ผู้ใหญ่ลีกับข้อเสนอเรื่องความยุติธรรมของอาจารย์โนซิค (ตอนที่สิบ)
โดย...ไชยันต์ ไชยพร
******************
สาเหตุที่ผมหยิบยกทฤษฎีการเมืองของจอห์น รอลส์ (John Rawls) และของโรเบิรต์ โนซิค (Robert Nozick) มาเขียน ก็เพราะทฤษฎีการเมืองทั้งสองนี้มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความรู้เรื่องนโยบายสาธารณะ และในช่วงวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นี้ มีข้อถกเถียงกันมากถึงนโยบายการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐบาล รวมทั้งการถกเถียงกันเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามการเดินทาง ฯลฯ ผมจึงเห็นว่า การหยิบยกกรอบทฤษฎีที่มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะมาเล่าสู่กันฟังน่าจะเป็นประโยชน์และทำให้เกิดความเข้าใจต่อจุดยืนต่างๆ
นอกจากนี้ ที่ว่าทฤษฎีของรอลส์มีอิทธิพลในทางนโยบายสาธารณะ ก็เพราะในหลักสูตรปริญญาโท นโยบายสาธารณะ ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ก็ยังสอนทฤษฎีเหล่านี้ มิพักต้องพูดถึงมหาวิทยาลัยในโลกตะวันตก เมื่อมหาวิทยาลัยปักกิ่งตัดสินใจหยิบยกทฤษฎีการเมืองของรอลส์ไปบรรจุไว้ในหลักสูตร ก็แปลว่า ทางจีนคงต้องเห็นความสำคัญของทฤษฎีดังกล่าว
แต่แน่นอนว่า จีนคงไม่ใช้ทฤษฎีความยุติธรรม (A Theory of Justice) ของรอลส์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะในบ้านเมืองเขา เพราะแม้ว่าจีนจะมีการเลือกตั้ง แต่ก็มีพรรคการเมืองอยู่พรรคเดียว และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองก็จำกัดมาก ส่วนทฤษฎีความยุติธรรมของรอลส์นั้นอยู่บนฐานคิดแบบเสรีประชาธิปไตย
แต่ความคล้ายคลึงกัน “อย่างหยาบๆ” ระหว่างทฤษฎีความยุติธรรมของรอลส์กับระบอบการปกครองของจีนคือ การให้รัฐบาลมีบทบาทอย่างกว้างขวางในการจัดสรรปันทรัพยากรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ แนวคิดหรือทฤษฎีอะไรที่ให้รัฐ (ขอใช้คำว่า รัฐ สลับกับ รัฐบาล---ใช้อย่างไม่เคร่งครัด !) มีบทบาทมากในการดูแลสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของประชาชน เขามีศัพท์เรียกในภาษาอังกฤษว่า “extensive state” ซึ่งหมายถึงรัฐมีขอบเขตอำนาจและความรับผิดชอบมาก และจากการที่รัฐแบบนี้ต้องทำหน้าที่ดูแลเรื่องราวต่างๆมากมาย บางทีก็มีคนเรียกรัฐแบบนี้ว่า “paternalistic state” โดยคำว่า “paternal” นี้จะสื่อถึงความเป็นพ่อ ดังนั้นเราจึงอาจตั้งชื่อ “paternalistic state” นี้ว่า “รัฐป๋า” หรือ “รัฐแบบป๋าๆ” คือรัฐแบบป๋าๆนี้ต้องรับผิดชอบสวัสดิภาพของผู้คนในบ้านเมืองมาก
เวลาพูดถึงรัฐแบบป๋าๆนี้ หลายคนอาจจะนึกถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของศาสตราจารย์ ดร.ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ที่เขียนเกี่ยวกับการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่อง “The Sarit Regime, 1957-1963: the formative years of modern Thai politics,” มหาวิทยาลัยคอร์แนล พ.ศ. 2517 ที่ต่อมามีการนำมาปรับปรุงและตีพิมพ์ในชื่อ “การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ” (“Thailand: The Politics of Despotic Paternalism”) และแปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2526 โดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ และ ม.ร.ว.ประกายทอง สิริสุข
แม้ว่ารัฐบาลในทฤษฎีของจอห์น รอลส์จะมีอำนาจความรับผิดชอบกว้างขวาง แต่ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการ เพราะประชาชนเป็นผู้กำหนดขอบเขตอำนาจความรับผิดชอบของรัฐบาล
แต่โรเบิร์ต โนเซิคไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของรอลส์ที่ให้รัฐบาลมีอำนาจกว้างขวาง พูดง่ายๆคือ เขาไม่ชอบให้ “รัฐกว้างขวาง” (ใครจะแอบนึกถึง “ผู้กว้างขวาง” ก็ไม่ห้าม !) เพราะในทฤษฎีของโนซิค เขาเห็นว่า สังคมจะดีและเที่ยงธรรม จะต้องเป็น “minimal state” คือตรงกันข้ามกับ “extensive state” และรัฐในแบบของโนซิคนี้ นิสิตรุ่นใหม่ๆที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งชื่อว่า “รัฐปุ๊กปิ๊ก” หรือ “รัฐตะมุตะมิ” รัฐตะมุตะมิคืออะไร ? และมันดีกว่ารัฐป๋ายังไง ?
