posttoday

เศรษฐกิจถดถอยกินลึก....นายจ้าง-ลูกจ้างต้องช่วยกันประคองธุรกิจให้อยู่รอด

25 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

ผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า 2019 เล่นงานเศรษฐกิจโลกหนักกว่าที่คาด ระดับเจ้าสัวใหญ่ค้าปลีกออกมาระบุว่ารุนแรงกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 23 ปีที่ผ่านมามากกว่าสิบเท่า

เพราะเศรษฐกิจมีการหดตัวกระทบไปถึงธุรกิจใหญ่น้อยและประชาชนรากหญ้า สอดคล้องกับการคาดการณ์ของหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนที่ระบุว่าไตรมาสที่ 2เศรษฐกิจจะหดตัวต่อเนื่องอาจติดลบถึงร้อยละ 14 จากที่ไตรมาสแรกหดตัวร้อยละ 1.8

คาดว่าเศรษฐกิจทั้งปีอาจถดถอยถึงร้อยละ 5.5  การล็อกดาวน์ป้องกันโรคด้วยการปิดพื้นที่ทำมาหากินส่งผลให้ตัวเลขการว่างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมมีมากกว่า 10 ล้านคน กระทบกำลังซื้อของประชาชนหายจนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)    หั่นดอกเบี้ยเหลือเพียงร้อยละ 0.5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่มีการบันทึกไว้

ภาพที่ไม่ควรจะเห็นในระบบเศรษฐกิจไทยที่ก้าวมาถึงยุค 4.0 คือคนจนทั่วประเทศไม่มีจะกินต้องตั้งโรงทาน ตู้ปันสุข หรือแจกถุงยังชีพ แรงงานตกงานรอเข้าแถวเพื่อรับเงินประกันสังคมยาวเหยียด

รัฐบาลถึงแม้จะกลัวการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่เศรษฐกิจที่ทรุดหนักทำให้คลายล็อกเฟส 2 ไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของไทยดีขึ้นเกือบปกติแต่จะให้หายขาดเป็น “ศูนย์” คงเป็นไปไม่ได้ มีแนวโน้มขยายพรก.ฉุกเฉินยืดออกไปอีก 1 เดือนไม่รู้ว่าเพื่อป้องกันการระบาดของโรคหรือเพื่อการเมือง

การคลายล็อกภาคธุรกิจโดยเฉพาะศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และร้านค้าต่างๆ ผู้ประกอบการตอบสนองร่วมมืออย่างดี เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบรุนแรงคาดว่าทั้งระบบเสียหายมากกว่า 5 แสนล้านบาท

คาดว่าไตรมาสที่ 2 ดัชนีค้าปลีกอาจหดตัวมากกว่าร้อยละ 20 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดีสัปดาห์ที่ผ่านมามีแค่วันอาทิตย์แรกที่เปิดซึ่งคนแน่นห้าง

แต่หลังจากนั้นผู้ที่เข้าไปเดินห้างเหลือแค่ร้อยละ 15 ของปกติขณะที่ร้านค้าและร้านอาหารในห้างเปิดเพียงแค่ร้อยละ 60 คงต้องประเมินสัปดาห์นี้อีกครั้งหนึ่งว่ากำลังซื้อจะกลับเข้ามามากน้อยเพียงใด

ต้องเข้าใจว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดของโลกนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2473 ขณะที่เศรษฐกิจของไทยอิงกับการส่งออก-บริการและซัพพลายเชนโลกจึงได้รับผลกระทบโดยตรงเศรษฐกิจจะทรุดตัวยาวไป       อย่างน้อย 2-3 ปี

ภาวะตลาดแรงงานจะไม่เหมือนเดิมกลายเป็นวิถีใหม่ “New Normal” ผลกระทบไล่ไปตั้งแต่ธุรกิจรายย่อย-เอสเอ็มอีไปจนถึงขนาดใหญ่แม้แต่อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด          

เดือนเมษายนที่ผ่านมายอดผลิตเพื่อส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 83.5 ต่ำสุดในรอบ 30 ปีหากยืดเยื้อไปถึงเดือนมิถุนายนหลายโรงอาจต้องปิดโรงงานซึ่งจะส่งผลลามไปถึงอุตสาหกรรมต่างๆนับพันกิจการที่อยู่ในโซ่อุปทาน

การเห็นอนาคตการจ้างงาน ต้องเห็นภาพสภาวะของสถานประกอบการต่างๆบอกได้เลยว่าส่วนใหญ่อยู่ในสภาพประคองตัวหลายธุรกิจอาจไปไม่รอดที่ต้องลุ้นไล่มาตั้งแต่ภาคค้าปลีกซึ่งกระทบหนักมากแต่ไม่เกี่ยวข้องกับพวกอาหารและสินค้าจำเป็นที่ยังไปได้

ขนาดนายห้างใหญ่ค้าปลีกออกมาบ่นว่าหนักสุดคาดว่าทั้งระบบปีนี้ดัชนีค้าปลีกอาจหดตัวร้อยละ 14-20  เนื่องจากชาวบ้านไล่มาตั้งแต่มนุษย์เงินเดือนที่เป็นแรงงานในระบบตกงานล้านเศษและแรงงานนอกระบบร่วมสิบล้านคนไม่มีงานทำอยู่ได้เพราะเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาลซึ่งเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนสุดท้ายที่จะได้รับเงินหากจะกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลคงต้องใส่เงินเข้าไปอีก

กำลังซื้อทั้งในและนอกประเทศที่หายไปกระทบสถานประกอบการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยกเว้นที่เกี่ยวกับอุปโภค-บริโภคและธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพนอกนั้นอยู่ในสภาพทรงตัวไปจนถึงหดตัว ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม (สอท.) เดือนเมษายนที่มีการสำรวจต่ำสุดในรอบ 11 ปีแม้แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ปีนี้หดตัวหนักหากสายปานไม่ยาวคงอยู่ยาก

แม้แต่ธุรกิจระดับ “Mega Company” มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทอย่างการบินไทยที่รัฐบาลอุ้มมาตลอดมีหนี้สินล้นพ้นตัวต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง

มีข่าวว่าเจ้าหนี้ต่างชาติที่ค้างค่างวดอาจไปฟ้องล้มละลายตัดหน้าเพื่อไล่ยึดเครื่องบินกระทบไปถึงพนักงาน “รักคุณเท่าฟ้า” ที่เป็นอาชีพซึ่งคนส่วนใหญ่อิจฉาทั้งเท่    มีความมั่นคงรายได้อู้ฟู้แถมมีสหภาพแรงงานเข้มแข็งเป็นเกาะใครเข้ามาไม่ถึง

วันนี้คงร้อนๆหนาวๆไม่รู้อนาคตตนเองภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดแต่การบินไทยแต่จะเป็นภาวะของสถานประกอบการที่จะต้องรับมือกับความไม่แน่นอนที่คาดเดาไม่ถึง

ส่วนที่รัฐมนตรีบางคนหวังลมๆ แล้งๆ ว่าการลงทุนใหม่ที่จะเป็นแหล่งจ้างงานในอนาคตแต่วันนี้ไม่ต้องพูดถึงไตรมาสแรกการขอส่งเสริมลงทุนจาก BOI วูบหดตัวเป็นประวัติการณ์ติดลบร้อยละ -44

ข้อมูลจากสถาบันการเงินระบุว่าธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมากกว่าร้อยละ 30 อยู่ระหว่างการปรับพอร์ตหนี้หรือโครงสร้างหนี้เพื่อเอาตัวรอดปัญหาใหญ่ของธุรกิจเอกชนที่กำลังเผชิญคือสภาพคล่องที่ต้องคุยกับแบงค์หรือเจ้าหนี้ให้ลงตัว

สิ่งที่นายจ้างต้องทำเป็นอันดับต้นๆคือ การปรับเปลี่ยนธุรกิจให้อยู่รอดด้วยการลดต้นทุนเริ่มจากปรับลดพนักงานการจ้างแรงงานใหม่คงมีน้อยมากเฉพาะตำแหน่งเทคนิคหรือเท่าที่จำเป็นจริงๆที่พอมีทุนได้จังหวะปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีก้าวหน้า

ผลข้างเคียงที่ตามมาจะเห็นการเร่งตัวของโครงการสมัครใจลาออกในรูปแบบต่างๆอย่างกรณีของการบินไทยคงเป็นกรณีศึกษาว่าการแก้ปัญหาฟื้นฟูธุรกิจอันดับต้นๆคือเอาคนส่วนเกินออกเพื่อลดต้นทุน

บริบทที่กล่าวมาเพื่อชี้ผู้ที่รับจ้างเป็นมนุษย์เงินเดือนหากโชคดีทำงานอยู่ในรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจขนาดใหญ่ประเภทผูกขาดตัดตอนคงไม่ต้องกังวลอะไรมากมายไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรก็ไม่ตกงานหากกำไรน้อยก็เพิ่มราคาตามใจชอบเพราะแทบไม่มีคู่แข่ง

แต่หากเป็นลูกจ้างอยู่ในธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่จะเห็นจากนี้ไปภูมิทัศน์ตลาดแรงงานและการจ้างงานจะไม่เหมือนเดิม คนตกงานหรือเด็กจบใหม่จะหางานยากมากขึ้นแม้แต่พวกที่มีงานทำอยู่แล้วก็มีความเสี่ยง คงทำงานแบบเช้าชามเย็นชามวันๆ

ดูแต่วันหยุดเอาแต่สนุกเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องทำตัวให้คุ้มค่ากับค่าจ้างที่จะไม่ถูกออกจากงานเพราะคนตกงานรอคิวอีกมาก

ช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตอย่างที่ในอดีตไม่เคยเกิดขึ้นทั้งนายจ้างและลูกจ้างคงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและการทำงานให้สอดคล้องกับวิถีใหม่ของธุรกิจ คงต้องช่วยกันประคับประคองพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด

เพราะหากเรือล่มทั้งนายจ้างและลูกจ้างล้วนต้องจมไปกับเรือเวลาเช่นนี้ต้องช่วยๆกันและต้องสู้ๆนะครับ