เรียน “ออนไลน์” กับการปิด-เปิดโรงเรียนในช่วงโควิด-19
คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ
บทความ โดย...ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected] และ ศาสตราจารย์ ดร. ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ วิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย [email protected]
จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่เป็นทั้ง 1) อาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการปรับตัวไปสู่การเรียนการสอบออนไลน์ให้กับนักศึกษาในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด 2) นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา (โดยเฉพาะการพัฒนามนุษย์) ที่หลัง ๆมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ “การศึกษา” มากพอควร และ 3) เป็นผู้ปกครองของลูกสองคนที่เคยเรียนโรงเรียนประถมที่โด่งดังและเข้ายาก (ที่สุด) ในระบบไทย แต่ด้วยความที่ไม่ชอบในระบบจึงให้ลูกออกมาเรียนในโรงเรียนแถวบ้าน ซึ่งมีการเรียนการสอนเป็นแบบอินเตอร์ และเนื่องจากที่เป็นโรงเรียนในระบบอินเตอร์นี้เอง จึงทำให้ลูกของผมจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการเรียนออนไลน์ในช่วง 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากการเฝ้าดูและประเมินการเรียนออนไลน์ของลูกเราพบข้อสังเกตและข้อสรุปดังนี้
1. การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องการปรับตัวของครูและนักเรียนครั้งใหญ่
เมื่อ 7-10 สัปดาห์ที่แล้ว โรงเรียนอินเตอร์ในไทยถือว่า สามารถปรับพฤติกรรมเร็วมาก มีการซื้อโปรแกรมและอบรมครูให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-4 สัปดาห์ โรงเรียนที่ปรับตัวช้าหน่อยถึงกับหยุดเรียนเพื่ออบรมครูและจัดวางระบบการเรียนออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วก่อนที่จะถูกสั่งปิดโรงเรียน เหตุเพราะโรงเรียนเหล่านี้มีความพร้อม
- ครูใช้คอมพิวเตอร์กันเป็นอยู่แล้ว การบ้านปกติเป็นระบบออนไลน์อยู่แล้ว (เช่น Google Classroom, Zoom, Microsoft Teams, Math Map, Kahn Academy) ระบบเหล่านี่เป็นภาษาอังกฤษที่มีการใช้อย่างชำนาญในการสอนปกติ
- นักเรียนมี Computer Literacy คือมีความพร้อมทางด้านไอที ใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ดี สามารถจัดการกับโปรแกรมต่างๆ เช่น Word Document, PowerPoint แม้แต่โปรแกรมวาดภาพต่างๆ เด็กโตทุกคนมี Email สามารถส่งงาน สื่อสารกับเพื่อนทางระบบไอทีได้ก่อนยุคโควิด
- นักเรียนทุกคนมีความพร้อมด้านทุนทรัพย์ แทบทุกคนมีคอมพิวเตอร์ใช้ กรณีที่คอมพิวเตอร์ที่บ้านไม่พอ ก็แค่สั่งหรือซื้อ laptop จากร้านคอมพิวเตอร์ภายใน 1 ชั่วโมง ไม่นับรวมเครื่องพิมพ์ printer ที่ต้องใช้ในบางงาน ที่หากไม่มีก็ซื้อใหม่ได้ ไม่เดือดร้อนมาก
แต่การปรับตัวที่ยากที่สุดคือระบบการเรียนของระบบฝรั่ง (ขอใช้คำรวม) จะเป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เน้นการคิดวิเคราะห์ เน้นการพูดคุย เน้นการสื่อสาร ทำให้การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวสูงมากสำหรับครูและเด็ก การเรียกเด็กตอบหรือยกมือผ่านคอมพิวเตอร์ หรือสังเกตว่า เด็กกำลังเบื่อเป็นเรื่องยากมากสำหรับครูฝรั่ง เด็กเองก็มีความเศร้าที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน การทำงานกลุ่ม การปรึกษากัน การเปิดเพลงเต้นระหว่างทำงานกลุ่มในห้องกลายเป็นอดีตที่น่าเศร้า แม้แต่การเชียร์เพื่อนในทีมในการเล่นวิชาพละศึกษา ก็ไม่เกิดขึ้นในการเรียนออนไลน์
เราสังเกตว่า ในวันแรกๆ ของการเรียนออนไลน์ ครูทุกคนจะตื่นเต้น ตั้งใจมาก จะให้การบ้าน อัดหนักจนเด็กมึนเพราะทำงานส่งไม่ทัน บางคนถึงกับต้องนอนดึกดื่นเพื่อทำงานให้ทัน แต่ครูฝรั่งละเอียด หลัง ๆ คงมีการประชุมกันเพราะเห็นว่า งานลดลง Focus เปลี่ยนไป บางที่ถึงขั้นแนะนำให้เด็กหยุดทำงาน (และไม่คาดโทษ) หากใช้เวลากับหน้าจอเกิน 6-7 ชั่วโมง (เพราะยังเป็นการทำร้ายสายตา) และมีการส่งคลิปช่วยผ่อนคลายต่างๆ มาให้นักเรียน
2. การเรียนออนไลน์เป็นเรื่อง “น่าเบื่อและเครียด” สำหรับทุกคน
ถ้าเราตั้งต้นว่า การไปโรงเรียนควรเป็นเรื่องสนุก เรื่องน่าเบื่อที่เกิดขึ้นของการเรียนออนไลน์ก็คือ เมื่อเราต้องทำตามตารางการเรียน มีเวลาตามคาบเรียน มีเวลาพักเบรกที่เด็กไม่ได้พักจริงเพราะต้องตามงานที่ทำไม่เสร็จ จนเกิดความเครียด การคาดหวังให้เด็กเล็กมีวินัย ดูนาฬิกาเป็น ทำงานส่งตามตารางเป็นเรื่องที่เป็นไปแทบไม่ได้ ไม่รวมกับที่พ่อแม่บางคนต้องเสียเวลามากไปกับการช่วยเหลือลูกเรื่องการเรียน ทั้งยังต้องเตรียมอาหารให้ลูก 3 มื้อทุกวัน และอีก 2 เบรกตามตารางโรงเรียน (ถ้าจะให้เป๊ะ)
อีกเรื่องที่พ่อแม่หลายคนประสบคือ ไม่สามารถสอนงานลูกได้ (แต่ก็อยากให้ลูกได้คะแนนดี ๆ) ถ้าทำไม่ได้ก็เกิดความเครียด พ่อแม่ที่มีความรู้ก็ต้องถามตัวเองว่า จะช่วยลูกไปทำไม? ลูกก็เลยต้องค้นคว้าเอง ทำเอง เครียดเอง ในขณะที่ถ้าอยู่โรงเรียนทั้งหมดนี้จะเป็นหน้าที่ของครู สรุปว่า เด็กก็เบื่อ ครูเองก็เบื่อเพราะพูดคนเดียว อัดเทปคนเดียว และต้องมาตามเก็บงานนักเรียนที่ส่งออนไลน์ ซึ่งมาเรื่อย ๆ ไม่จบในคาบเดียว
เราเข้าใจแล้วว่า ทำไมพ่อแม่ที่จัดการเรียนแบบ Home-School ที่ได้ผลดีได้จึงต้องทุ่มเทอย่างหนัก และโดยมากจะเป็นคนที่ไม่ต้องทำงานนอกบ้าน
3. การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องของความพร้อมของครู
การเรียนออนไลน์เป็นการวางแผนของครูที่จะนำบทเรียนมาประยุกต์ให้สามารถเรียนโดยที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ 1 ต่อ 1 ได้ ครูต้องสรรหาบทเรียน คลิป เอกสารการสอนที่เหมือนในห้องเรียน หาอุปกรณ์จริง ทดลองจริงให้ดู และต้องหาบทเรียนเพิ่มเติมสำหรับเรื่องที่ทดแทนด้วยการทำงานหน้าคอม ฯ ไม่ได้ ครูต้องพร้อมมากๆ
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนพูดเสมอว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยควรมาเรียนรู้การสอนจากครูประถมเหล่านี้ เพราะเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ง่ายแน่ ๆ ณ วันนี้ มีงานวิชาการที่ออกมาหลัก ๆ 2 ชิ้นของไทยที่บอกว่า ครูไทยไม่พร้อมที่จะสอนออนไลน์
4. การเรียนออนไลน์เป็นเรื่องของความพร้อมของเด็ก
ความพร้อมของเด็กในที่นี้คือ ความมีวินัย ความพร้อมด้านไอที ความกล้าแสดงออกและโต้ตอบในการถามคำถาม ซึ่งมีความแตกต่างกันมากในเด็กโรงเรียนไทยและโรงเรียนฝรั่ง รวมถึงระดับความเครียดที่เด็กจะรับได้ในเรื่องการแข่งขัน ในการเรียนออนไลน์ของฝรั่ง เด็กจะมีการสื่อสารกันตลอดเวลา ไม่มีการเปรียบเทียบคะแนนกัน ไม่กลัวเพื่อนลอก ไม่กลัวการแสดงความคิดเห็นแล้วเสียหน้า หากเด็กโรงเรียนไทยไม่พร้อมก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะทางด้านจิตใจหากต้องมีการเรียนออนไลน์กับระบบไทยที่เราคุ้นเคย
5. การเรียนออนไลน์ไม่ได้มีประสิทธิผลการเรียนรู้อย่างที่เราเคยคาดหวัง (Over-rated)
ผมให้ Rating ประสิทธิผลของการเรียนออนไลน์ของลูกคนเล็กที่เรียนประถมไว้ที่ 25-30 % และลูกคนโตที่ 30-40 % ในขณะที่เด็ก ๆ ให้คะแนนที่ 10-20 % และเรามั่นใจว่า พ่อแม่ที่มีมุมองด้านพัฒนาการเด็กก็คงจะมี Rating ที่ไม่ต่างจากเรามากนัก สาเหตุหลัก ๆ ก็คือ การเรียนรู้ที่ดี (ของหลักสูตรฝรั่ง ไม่ใช่หลักสูตรไทย) ในวัยนี้เป็นการเรียนเชิงคิดวิเคราะห์ เชิงสร้างสรรค์ และเชิงปฏิสัมพันธ์ ซึ่งการเรียนออนไลน์ทำได้น้อยมาก
6. การเรียนออนไลน์ไม่เหมาะกับเด็กทุกคน
เราค้นพบว่า การเรียนออนไลน์ (หรือการสอนออนไลน์) ไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน สำหรับเด็กบางคนที่วินัยสูงและเป็นกลุ่มที่เก็บตัวก็ไม่น่ากังวล แต่เด็กบางคนที่ต้องการสังคม มีความสุขกับการพบเพื่อนและครูจะเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบในเชิงลบที่สุด เรายังพบว่า เด็กที่ไม่ชอบออกกำลังกายจะไม่มีทางบังคับตัวเองให้ทำตามวีดีโอที่ครูส่งมาให้ได้ครบ หรือ เด็กที่ห่วงคะแนนก็จะไม่มีทางซื่อสัตย์ในการสอบออนไลน์ได้ ฯลฯ นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เด็กยากจนที่ไม่สามารถเข้าถึงการมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว การมีห้องเงียบ ๆ ไว้เรียนคนเดียว หรือการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ต ซึ่งหมายความว่าการแจกแท็ปเล็ตไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย ซึ่งเรื่องนี้เรามีประเด็นให้ขบคิดมากมายในเชิงนโยบาย
ฺ7. การเรียนออนไลน์เป็นแค่ Second-best ไม่ใช่ First-best
ถึงจุดนี้ เราและนักวิชาการบางกลุ่มประเมินกันมาผิดตลอดว่า การเรียนออนไลน์จะมาแทนการเรียนการสอนในทุกระดับ แม้แต่ในมหาวิทยาลัยที่น่าจะทำได้ง่ายที่สุด ประสบการณ์ 6 สัปดาห์สอนเราว่า ตราบใดที่โครงสร้างและปรัชญาการเรียนรู้ของสังคมยังไม่นิ่ง การเรียนออนไลน์ไม่สามารถเป็น first-best ในประชากรเฉลี่ยได้เลย ซึ่งหมายความว่า การเรียนออนไลน์เป็นเพียงเครื่องมือรองไม่ใช่เครื่องมือหลักที่ครูจะใช้ในการศึกษา
8. การเรียนออนไลน์ให้ได้ผลเป็นเรื่องของการปรับปรัชญาการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการต้องคิดหนัก