ขอเชิญอ่านข้อเขียนจากท่านผู้อ่านท่านหนึ่ง ที่เคยเขียนบทความส่งมาร่วมสนทนาในคอลัมน์นี้ และคราวนี้ได้กรุณาส่งคำอธิบายรัฐตะมุตะมิมาให้ (ซึ่งเป็นตอนต่อจากที่ผมเขียนค้างไว้ในคราวที่แล้ว)
“รัฐตะมุตะมิของชายปริศนา
หลังจากที่ได้อ่านบทความออนไลน์ ผู้ใหญ่ลีกับชายปริศนาผู้ประเมินอุบายของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่แปด) ผมก็ได้เจอคำถามของอาจารย์ไชยันต์ว่า “...ฟังๆแล้ว รู้สึกยังงงๆและไม่เคลียร์อยู่หลายเรื่องโดยเฉพาะกับข้อเสนอของชายปริศนาที่น่าจะคือกระบอกเสียงของอาจารย์โนซิค ยิ่งในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ด้วยแล้ว จะให้รัฐไม่ทำอะไร และปล่อยให้ผู้คนใช้เสรีภาพในการบริหารจัดการกันเอง..” แถมผมได้อ่านผู้ใหญ่ลีกับชายปริศนาผู้ประเมินอุบายของอาจารย์รอลส์ (ตอนที่เก้า) ก็เห็นมีผู้อ่านบทความออนไลน์ของอาจารย์ไชยันต์ถึงขั้นแคปเจอร์หน้าจอที่ชวนให้เห็นว่าข้อเสนอของอาจารย์โนซิคดูใจร้ายที่ไม่ให้รัฐบาลเข้ามาดูแลคนยากลำบาก แต่ปล่อยให้ผู้คนในสังคมใช้เสรีภาพบริจาคเงินกันเอาเอง
ผมจึงรีบนำความนี้ไปถามชายปริศนาที่บ้านพร้อมๆ กับความอยากรู้มากว่า ในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติอย่างการระบาดโควิด – 19 รัฐบาลจะไม่ช่วยเหลืออะไรประชาชนเลยเหรอ?
เมื่อไปถึงบ้านชายปริศนา ผมก็เอาคำถามของอาจารย์ไชยันต์ให้ชายปริศนาอ่าน พอเขาอ่านจบเขาก็บอกว่า “...ในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ด้วยแล้ว รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงได้ แต่ต้องทำแบบตะมุตะมินะ (ตามภาษาอาจารย์ไชยันต์) รัฐบาลทำได้เพียงป้องกันหรือการสนับสนุนกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมของปัจเจกชนที่แลกเปลี่ยนกันอย่างเสรี หรือมีคนมอบหรือยกให้ด้วยความสมัครใจ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว...”
ชายปริศนาขยายความเรื่องนี้ว่า “...เหตุผลที่รัฐเข้ามาแทรกแซง หรือมีอำนาจแบบตุมุตะมิเป็นเพราะผมเป็นเจ้าของตัวผมเอง ไม่ใช่รัฐบาล ดังนั้นถ้าผมเป็นเจ้าของตัวเองแล้ว ผมก็ต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ผมหามาได้สิ ดังนั้นถ้าหากคนอื่นในหมู่บ้านรวมถึงรัฐบาลบังคับให้ผมต้องบริจาคเงินหรือช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ได้รับความลำบากจากการระบาดของโควิด – 19 คนในหมู่บ้านหรือรัฐบาลก็เป็นเจ้านาย และเป็นเจ้าของตัวของตัวผม และอาจจะเป็นตัวผมด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ เพราะผมเป็นเจ้าของตัวผมเอง! ”
ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของรัฐบาล คือ รัฐมีหน้าที่บังคับใช้สัญญา พิทักษ์ทรัพย์สินส่วนบุคคลจากการโจรกรรม และรักษาสันติสุขของคนในสังคมเท่านั้น ถ้ากระทำการนอกจากนี้ก็ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่รัฐตะมุตะมิแล้ว แต่ขออย่าให้คิดว่าผมเป็นพวกใจร้ายเลยครับ ลองฟังผมก่อน เมื่อเราเป็นเจ้าของตัวของเราเองแล้ว บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลนอกจากการใช้อำนาจปกป้องพิทักษ์แล้ว ผมขอพูดว่า รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่แลกเปลี่ยนกันอย่างเสรี หรือมีคนมอบหรือยกให้ด้วยความสมัครใจ เพียงเท่านี้โลกในอุดมคติ หรือยูโทเปียที่เราสามารถใช้เสรีภาพได้ รัฐบาลมาปกป้องและสนับสนุนการใช้เสรีภาพของเราก็เกิดขึ้นมาแล้ว
