posttoday

การปรับตัวของ SMEs ในยุคสินค้าตระหนักสิ่งแวดล้อม

22 ธันวาคม 2562

คอลัมน์ จับทิศธุรกิจเอสเอ็มอี

ดีเดย์วันที่ 1 มกราคม 2563 จะมีการยกเลิกการให้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ

ทั้งนี้ สถิติประเทศไทยมีจำนวนการใช้ถุงพลาสติกถึง 45,000 ล้านใบ ต่อปี (ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ) และไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่ปล่อยขยะลงทะเลเป็นอันดับ 10 ของโลก (จากเดิมอันดับ 6) ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการรณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก

ทีนี้ ลองมาดูว่าสินค้าใดที่มีโอกาสในกระแสสิ่งแวดล้อมมาแรงบ้าง
1. สินค้าจักสานหัตถกรรมพื้นบ้าน ช่วงนี้เทรนด์กระเป๋าที่เป็นงานจักสานมาแรงและคาดว่าจะยังแรงต่อเนื่องไปถึงปลายปี 2020

วัสดุที่ใช้สาน มาจากพืชหลากหลาย เช่น ไม้ไผ่ ตอก กระจูด และผักตบชวา พืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในเรื่องความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก ความเหนียว การทนความชื้นแตกต่างกัน ทั้งนี้การเลือกวัสดุควรคำนึงให้เหมาะกับรูปแบบการใช้งานและภาพลักษณ์แบรนด์สินค้า

2.กล่องกระดาษและบรรจุภัณฑ์จากกระดาษ กระดาษเป็นอีกวัสดุที่ย่อยสลายง่าย ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ในไทยมีการใช้เยื่อจากใบสับปะรด มาทำกระดาษ เปลือกปอสา และยังมีการนำมูลช้างมาทำกระดาษ หากเรามองหาวัสดุที่แปลกและสร้างจุดต่าง เสริมจุดขายให้สินค้าก็เป็นอีกวิธีในการทำตลาด

3.ถุงจากกระสอบให้แล้ว นำมา remake ใหม่เป็นกระเป๋า เทรนด์นี้มาแรงในต่างประเทศซักช่วงเวลานึงแล้ว แต่ในบ้านเราเริ่มมาได้ซักระยะ แต่ก็ยังมีฐานลูกค้าไม่กว้างมาก การนำถุงกระสอบเหลือใช้มาตัดเย็บทำใหม่ ถือเป็นการสร้างงานดีไซน์ เพราะในการนำลายกระสอบมาตัดเป็นถุง หรือกระเป๋าต้องใช้หลักการออกแบบเข้ามาช่วย สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มของสินค้าได้ถึง 2-3 เท่าตัว และหากเป็นถุงลายแบรนด์ที่เป็นที่นิยม ราคาพุ่งสูงขึ้น 4-5 เท่าตัว

4.ถุงผ้าจากเส้นใยธรรมชาติ วิวัฒนาการเส้นใยธรรมชาติของไทยเราพัฒนาก้าวไปไกลมาก มีการนำเส้นใยจากพืชใกล้ตัวอย่าง กล้วย มะพร้าว สับปะรด ผักตบชวา และใยกัญชงมาทำเป็นผ้าผืนสำเร็จแล้ว แต่เนื่องจากผ้าเส้นใยธรรมชาตินั้น มีต้นทุนที่สูงกว่าผ้าทั่วไป

ฉะนั้นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้า และสถานที่จำหน่ายจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่เพื่อสร้างความแตกต่างถุงผ้าจากเส้นใยธรรมชาติจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ควรมองข้าม

แม้ว่าโลกจะปรับเปลี่ยนหมุนเวียนไป และพฤฒิกรรมการบริโภคเปลี่ยน แต่ถ้าเราคอยสำรวจและปรับจูนสินค้าให้ทันกระแส ก็ยังจะมีโอกาศเติบโตทางเศรษฐกิจสวนกระแสได้