posttoday

ปรับครม.เศรษฐกิจอย่าอึมครึม...ต้องมีความชัดเจน

13 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์เศรษฐกิจรอบทิศ

ช่วงนี้ประชาชนให้ความสนใจติดตามสถานะการเศรษฐกิจค่อนข้างมากเห็นได้จากสื่อมวลชนทั้งออนไลน์ออฟไลน์แต่ละวันมีแต่เรื่องเศรษฐกิจ ปลายสัปดาห์ที่แล้วประเด็นเศรษฐกิจเพิ่มความเข้มข้นมีเซอร์ไพรส์ที่ไม่แปลกใจแกนนำทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลรู้จักในชื่อ “สี่กุมาร” โดยสามท่านมีตำแหน่งในกระทรวงสำคัญประกาศไขก็อกลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ที่กล่าวว่าไม่แปลกใจเพราะรู้กันอยู่แล้วว่า การถูกผลักไสออกจากพรรคการเมืองที่กลุ่มนี้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งและสู้บนสนามเลือกตั้งจนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่สุดคงอยู่ด้วยกันไม่ได้ ถอดจากแถลงการณ์และคำสัมภาษณ์เป็นการประกาศยุติภารกิจทางการเมืองใน “พปชร.” แต่ที่ยังคลุมเครือ “จะยังทำหน้าที่ในครม.ต่อไป”

โดยอยู่ภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูเหมือนว่าสื่อต่าง ๆ ตีความไปในทางเป็นการส่งสัญญาณเร่งเร้าให้มีการปรับครม.ชุดใหญ่ในเร็ว ๆ นี้

ประเด็นคือ ภายใต้วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับนานาชาติทำให้เกิดภาวะซ้อนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจอาจลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก “Great Recession” เหมือนเมื่อ 90 ปีที่ผ่านมาก็อาจมีความเป็นไปได้

กรณีประเทศไทยความเสียหายของจีดีพีที่หดตัวอาจทำให้ความมั่งคั่งหายไปประมาณ 1.75 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจจริงอาจเสียหายมากกว่า 4.8 ล้านล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นความเสียหายจากภาคท่องเที่ยว ตามมาด้วยการหดตัวของภาคส่งออกทำให้เม็ดเงินหายไปไม่น้อยกว่า 7.850 แสนล้านบาท

ยังไม่รวมการหดตัวของภาคอุตสาหกรรม ภาคค้าปลีกและเศรษฐกิจฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์ที่ผ่านมาถึงขณะนี้มีการฟื้นตัวได้แค่ 2 ใน 3 ของช่วงปกติ

เศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวในปลายปีนี้คงเป็นการพยากรณ์ที่เลื่อนลอยถึงแม้จะคลายล็อกคุมการแพร่ระบาดของไวรัสได้แต่เศรษฐกิจของไทยอิงอยู่กับเศรษฐกิจของโลกในสัดส่วนที่สูง ภายใต้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ยังปิด-หยุดนิ่งการแพร่ระบาดยังเพิ่มความรุนแรงไม่รู้ว่าจะไปจบตรงไหนเมื่อใด

วันนี้ยังเร็วไปที่จะบอกว่าคลื่นสึนามิทางเศรษฐกิจจะมีผลกระทบอย่างไรที่ผ่านมาเป็นแค่เริ่มต้น ตัวชี้วัดผู้คนที่แห่ไปเที่ยวแน่นถนัดช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมารวมถึงแพ็กเกจไทยเที่ยวไทยอาจทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน 5-6 หมื่นล้านบาทคิดเป็นแค่ร้อยละ 1.77 ของมูลค่า 3.1 ล้านล้านบาทของภาคท่องเที่ยวคงเป็นแค่ต่อลมหายใจให้กับธุรกิจโรงแรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ความท้าทายของทีมเศรษฐกิจ จะเป็นคนเก่าหรือคนใหม่หรือจะเป็นการผสมผสานทำงานร่วมกันคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจซึ่งนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะเลือกเอง

โดยหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเผยชื่อออกมาแล้วต้อง “ไม่ยี้” เป็นบุคคลที่นักธุรกิจและประชาชนยอมรับเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นเป็นคนที่เข้าใจเศรษฐกิจที่เป็น “Real Business” สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาคทั้งการคลังและการเงิน

มาตรการที่ออกมาต้องจับต้องได้จริง ตอบโจทย์ของประชาชนที่ธุรกิจกำลังแย่ เอสเอ็มอีใกล้เจ๊ง คนตกงานจำนวนมากและจะว่างงานเพิ่มมากขึ้น ต้องเป็นมาตรการระยะสั้นเห็นผลเร็วไม่ใช่ขายฝันไปทำโครงการใหญ่เห็นผล 5-10 ปีหรือไปปรับแก้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ที่สำคัญต้องไม่ต้องทำตัวเป็น “ฮีโร่ข้าเก่งคนเดียว” สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับภาคเอกชน-ข้าราชการรวมไปถึงชาวบ้านเกษตรกร สามารถสื่อสารศัพท์แสงง่าย ๆ ให้ประชาชนเข้าใจได้ว่ารัฐบาลกำลังจะทำอะไร จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไรและเมื่อใด ที่สำคัญท่านนายกรัฐมนตรีอย่าไปนั่งเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพราะไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนหรือนักลงทุน

เนื่องจากภาพลักษณ์ของท่านยังเป็นทหารเปลืองตัวเปล่า ๆ ปล่อยให้คนที่เชิญเข้ามาเขาเล่นเอง

คำถามคือเศรษฐกิจวันนี้เป็นโจทย์ยากบวกกับเสถียรภาพการเมืองภายในพรรคร่วมรัฐบาลลุ่ม ๆ ดอน ๆ จะหาคนเก่งเข้ามาคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ การปรับครม.อาจมีความจำเป็นสะท้อนจากผลสำรวจของนิด้าโพลเมื่อต้นเดือนนี้พบว่าประชาชนร้อยละ 43 ระบุว่าควรปรับครม.

ทั้งคณะหากตัวเล่นการเมืองแบบเก่า ๆ ไปไม่รอด หากใช้ทีมเก่านำประเทศดูจากผลลัพธ์ 6-7 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยไม่ไปไหนคนจนเพิ่มมากกว่าเดิมสะท้อนจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การปรับครม.อาจเป็นการ “Re-Brand” หาคนเก่ง ๆ เข้ามาแต่พวกนักวิชาการหรือเทคโนแครตอาจไม่ใช่คำตอบเพราะไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจในช่วงที่ถดถอยแถมไม่มีโมเดลตัวอย่างหรือตำรา

อาจเลือกจากพวกนายแบงก์หรือผู้บริหารสถาบันการเงินที่เก่ง ๆ ดัง ๆ ของไทยมีหลายคนพวกนี้เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจในยามที่ขาดสภาพคล่อง รู้ปัญหาของภาคเอกชน เข้าใจปัญหาทั้งระดับมหภาคและจุลภาครวมถึงการค้า-การขายทั้งในระดับประเทศและการค้าโลก

สำหรับตัวเลือกจากภาคเอกชนเก่ง ๆ ก็มีหลายท่านหากนายกรัฐมตรีไปเชิญด้วยตนเองทำตัวเหมือน “เล่าปี่” ในวรรณกรรมสามก๊กที่แวะเวียนไปเชิญ “ขงเบ้ง” มาเป็นที่ปรึกษาให้อิสระในการทำงานสามารถเลือกทีมเศรษฐกิจของตนเอง โดยนายกฯ ทำตัวเป็นแบ็คคงมีคนดี ๆ และเก่ง ๆ ที่เห็นแก่ชาติบ้านเมือง

การปล่อยให้บรรยากาศอึมครึมจนถึงขั้นที่ทีมเศรษฐกิจระดับแกนนำ “สี่กุมาร” ลาออกจากพรรคการเมืองที่เป็นแกนรัฐบาลแต่ประกาศไม่ออกจากรัฐมนตรีโดยอ้างว่าครม.เป็นเรื่องของนายกฯ ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง

ไม่ทราบว่าจะอยู่กันอย่างไรเนื่องจากภายใต้ระบอบการเมืองที่ใช้อยู่ประชาชนเลือกพรรคและพรรคการเมืองเลือกผู้นำประเทศเป็นการใช้อำนาจของประชาชนผ่านการเลือกตั้งโดยมีพรรคการเมืองเป็นศูนย์กลาง ตรงนี้ไม่ทราบว่าเขียนผิดหรือถูกเพราะตัวเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองแต่เขียนแบบความรู้สึกของชาวบ้านคนหนึ่ง

ความจำเป็นเร่งด่วนในยามที่บ้านเมืองมีวิกฤตเกี่ยวกับปากท้องครั้งใหญ่สุดที่ประชาชน นักธุรกิจ นักลงทุนต้องการความเชื่อมั่น จำเป็นที่ท่านนายกรัฐมนตรีอย่ารีรอทำให้เกิดช่องว่างหากจะไม่ปรับจะใช้คนเดิม ๆ ประกาศออกไปเลยว่า “ไม่ปรับ” จะมีมาตรการใหม่ ๆ อะไรพูดให้ชัดเจน

ถึงแม้ว่าคนเก่าไม่ได้ผิดอะไรแต่พรรคแกนนำที่หนุนนายกฯ เป็นรัฐบาลเขาไม่เอาอย่างนี้เสถียรภาพจะมีได้ไหม หากจะปรับครม.ก็ต้องเร่งปรับ...เวลาอย่างนี้ ชักเข้า-ชักออกไม่ได้นะครับ