับการต่อรองกับผู้ส่งออกไทย ในต่างประเทศรวมทั้งสหรัฐ “Product of Thailand” เป็นแบรนด์พรีเมียมด้านคุณภาพเป็นจุดแข็งของสินค้าไทยหากต้องลดราคาบ้างคงเป็นบางส่วนไม่น่ากระทบส่งออกในภาครวม

สำหรับโจทย์เกี่ยวกับด้านแรงงานต่างด้าวให้สามารถตั้งสหภาพได้อย่างเสรี เห็นว่าคงเป็นข้ออ้างแฝงเพราะไม่มีประเทศไหนรวมทั้งสหรัฐอเมริกาทำกัน การดูแลแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวของไทยที่ผ่านมาอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก เห็นได้จากยุโรปปลดธงเหลือง “IUU Fishing” ส่วนด้านการค้ามนุษย์ทางสหรัฐฯปรับระดับเป็นประเทศไม่เป็นปัญหาอยู่ในอันดับ “Tier 2” ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำ, ประกันสังคม, การเข้าถึงระบบสุขภาพทั่วหน้าแรงงานต่างด้าวได้เหมือนคนไทย

ประเด็นเหล่านี้ยังมีเวลา 6 เดือนกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงต่างประเทศคงต้องไปดูว่าแท้จริงว่าสหรัฐฯต้องการอะไรหรือเราไปเหยียบเท้าธุรกิจอะไรของเขาแต่จะเกี่ยวข้องกับการแบนสารพิษหรือไม่คงตอบไม่ได้

อย่าให้เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นทางการเมืองเพราะเป็นผลประโยชน์ของชาติต้องช่วยๆ กัน แต่อย่าบ้าจี้ไปรับเงื่อนไขเสรีแรงงานต่างด้าวให้รวมตัวกันเป็น “Union” ซึ่งสหรัฐฯเขาใช้ศัพท์ “Federation” ต้องระวังเพราะความหมายไม่เหมือนกันกินพื้นที่มากกว่า มีความพยายามไปโยงว่าเป็นเหตุให้ว่าผู้นำสหรัฐฯไม่มาประชุม “Asean Summit” ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งส่งมือรองระดับท้ายๆ เข้ามาแทน เห็นว่าคงไม่น่าจะเกี่ยวกันเท่าใดเพราะช่วงนี้การเมืองภายในสหรัฐฯร้อนแรงหนักกว่าไทย

จากกรณีคุณทรัมป์ฯกำลังเข้าสู่กระบวนการ “Impeachment” เพื่อไต่สวนถอดถอนจากการเป็นประธานาธิปดี เนื่องจากฝ่ายค้านพรรคเดโมแครต กล่าวหากรณีโทรศัพท์ไปหาผู้นำยูเครนเพื่อขอข้อมูลนายโจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิปดีสมัยโอบามาซึ่งจะเป็นคู่แข่งเลือกตั้งปีหน้า เรื่องพวกนี้คงเป็นประเด็นที่คุณทรัมป์ฯ ให้ความสำคัญมากกว่ามาประชุมอาเซียนและคงไม่มีเวลามาหาเรื่องไทยเกี่ยวกับจีเอสพีซึ่งเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยในสายตาของเขา

การถูกสหรัฐฯตัดจีเอสพีผลกระทบส่งออกไปสหรัฐฯคงอยู่ในวงแคบๆ แต่ตัวร้ายที่จะกระทบภาคส่งออกของไทยอย่างเป็นนัยคืออัตราแลกเปลี่ยนบาทของไทยแข็งค่ามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

ช่วง 3 เดือน แข็งค่าร้อยละ 2.3 โดยในช่วง 10 เดือนของปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนบาทแข็งค่าถึงร้อยละ 6.0 ผู้ส่งออกทุกหนึ่งเหรียญสหรัฐฯเงินหายไปเกือบ 2 บาทหรือปีนี้ทั้งปีการส่งออกในรูปเงินบาทจะหายไปประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท อีกปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคือวิกฤตสงครามการค้าโลกหรือ “Trade War” ถึงจะมีการเจรจากันไปบ้างคงไม่จบง่ายๆ เพราะแต่ฝ่ายมีการเมืองภายในประเทศเป็นเดิมพันอาจต้องยืดไปถึงหลังเลือกตั้งประธานาธิปดีสหรัฐฯเดือนพฤศจิกายนปีหน้า

เศรษฐโลกจะทวีความผันผวนผลกระทบเชื่อมโยงกันปีหน้าจะหนักกว่าปีนี้ เห็นได้จากธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)หั่นดอกเบี้ยนโยบายลงมาใกล้จะติดระดับศูนย์อยู่แล้ว ผลที่ชัดเจนส่งออกไทยเดือนกันยายนหดตัวร้อยละ 1.39 เป็นการหดตัวต่อเนื่องในช่วงมกราคม – กันยายนหดตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.11 เป็นการติดลบทุกภาคส่วนโดยเฉพาะส่งออกสินค้าเกษตรและปศุสัตว์หดตัวหนักติดลบร้อยละ 3.72

เมื่อบวกกับปัญหาภัยแล้งเกษตรกรไทยเหนื่อยแน่ การเปิดตลาดใหม่ภายใต้เศรษฐโลกขาลงคงเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ทำได้ง่ายๆ สะท้อนจากตลาดส่งออก 15 รายแรกล้วนติดลบยกเว้นสหรัฐฯที่ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 14.07 ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นบวกจากการส่งออกทองคำ

ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศเกี่ยวข้องกับกำลังซื้อที่ซบเซามาตรการชิม-ช็อป-ใช้ทั้งเฟส 1-3 มีผลน้อยมากคงไม่สามารถดันเศรษฐกิจไทยในโค้งสุดท้ายได้อย่างที่หวัง ทุกสำนักเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศประมาณว่าปี 2562 เศรษฐกิจไทยคงขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 2.75

ส่วนด้านการส่งออกซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังใจแข็งไม่ลดเป้าที่เป็นบวกคงต้องฝันสลาย ปัจจัยทั้งภายในและภายนอกเหล่านี้ล้วนทำให้ภาคอุตสาหกรรม –บริการของเอกชนอ่อนแอขึ้นอยู่กับความอึดสภาพคล่องของแต่ละธุรกิจ สถานะที่เป็นจริงคือการชะลอการจ้างงานซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานปีหน้า เรื่องเหล่านี้วางแผนหรือคิดไว้ล่วงหน้า... คงไม่เป็นไรครับ

(สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat)