ประชาธิปไตยแบบทหารพม่า

11 มีนาคม 2564

โดย...ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์

*****************

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ใครไม่พูดหรือไม่เขียนถึงสถานการณ์ในเมียนมาร์ หรือที่คนไทยเรียกกันว่าพม่า ดูค่อนข้างจะเชย หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านไปซึ่งพรรคทหารได้รับเลือกไม่มากพอที่จะคุมเสียงข้างมาก ผู้นำกองทัพก็ “ล้มกระดาน” เอาดื้อ ๆ โดยอ้างว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก และสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ในเร็ววัน ท่ามกลางเสียงเอะอะโวยวายคัดค้านอย่างกว้างขวางไม่เพียงจากคนพม่าเท่านั้น แต่จากประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะประเทศตะวันตก นำโดยสหรัฐ อังกฤษ สหภาพยุโรป

การเมืองเรื่องเลือกตั้งในพม่านั้น จะให้เลือกกี่ครั้ง พรรค เอ็น.แอล.ดี.พี.นำโดยนางอองซานซูจี ก็ชนะอยู่ดี และชนะท่วมท้นด้วย ส่วน “พรรคเพื่อความเป็นปึกแผ่นแห่งสหภาพและการพัฒนา “ หรือ ยู.เอส.ดี.พี. ซึ่งรู้กันว่าเป็นพรรคของทหารนั้น จะใช้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการหาเสียงอย่างไรก็ตาม มักแพ้พรรค เอ็น.แอล.ด๊.พี. เสมอมา หากมีการเลือกตั้งอีก พรรคของนางอองซานซูจีก็จะชนะอีก แต่ทหารก็บริหารประเทศอีก

การเมืองในพม่าก่อนถูกล้มกระดานครั้งนี้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2551 ซึ่งดูดีเพราะมีตัวแทนของพรรคการเมืองและกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ มาร่วมกันร่าง เพื่อให้ดูว่าเป็นรัฐธรรมนูญของคนทุกชาติพันธ์ในประเทศ อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันว่า ทหารได้ใช้กลเม็ดทุกรูปแบบคุมการร่างนี้ และใส่ “แต้มต่อ” ไว้หลายแห่งเพื่อเป็นหลักประกันว่าทหารจะมีบทบาทนำในการบริหารประเทศ

รัฐธรรมนูญกำหนดคุณสมบัติของประธานาธิบดีซึ่งต้องห้ามเฉพาะอองซานซูจีโดยตรง สรุปวา ทหารเท่านั้นต้องเป็นประธานาธิบดี และเพื่อไม่ให้ดูน่าเกลียดเกินไป จึงตั้งนางอองซานซูจี เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดี หากประธานาธิบดีไม่มีเรื่องต้องขอคำปรึกษา นางก็อยู่เฉย ๆ หรือทำในสิ่งที่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นทหารสั่งให้ทำเท่านั้น

ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 นักการเมืองจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหนก็ได้ ยกเว้น 3 กระทรวงที่รัฐมนตรีต้องเป็นทหาร คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกิจการชายแดน ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีจำนวน 440 คน มาจากการเลือกตั้ง 330 คน มาจากการเลือกตั้งของกองทัพ 110 คน วุฒิสภามีสมาชิก 224 คน มาจากการเลือกตั้ง 168 คน และจากการคัดเลือกของกองทัพ 56 คน

ไม่ใช่แค่คุมการเมืองและการบริหารระดับชาติเท่านั้น ทหารพม่าคุมไปถึงการเมืองในระดับรัฐและกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ด้วย ทั้งในระดับนิติบัญญัติ บริหาร ของรัฐเหล่านั้น นอกจากนั้น สภาท้องถิ่นประจำรัฐต่าง ๆ ต้องมีผู้แทนที่ได้รับแต่งตั้งมาจากกองทัพ 1 ใน 4 เรียกว่าเป็นการคุมแบบเบ็ดเสร็จ

เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญดูศักดิ์สิทธิ์และเป็นของประชาชน ทหารพม่าได้จัดให้ทำประชามติ ผลที่ปรากฏคือ ประชาชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละร้อยเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะฉะนั้น ทหารพม่าจึงอ้างได้ว่า ปฏับัติตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน

ภาพข่าวที่เผยแพร่ในขณะนี้จะเห็นว่า ชาวพม่าตามเมืองใหญ่ ๆ ออกมาชุมนุมเดินขบวนกันอย่างกว้างขวาง คัดค้านการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร โดยไม่ต้องลงทุนอะไร ใครมีหม้อโถโอชามสังกะสีอยู่ในครัวก็เอาออกมาเคาะ มาตีให้เกิดเสียงดัง ตีเสร็จก็เอากลับไปใช้ได้อย่างเก่า เลียนแบบม็อบไทยและอ่องงโดยชูสามนิ้วซึ่งก็ไม่ต้องลงทุนอีกเหมือนกัน และเขียนข้อความใส่ในกระดาษขาวแล้วถ่ายภาพแชร์ผ่านโทรศัพท์มือถือไปทั่วโลก สาวๆพม่าที่คลั่งแฟชั่นฉวยโอกาสใส่กางเกงขาสั้นเสื้อลอยเอวโพสต์ท่าแชร์กันไปทั่ว ดูแล้วก็น่ารักไปอีกแบบ

ทุกครั้งเคยเห็นพระพม่าถลกจีวรออกนำหน้าม็อบตีกับทหาร แต่คราวนี้ ยังไม่เห็นพระออกมาตีกับทหารพม่าเหมือนครั้งก่อน ๆ หรือมีแล้วแต่เราไม่เห็น

ดูจากภาพข่าวเห็นม็อบพม่าออกมามากมายตามเมืองต่าง ๆ แต่ม็อบพม่าน่ารักมากเมื่อเทียบกับม็อบเมืองไทย ทหารตำรวจขีดเส้นไว้ตรงไหน ม็อบก็ไม่ข้ามเส้นมา เราไม่เห็นม็อบพม่าขว้างสิ่งของใส่ตำรวจ ไม่มีข่าวว่าม็อบพม่าเตรียมระเบิดปิงปอง หนังสติ๊ก หัวน็อต เหล็ก กระบองไว้ตีกับตำรวจ หรือแย่งชิงตัวผู้ต้องหา หรือเอาสีละเลงบนกำแพงและบนถนน หรือพ่นสีใส่รถตำรวจเหมือนม็อบไทย ถ้าม็อบพม่าทำแบบม็อบไทย ป่านนี้คงถูกตำรวจพม่ายิงตายไปมากกว่านี้ก็ได้ ( เพื่อนบางคนเปรยว่า ตำรวจพม่าน่าจะมาอยู่เมืองไทย และส่งตำรวจไทยไปอยู่พม่าแทน )

ม็อบแรงงานพม่าที่มาชุมนุมประท้วงหน้าอาคารสำนักงานสหประชาชาติที่เชิงสะพานมัฆวาน ก็ดูเรียบร้อยดี รวมตัวกันบนทางเท้า ไม่มาเดินเกะกะบนถนน ไม่ตะโกนโห่ร้องหยาบคายและแสดงพฤตกรรมถ่อยเถื่อนแบบม็อบไทย ชุมนุมเสร็จก็แยกย้ายกันกลับไป

คนไทยและชาวโลกตกใจที่เห็นทหาร ตำรวจ พม่ายิงใส่ม็อบที่ชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิตไปหลายคน

ใครที่คิดว่า รัฐบาลย่างกุ้งจะอยู่ไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับฝูงชนนั้น เลิกคิดได้ เพราะม็อบพม่า ตำรวจพม่า ไม่ใช่แบบม็อบไทย ตำรวจไทย และรัฐบาลไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ทหารพม่าดุและเอาจริง ใครไม่รู้จักทหารพม่าก็อย่าทำเป็นเล่นไป หลายคนคงจำได้เมื่อนักศึกษา คนหนุ่มสาวชาวพม่าลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าเมื่อวันที่ 8สิงหาคม 1988 จนเป็นที่รู้จักกันในนาม “เหตุการณ์ 8-8-88” ที่นักศึกษาลุกฮือทั่วประเทศขึ้นมาสู้กับ่ทหารพม่า และโดนทหารพม่ายิงตายบาดเจ็บมากมาย จนนักศึกษาพม่าที่ว่าแน่ๆ ต้องหนีกระเจิดกระเจิงไปอยู่ในอินเดีย ไทย ซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับพม่า และเข็ดเขี้ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นไปอีกนาน ครั้งนี้ นักศึกษาคนหนุ่มสาวพม่าบางกลุ่มพูดถึงการลุกฮือขึ้นต่อต้านทหารพม่าแบบเหตุการณ์ 8-8-88 เราก็หวังว่า คงไม่มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีกทั้งสองฝ่าย

ความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาเป็นการต่อสู้ระหว่างคนพม่ากับทหารพม่าเป็นสำคัญ ดังนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่จะศึกษาวิธีคิดของคนพม่า ทหารพม่า กับ ความมั่นคงของประเทศ

พม่าหรือเมียนมาร์มีประชากร 55.12 ล้านคน จากการสำรวจเมื่อปี 2560 ประชากรมี 135 ชาติพันธ์ โดยเป็นคนพม่าร้อยละ 68 ไทยใหญ่ร้อยละ 9 กะเหรี่ยงร้อยละ 7 ยะไข่ ร้อยละ 4 จีนร้อยละ 3 อินเดียร้อยละ 2 เท่ากับมอญ อื่น ๆ อีกร้อยละ 5 นับถือศาสนาพุทธนิกาย เถรวาทร้อยละ 87.9