การให้เด็กไทยปรับไปใช้ระบบการเรียนออนไลน์จะต้องคำนึงถึงข้อ 1-7 ที่กล่าวมาทั้งหมด ปรัชญาการสอนของไทยเคยเป็นแบบ Traditional หรือแบบอนุรักษ์นิยม ที่ผู้สอนเป็นใหญ่ในปฏิสัมพันธ์ของการเรียนรู้และมีการเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่คะแนน หากใช้ปรัชญาการเรียนออนไลน์แบบอนุรักษ์นิยม การเรียนการสอนจะง่ายมากสำหรับผู้สอน แต่จะเป็นความน่าเบื่อและความเครียดสำหรับเด็กและผู้ปกครอง เพราะหน้าที่ของคนจัดทำระบบออนไลน์ก็จะเป็นเพียงแค่การหาครูดีๆ มาสร้างสื่อการเรียน และให้นักเรียนเปิดคลิปดูตามตารางเรียน สั่งการบ้าน และสอบ (ออนไลน์) หากเราจะทำเรื่องนี้เป็นการเฉพาะหน้า เราก็คงไม่ต้องเตรียมการอะไรมากไปกว่านี้มากนัก ยกเว้นการจัดหา Facility ให้เกิดการเรียนออนไลน์ได้เท่านั้น
ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้กำกับดูแลโรงเรียนเอกชนรวมทั้งโรงเรียนอินเตอร์ควรทราบว่า การเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนอินเตอร์ที่ท่านคิดว่าดีแล้วนั้น จริง ๆ ไม่ได้มีประสิทธิผลตรงตามปรัชญาการเรียนของฝรั่งเลย การที่โรงเรียนอินเตอร์ทำได้ดีที่ท่านเห็นเป็นเพียง Second-best เท่านั้น อย่าไปคิดว่า ดีแล้วให้ทำต่อไป ควรหาแนวทางสนับสนุนให้มีการกลับไปเปิดเรียนตามแนวทางเดิม (ที่ดีกว่า) ดีกว่า
ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการการเรียนออนไลน์ของโรงเรียน
1. กระทรวงศึกษา (ภายใต้สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน) ไม่ควรขยาย “การปิดเรียนในโรงเรียน” ของโรงเรียนอินเตอร์ (แต่สั่งให้โรงเรียนสอนออนไลน์อีก 3 เดือน) มาให้ตรงกับโรงเรียนไทย (1 กรกฎาคม 2563) เนื่องจากโรงเรียนอินเตอร์เหล่านี้ล้วนมีความพร้อมค่อนข้างสูงในการเปิดเรียนให้เด็กได้ไปเรียนที่โรงเรียน ผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นกลุ่มเฉพาะที่ผู้ปกครองมีการดูแลตัวเองและบุตรหลานในช่วงล็อคดาวน์เป็นอย่างดี (ผ่านมา 6 สัปดาห์แบบปลอดเชื้อ) ดังนั้น
1.1. ในสถานการณ์ระบาดและแนวโน้มในปัจจุบัน ควรเปิดเรียน “ตามความพร้อมของโรงเรียน” ได้เลยในกลางเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน โดยมีมาตรการกำกับนักเรียน ครู และพนักงานอย่างเข้มงวดด้วยการสืบประวัติครอบครัว การรักษาความสะอาด และการปฏิบัติตัว มีนโยบายแบบสมัครใจโดยให้ครูจัดการเรียนการสอนแบบ Live ให้กับนักเรียนที่เรียนอยู่บ้าน (ผู้เขียนเชื่อว่า คงมีน้อยคนที่อยากเรียนที่บ้าน) ในกรณีเด็กเล็กถึงประถมต้น ควรหารือกับโรงเรียนถึงความพร้อมในการดูแลนักเรียนกับโรงเรียนผู้ให้บริการเป็นรายๆไป หากไม่พร้อม ควรจัดการเรียนการสอนในกลุ่มเด็กเล็กที่บ้านต่อไป
1.2. การเปิดเรียนก่อน 1 กรกฎาคม 2563 อาจพิจารณาเปิดการเรียน 2 หรือ 3 วันต่อสัปดาห์ที่โรงเรียนสำหรับการเรียนในวิชาที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ ความสร้างสรรค์ และการคิดวิเคราะห์ และ 2-3 วันที่บ้านสำหรับวิชาที่การเรียนออนไลน์สามารถทดแทนการเรียนที่โรงเรียนได้
2. สำหรับโรงเรียนไทย (ที่เป็นเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ) ผู้บริหารควร “เรียนรู้และสังเกตการณ์” การบริหารจัดการโรงเรียนอินเตอร์เป็นกรณีศึกษาในเรื่องการเรียนออนไลน์ และดูแนวทางในการจัดการเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนของโรงเรียนไทยในช่วงโควิดนี้ เพราะขนาดโรงเรียนอินเตอร์มีความพร้อมทั้งด้านระบบการให้บริการ ครู ตัวเด็ก และครอบครัว ถ้ายังมีปัญหาอะไร แปลว่าโรงเรียนไทยที่เด็กและครูส่วนใหญ่ไม่มีความพร้อมเท่าก็จะยิ่งประสบปัญหามากกว่านี้
