ผู้หญิงกับการเมือง...กลไกการเมืองที่ต้องขยายและเปิดให้กว้างขึ้น
โดย ดวงหทัย บูรณเจริญกิจ
***************************
แม้ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้หญิงในสถาบันการเมืองระดับชาติไม่เคยถึง 30 เปอร์เซ็นต์นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าความตื่นตัวทางการเมืองของผู้หญิงในสังคมไทยจะน้อยไปด้วย ในทางกลับกันพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชน เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการจัดการปัญหาในชุมชนและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม เช่นกรณีป่าไม้ ที่ดิน และปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ
นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อใช้สิทธิพลเมืองในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอันจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ ความมั่นคงในชีวิตและอนาคตของตนและชุมชน เช่น กรณีผู้หญิงในขบวนการสันติภาพชายแดนใต้และผู้หญิงในขบวนการเมืองระลอกใหม่ที่เริ่มปะทุในราวปี พ.ศ. 2547
จะเห็นได้ว่า ในบางขบวนการการเมืองภาคประชาชนมีผู้หญิงเข้าร่วมมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และประเด็นการเรียกร้องของผู้หญิงก็มีพัฒนาการตั้งแต่ การเรียกร้องเพื่อแก้ปัญหาเป็นรายประเด็น การมีส่วนร่วมของรัฐ จนถึงปี พ.ศ. 2563 มีการชูประเด็นความเป็นธรรมทางเพศบนฐานคิดเฟมินิสต์ ซึ่งมีทั้งเรื่องสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศ การขจัดความรุนแรงทางเพศ รวมถึงการแก้กฎหมายและการจัดสวัสดิการรัฐที่ต้องคำนึงถึงความจำเป็นที่แต่ละเพศควรได้รับความเอาใจใส่ ควบคู่ไปกับการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
สะท้อนให้เห็นว่า ความเข้าใจต่อคุณค่าและแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยของสังคมมีพัฒนาการที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ไม่ได้มองว่าประเด็นเพศสภาพนั้นแยกต่างหากจากประชาธิปไตย เพราะหากไม่สามารถเปลี่ยนฐานคิดปิตาธิปไตยที่แบ่งแยกบทบาทชายหญิงในพื้นที่การเมืองไม่ว่าจะเรียกร้องประเด็นใดโดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทางการเมืองผู้หญิงก็ไม่สามารถเข้าไปสู่ตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะผู้ชายยังผูกขาดพื้นที่ทางการเมือง โดยเฉพาะในระดับตัดสินใจอยู่ทั้งในระบบพรรคการเมืองและระบบรัฐสภา
ด้วยข้อจำกัดนี้ การให้ความหมายกับเสียงที่มีเฉพาะในสภาหรือพื้นที่ทางการเมืองที่เป็นทางการเท่านั้น จึงไม่เพียงพอที่จะทำให้ข้อเรียกร้องหรือปัญหาที่ผู้หญิงกลุ่มต่างๆ ในสังคมเผชิญอยู่มาอย่างยาวนานจะได้รับการแก้ไข ในโอกาสวันสตรีสากลปีนี้ จึงอยากเสนอให้เราได้ทบทวน กลไกรัฐที่ยังคงมีช่องโหว่ ที่ทำให้เสียงของผู้หญิงกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองถูกละเลย และกลไกที่มีอยู่ก็ไม่สามารถตอบสนองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้
ข้อเสนอเรื่องการเพิ่มจำนวนผู้หญิงในการเมืองนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ แต่อีกด้านหนึ่งที่ควรพิจารณาทำร่วมกันไปคือ “การสร้างกลไกทางการ” เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของผู้หญิงให้กว้างขึ้น เพื่อให้ข้อเสนอของผู้หญิงที่เกี่ยวกับการปรับปรุงนโยบาย กฎหมาย หรือแนวปฏิบัติของหน่วยงานรัฐให้เอื้อต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติและการกดทับทางเพศได้รับความใส่ใจและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
กลไกทางการที่อาจเป็นไปได้ กลไกแรก คือกลไกรัฐสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรจะต้องใส่ใจและผลักดันประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้หญิงในการเมืองภาคประชาชนเข้าสู่รัฐสภา เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางกฎหมายและนโยบาย อีกกลไกหนึ่งที่จะทำหน้าที่ในการหยิบยกประเด็นและข้อเรียกร้องของผู้หญิงเพื่อกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับไปดำเนินการแก้ไขได้คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้เป้าหมายของการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะการขจัดความรุนแรงทางเพศ และการกำหนดนโยบายของรัฐที่มีมิติทางเพศสภาพได้รับการใส่ใจอย่างเป็นรูปธรรม