คนพม่าถือว่าตนเป็น “เผ่าพันธุ์อารยะ” ที่มี “ความเหนือกว่า” ชาติพันธุ์อื่น ดังนั้น คนพม่าต้องปกครองประเทศด้วยเหตุผลของความเป็นอารยะชน และเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ขณะที่ทหารพม่าก็คิดว่า ”ทหาร” เท่านั้นที่จะปกครองประเทศให้สงบเรียบร้อยได้

คนพม่าเป็นคนประเภท “หักด้ามพร้าด้วยเข่า” ทหารพม่าก็เช่นกัน เคยบุกเข้าไปกราดยิงนักการเมืองซึ่งรวมถึงพ่อของอองซานซูจี ขณะกำลังประชุม จนตายกันหมดหรือแทบหมด ทหารพม่าได้ถ่ายทอดแนวคิดกันจากรุ่นสู่รุ่นว่า ทหารเท่านั้นที่ต้องปกครองประเทศนี้ ซึ่งมี 135 ข่าติพันธ์ ทหารพม่ายึดมั่นในความเป็นหนึ่งเดียวและปึกแผ่นของประเทศ และไม่ยอมให้ชาติพันธ์ต่าง ๆ แยกออกไป ดังนั้น “ สัญญาปางหลวง ปี 2491” ที่นักการเมืองทำขึ้นกับกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ ที่นักการเมืองสัญญาจะให้กลุ่มเหล่านั้นเป็นเอกราช จึงถูกทหารฉีกไปเรียบร้อย หรือหากจะทำความตกลงกันใหม่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทหารกำหนด

คนพม่าซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ทรัพยากรธรรมชาติสำคัญ โดยเฉพาะแร่ธาตุที่มีราคาอยู่ในพื้นทีของชนกลุ่มน้อย ความร่ำรวยของพม่านอกจากข้าวแล้ว ยังมีสินแร่สำคัญ ดังนั้น ผู้นำทหารพม่าจะปล่อยให้ชนกลุ่มน้อยเป็นเอกราชไม่ได้ พม่าได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายที่รอการถูกนำมาใช้ประโยชน์ และเป็นที่หมายตาของนักลงทุนต่างชาติ

สิ่งที่ทหารพม่าต้องการ คือ เสถียรภาพและความมั่นคงภายในประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนา และมองว่า ผู้ที่จะสร้างและรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศได้ก็มีแต่ทหารเท่านั้น

ที่ผ่านมา สหรัฐ อังกฤษและประเทศตะวันตกกดดันทหารพม่ามาโดยตลอดเพื่อให้พม่ามีประชาธิปไตยแบบตะวันตก มีทั้งการอายัดทรัพย์รัฐบาลพม่าในต่างประเทศ ระงับความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ฯลฯ สายลับอเมริกันและอังกฤษมาวุ่นวายเดินกระทบไหล่กันอยู่แถวเชียงใหม่ เชียงราย ยุแหย่ สนับสนุนกบฏชนกลุ่มน้อยให้ก่อกวนในพม่า ฯลฯ แต่พม่าก็ทนแรงกดดันทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ การก่อการร้าย มาได้ เพราะพม่าพึ่งตนเองเป็นสำคัญ ตรงกันข้าม ประเทศต่างๆ กลับสนใจเข้าไปลงทุนในพม่าที่ยัง “บริสุทธิ์” มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายที่รอการสำรวจและใช้ประโยชน์

ชาติตะวันตกหวังจะใช้อาเซียนกดดันพม่าก็ไม่ได้ เพราะอาเซียนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้เพราะหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน”

แม้ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐในฐานะ “ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย” ต้องแสดงออกท่าทีคัดค้านคณะผู้นำทหารพม่าที่ล้มกระดาน แต่ฝ่ายตะวันตกก็มีทีท่ากล้าๆกลัว ๆ ไม่ใช่กลัวพม่า แต่กลัวจะผลักพม่าใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น อีกทั้งจีนมีผลประโยชน์ในพม่าอยู่มากโดยเฉพาะพม่าเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสู่จีนภาคตะวันตก และเป็นทางออกของจีนสู่มหาสมุทรอินเดียและสู่แหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง

กดดันพม่าเรื่องประชาธิปไตยไม่พอ ยังแว้งมาเล่นงานไทยในประเด็นมาตรา 112 เป็นเสียแบบนี้ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคนถึงมีเพื่อนน้อยลงทุกที ( จบ )

Thailand Web Stat