3. สำหรับโรงเรียนไทย การเลื่อนเปิดเทอมเป็น 1 กรกฎาคม เป็นนโยบายที่ตัดสินใจไปแล้วบนพื้นฐานของความไม่แน่นอนของมาตรการการเปิดประเทศ หากมีการพิจารณาการเปิดการทำงานของผู้ปกครอง เสนอให้พิจารณามาตรการการดูแลเด็กในบ้านร่วมกันระหว่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
- การจัดการเรียนการสอนเด็กประถมปลายที่จะเปิดเรียน 1 ก.ค. ควรเร่งรัดการจัดระบบการเรียนการสอนออนไลน์ไว้เป็นทางเลือกในกรณีที่อาจจะยังมีผลกระทบกับโรคระบาดอยู่ ควรเร่งจัดทำสื่อออนไลน์ ใช้สื่อกลางที่จะเป็นการลดภาระครู และพัฒนาทักษะครูให้ดำเนินการเป็น Coaching และสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Problem-based learning ให้มากขึ้น ซึ่งข้อนี้มีความท้าทายมากในช่วงเวลาสั้นๆ
- สำหรับเด็กเล็ก วัยอนุบาล-วัยประถมต้น เสนอทางเลือก 2 options
• Option 1: ช่วงเปิดเทอมเดิม (พ.ค.-มิ.ย.) ที่จะมีการเปิดประเทศ ปรับโรงเรียน (ที่ปิดเรียน) ปรับโรงเรียนเป็นสถานรับเลี้ยงเด็ก โดยขยายพื้นที่บริการในโรงเรียนตามมาตรการเข้มงวดของการสาธารณะสุขเรื่องการระบาด เพื่อลดภาระคนทำงานสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นและสมัครใจนำบุตรหลานไปฝาก รัฐก็จะได้ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนในส่วนนี้ด้วย ข้อเสนอนี้อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจที่ว่า เด็กเล็กผ่านการกักตัว อยู่บ้าน ลดเชื้อเพื่อชาติมาได้ 6 สัปดาห์แล้ว ทั้งนี้ มาตรการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงผู้สูงอายุในบ้านด้วย
• Option 2: สนับสนุนเงินช่วยดูแลบุตรถึงวัยอนุบาล- ป.3 (ชั่วคราว ระหว่างเปิดประเทศในช่วงการระบาด) เพื่อลดภาระ ลดความเครียดของผู้ปกครอง โดยกลุ่มนี้ขอให้งดไปโรงเรียนก่อนเดือนสิงหาคม
4. สำหรับโรงเรียนไทย ควรใช้บทเรียนจากการเปิดเรียนของโรงเรียนอินเตอร์เป็นกรณีศึกษา ในกรณีที่จำนวนนักเรียนต่อห้องมีจำนวนมาก ควรพิจารณา “ปรับเปลี่ยนพื้นที่ในโรงเรียนและนอกโรงเรียนและตารางเรียนให้มีการใช้งานที่เป็นลักษณะการเว้นช่องว่างทางสังคม” เช่น พิจารณาปรับพื้นที่สนามเป็นพื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร พิจารณาพื้นที่สาธารณะ เช่น ลานวัด โรงยิม อบต. เป็นพื้นที่ Node (กลุ่ม) สำหรับการเรียนออนไลน์ของนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งมีสถานที่ที่จะให้ครูได้เข้ามาปรึกษาในการเรียนการสอน
5. พิจารณาให้ความรู้แก่ผู้ปกครองในบ้านเรื่องการดูแลความปลอดภัยของนักเรียน การปฏิบัติตนเมื่ออยู่ที่บ้าน ก่อนเข้าโรงเรียน ที่โรงเรียน และก่อนกลับเข้าบ้าน จัดทำคู่มือ และให้ความรู้แก่นักเรียน และคนในบ้านทุกคน
ดังนั้น ถ้าคนในกระทรวงจะเลิกมองแบบโลกสวย และหันมามองในโลกของความเป็นจริงจะพบว่า เราจะต้องส่งเด็กกลับโรงเรียนให้เร็ว มาคิดตามข้อเสนอข้างต้นว่าจะส่งอย่างไร ให้ทั้ง “ปลอดภัย อยู่ได้ และ สบายใจ” กับทุกฝ่าย