ความในใจของนายตำรวจรุ่นใหม่
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
*************************
“อาชีพตำรวจนี้ต้องเป็นเหมือนนักกีฬาทศกรีฑา”
ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายตำรวจหนุ่มๆ หลายคน นายตำรวจเหล่านี้สมัครเข้ามาศึกษาในหลักสูตรหนึ่งของสถาบันพระปกเกล้า หลายคนหน่วยก้านดีมาก การตอบคำถามก็มีทัศนะที่น่าสนใจ บางคนดูแล้วน่าจะเป็น “ตำรวจน้ำดี” ได้ต่อไปในอนาคต แต่บางคนก็น่าวิตกว่าจะเป็นไปเหมือนตำรวจในวังวนเดิมๆ
ตำรวจเกือบ 30 คนที่สมัครเข้ามาในรุ่นนี้ มีตั้งแต่ยศร้อยตำรวจเอกจนถึงพันตำรวจโท นับว่ากำลังเป็น “ดาวรุ่ง” ในวงการตำรวจ ส่วนมากเป็นสารวัตร และมีจำนวนหนึ่งที่กำลังรอเป็นผู้กำกับ เกือบทั้งหมดจบมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีเพียง 3-4 คนที่จบจากมหาวิทยาลัย แล้วสอบเข้าเป็นตำรวจภายหลัง กว่าครึ่งมาจากครอบครัวที่มีพ่อหรือญาติที่เป็นตำรวจ หลายคนในจำนวนนี้มีนามสกุลเป็นที่รู้จักในสังคม แต่กระนั้นก็มีอยู่บ้างที่ต่อสู้แข่งขันมาอย่างปากกัดตีนถีบ และใช้ความสามารถของตนเองล้วนๆ
ร้อยตำรวจเอกคนหนึ่งเป็นสารวัตรอยู่ในจังหวัดทางภาคอีสาน เมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่มาเรียนในหลักสูตรนี้ เขาตอบด้วยเสียงดังฟังชัดว่า อยากพัฒนาตนเอง เพราะเป็นตำรวจบ้านนอก เมื่อมีโอกาสก็อยากจะคว้าไว้ และผู้บังคับบัญชาก็อนุญาต พอตอบมาแค่นี้กรรมการท่านหนึ่งก็พูดขึ้นว่า แน่นอนหละใครๆ ก็อยากพัฒนาตนเอง และผู้สมัครก็ตอบแบบนี้เหมือนกันทุกคน แต่หลักสูตรนี้ต้องการให้ผู้เรียนได้ไปทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม “คุณจะทำอะไรให้กับส่วนรวมในอาชีพของคุณได้บ้าง”
“อาชีพตำรวจหรือครับ” เขาคิดอยู่ครู่หนึ่ง “ก็ต้องพิทักษ์สันติราษฎร์สิ สร้างความสงบสุขให้กับสังคม” (น่าเสียดายที่คดีสั่งไม่ฟ้องทายาทเครื่องดื่มชูกำลังมาเป็นข่าวขึ้นภายหลัง ไม่งั้นคงจะได้มีการถามว่า นี่หรือพิทักษ์สันติราษฎร์) กรรมการถามต่อไปว่าจะพิทักษ์สันติราษฎร์อย่างไร นายตำรวจผู้นี้คิดอยู่ค่อนข้างนานก่อนจะตอบว่า ก็บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียม ให้ทุกคนได้รับความยุติธรรม ประชาชนพอใจในบริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรามีโครงการ “โรงพักของประชาชน” ให้ตำรวจเป็นที่รักของชาวบ้าน
นายตำรวจอีกคนหนึ่งยศพันตำรวจตรี มีนามสกุลเป็นลูกท่านหลานเธอ วันที่มาสัมภาษณ์หน้าตาเขาไม่ค่อยดีเลย เหมือนถูกใครบังคับให้มาสมัครเข้าเรียน ด้วยคำถามเดียวกันว่าอยากทำอะไรเพื่อส่วนรวม เขาตอบว่า ตระกูลของเขาทำอะไรให้บ้านเมืองมาหลายอย่างแล้ว แต่เขาคิดว่าคนเหล่านั้นทำเพื่อชื่อเสียงและสร้างบารมีให้แก่คนเหล่านั้นเองมากกว่า เขาบอกว่าตระกูลของเขาบางคนก็เป็นตำรวจ แต่วงการตำรวจทุกวันนี้ก็ยังถูกด่า ถูกสังคมตำหนิ ตำรวจบางคนก็จึง “ตามน้ำ” คือไหนๆ ก็ถูกด่าแล้ว ก็ร่วมเป็นคนชั่วไปเสียเลย
เขาบอกว่างานตำรวจเป็นงานบริการประชาชน ตำรวจต้องมีความอดทนต่อการตำหนิติเตียน เพราะนั่นคือเป้าหมายของผู้รับบริการ ซึ่งก็คือประชาชนที่เขาอยากเห็นการบริการที่ดีที่สุด เหมือนบ๋อยในโรงแรมห้าดาว แม้จะถูกลูกค้าบ่นว่าอาหารที่สั่งได้ช้า ดูไม่น่ากิน ก็ต้องน้อมรับคำติชมนั้นด้วยความนอบน้อม ตำรวจที่รับฟังและบริการประชาชนอย่างดีที่สุด ด้วยความอดทน ทั้งต่อคำด่าเหล่านั้นและลาภยศที่เย้ายวน จึงจะถือว่าเป็นตำรวจอาชีพ