เมื่อเร็วนี้ๆ ผมได้ยินข่าวจากกรุงเทพฯ ว่ามีคนทำ “ตู้ปันสุข” แถมเขาจะลองเอามาใช้ในหมู่บ้านผู้ใหญ่ลีอีกด้วย ผมว่า อันนี้แหละใช่เลย ! เพราะในสถานการณ์ที่โควิดระบาด การช่วยเหลือกันควรเป็นเรื่องที่คนสมัครใจ และเมื่อมีการรุมแย่งของในตู้ปันสุข ผมก็เห็นรัฐบาลจะสั่งให้มีคนเฝ้าดูแลตู้ปันสุข และติดกล้อง นี่แหละคือ ขอบเขตอำนาจรัฐแบบตะมุตะมิที่รัฐบาลทำงานแบบตั้งรับ
ทีนี้การทำงานในเชิงรุก หรือทำงานแบบสนับสนุนเสรีภาพของปัจเจกบุคคล คือ รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมประชาชนที่ไม่สามารถดูแลสิทธิเสรีภาพของพวกเขาเองได้ รวมไปถึงการให้ความรู้หรือเป็นที่ปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล หรือจัดแจงให้ปัจเจกบุคคลสามารถใช้แรงงานของพวกเขาในการแสวงหาทรัพย์สินเพื่อเพิ่มพูนคุณภาพชีวิตของพวกเขา เช่น สร้างถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ให้พวกเราแลกเปลี่ยนสินทรัพย์กันได้อย่างเสรี
ในสถานการณ์โควิด–19 ระบาด รัฐบาลสามารถทำงานในเชิงรุกได้ เช่น รัฐบาลก็มีหน้าที่จับตรวจบุคคลที่คาดว่าจะติดเชื้อ และถ้าพบก็สามารถคุมตัวบุคคลเหล่านี้ได้เพราะบุคคลที่ติดเชื้อกระทบต่อสิทธิในการเป็นเจ้าของชีวิตของคนอื่น และในส่วนที่การแพร่ระบาดของโควิด -19 กระทบต่อทรัพย์สินจากมาตรการ Lockdown ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องทำนั้น รัฐบาลก็ควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการด้วยการจ่ายเป็นค่าสินไหมทดแทนให้พวกเรากลับมาประกอบกิจกรรมที่ต้องหยุดชะงักไปให้กลับคืนมาใกล้เคียงสภาพเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมีนโยบายหรือมาตรการที่ทำแทนหรือให้พวกเราทำอะไรเพราะบางครั้งนโยบายบางประการไม่ได้ตอบสนองความเป็นเจ้าของตัวเราและการสร้างทรัพย์สินของเรา
เมื่อผมได้ฟังคำอธิบายจากชายปริศนา ผมรู้สึกคล้อยตามว่า เออ! ข้อเสนอของชายปริศนาก็ไม่ได้ใจร้ายอะไร และแถมผมก็รู้สึกถึงสิทธิเสรีภาพของตนเองที่ใหญ่โตมากขึ้นเพราะรัฐบาลลดการใช้อำนาจของตนเองลง แถมยังสนับสนุนและส่งเสริมการใช้สิทธิเสรีภาพส่วนตัวของผมอีกต่างหาก แถมในช่วงโควิด – 19 ระบาด รัฐบาลยังคงต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดในการปกป้องชีวิต และทรัพย์สินรวมไปถึงส่งเสริมให้สิทธิเสรีภาพของผมใหญ่โตขึ้นอีกด้วย”
ดังนั้น เมื่อใครได้รู้จัก “รัฐกว้างขวาง” ของรอลส์ และ “รัฐตะมุตะมิ” ของโนซิค ก็อาจจะต้องถามตัวเองว่า หากอยากให้รัฐทำอะไรให้เรามากๆ เราก็อาจจะต้องแลกด้วยสิทธิเสรีภาพของเรา เช่น ยอมให้เก็บภาษีของเราเพื่อรัฐจะได้เอาไปลงกับนโยบายสาธารณะที่กว้างขวาง แต่ถ้าหวงแหนสิทธิเสรีภาพของเรามาก รัฐก็ต้อง “ตะมุตะมิ” และเราก็ใช้สิทธิเสรีภาพของเราจัดการกับเรื่องราวต่างๆของเราเองตามความสมัครใจ
ทีนี้ คงต้องมีคนถามต่อแน่นอนว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะได้ทั้งสองอย่าง ? นั่นคือ แบบผสม ที่ให้รัฐช่วยเรามากๆพร้อมๆกับที่เราไม่เสียสิทธิเสรีภาพของเราไปด้วย ?!