“ผมว่าชาวบ้านด่าผม ยังไม่แรงเท่าที่พ่อแม่ด่าเรานะ เราทนพ่อแม่ได้ ก็ต้องทนต่อประชาชนให้ได้” เขาหายใจขึ้นมาแรงๆ ครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะพูดต่อไปว่า “ทำคดีต่างๆ ให้เสร็จโดยเร็วคือหน้าที่ของผม ผมเป็นเจ้าหน้าที่สอบสวน จะกำหนดเลยว่าคดีนี้ควรจะเสร็จเมื่อไหร่ จะไม่ดึงคดีเพื่อให้ให้ใครมาจ่ายค่าน้ำมันหล่อลื่น และจะไม่เป่าคดีเพื่อแลกกับเงินในกล่องของขวัญ ส่งอาชญากรขึ้นศาลได้เร็วเท่าไหร่ ความสงบสุขในสังคมก็มีเพิ่มขึ้นเมื่อนั้น” ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยประโยคที่ว่า “ความล่าช้าคือความอยุติธรรมมิใช่หรือ”
ผู้สมัครอีกคนหนึ่งเป็นถึงรองผู้กำกับ ที่มาแนวแปลกก็คือ “เปิดโปง” พวกเดียวกันอย่างโล่งโจ้ง เขาบอกว่าเขาเคยอยู่ในท้องที่หนึ่งที่เป็นย่านคนรวย ที่โรงพักนั้นต้องแบ่งกำลังตำรวจเป็น3 ส่วน กำลังส่วนแรกคอยดูแลคดีของพวกลูกท่านหลานเธอและ “บ้านเจ้านาย” เหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่ดูแลแต่เมื่อมีคดีเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่ต้องมีนายตำรวจคอยแวะหมั่นไปเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์ของเจ้านายเหล่านั้นด้วย (ผู้เขียนตีความว่าเจ้านายเหล่านั้นน่าจะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จนถึงนักการเมือง ที่สามารถ “ให้คุณให้โทษ” กับนายตำรวจทั้งหลายได้) กำลังส่วนที่สองไว้ดูแลคดีของชาวบ้านทั่วไป โดยออกไปตรวจตราและสืบสวนคดีในท้องที่ รวมทั้งดูแลงานด้านจราจรและสารธารณภัยต่างๆ สุดท้ายกำลังส่วนที่สามต้องอยู่ประจำที่โรงพักหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้าเวร รับแจ้งความ และทำงานเอกสารต่างๆ
เมื่อถูกถามว่า “เป็นตำรวจนี้มีปัญหาอะไรที่คิดว่าร้ายแรงที่สุด” เขาตอบออกมาทันทีทันใดเลยว่า “ปัญหาการวิ่งเต้น แข่งขัน แย่งชิงตำแหน่งกัน อาชีพตำรวจนี้ต้องเป็นเหมือนนักกีฬาทศกรีฑา” (ทศกรีฑาคือการแข่งขันกีฬา 10 ประเภท ทั้งประเภทลู่และลาน ซึ่งนักกีฬาต้องใช้ความสามารถ ความแข็งแกร่ง และความเข้มแข็งอดทนเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้รางวัลเพียงเหรียญเดียว) ถ้าเราหยุดวิ่ง(หมายถึงวิ่งเต้น)และห่างเหินจากผู้ใหญ่เมื่อใด เมื่อนั้นก็คือจุดจบของเรา
ตอนสมัยที่ผู้เขียนทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีนายตำรวจมาวิ่งเต้นขอให้ท่านช่วยในการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่เป็นประจำ บางคนที่ได้อย่างที่ขอก็กลับมาขอบคุณ บางคนที่ไม่ได้ก็มาร้องห่มร้องไห้ขอให้ท่านช่วยอีก มีคนหนึ่งมาคร่ำครวญว่า ถ้าไม่ได้เป็นสารวัตรในคราวนี้เขาคงต้องตายแน่ เพราะต้องอับอายรุ่นน้องที่มันข้ามหัวเขาไปแล้วหลายคน ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นตำรวจคนนั้นฟูมฟายนัก ก็เลยอยากผ่อนคลายให้หายเครียด จึงพูดออกไปว่า “เออ ถ้าตายนี่พอช่วยได้ จะเอาเชือก เอาปืน หรือยาพิษดีล่ะ” นายตำรวจคนนั้นหยุดร้องไห้แล้วรีบกราบลาไปในทันทีโดยไม่ได้กลับมาขอให้ท่านช่วยอีก
ตำรวจรุ่นใหม่ก็ยังคงอยู่ในวังวนเดิมๆ แบบ “ไทยๆ” นั่นแล
*******************